ข้าวไม่ขาดแคลน แต่แพงขึ้น สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงฯ เผย ภัยแล้งทำราคาสูงขึ้น 20-30%

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด โดยเฉพาะราคาข้าวสารในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20-30% เนื่องจากภัยแล้ง และความต้องการที่สูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

Thai Rice ข้าวไทย
ภาพจาก Shutterstock

สมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า ข้าวสารซึ่งเป็นวัตถุดิบของข้าวสารบรรจุถุง มีการปรับราคาไปอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่มีราคา 12.50 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าราคาข้าวสารจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน หรือจนกว่าจะมีการเก็บเกี่ยวข้าวล็อตใหม่เข้าสู่ตลาด สาเหตุหลักเกิดจากภัยแล้งในประเทศที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี

จากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จึงลดลง 1.5-2 ล้านตัน ทำให้ราคาข้าวสารบรรจุถุงเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา โดยข้าวสารธรรมดาบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัมมีราคา 70-120 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัมมีราคา 160-250 บาท

ภาพจาก Shutterstock

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดการกักตุนสินค้า ทำให้ข้าวสารบรรจุถุงที่วางขายในห้างสรรพสินค้าหมด แต่ยืนยันว่าจะไม่เกิดการขาดแคลนข้าวสารในประเทศไทยแน่นอน การขาดแคลนดังกล่าวเป็นเพียงการขาดแคลนระยะสั้น เนื่องจากสต็อกสินค้าที่มีน้อย และในปีนี้คาดการณ์ว่าปริมาณการบริโภคข้าวสารในประเทศจะลดลง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศน้อย

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในขณะนี้มีคำสั่งซื้อข้าวสารคุณภาพดีจากหลายๆ ประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เนื่องจากความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ราคาข้าวขาว 5% เพิ่มสูงขึ้นจาก 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 13,214 บาท เป็น 480 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 15,862 บาท ซึ่งในปีนี้คาดการณ์ว่าไทยจะส่งออกข้าวสารเป็นจำนวน 7.5 ล้านตัน

ที่มา – Bangkok post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา