How to รักษาใจยังไงให้ไม่ panic ในวันที่โควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลก

COVID-19 ระบาดหนักจนโลกสั่นสะเทือน ขณะนี้มีคนติดเชื้อรวม 219,427 ราย เสียชีวิต 8,946 ราย รักษาหาย 84,153 ราย สำหรับไทยติดเชื้อรวม 272 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหาย 42 ราย

ตัวเลขระบาดหนักขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากเราจะกังวล เพราะโรคระบาดโควิด-19 นี้คนที่ติดช่วงแรกๆ มักไม่แสดงอาการ แพร่เชื้อได้ง่าย และยังสามารถทิ้งร่องรอยของโรคผ่านสารคัดหลั่งไว้ตามวัสดุพื้นผิวต่างๆ ให้คนสัมผัสต่อสามารถติดโรคได้ด้วย

ความวิตก กังวลใจที่สั่งสมทุกวันจนตระหนก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้

ประเด็นนี้ Rosie Weatherley โฆษกด้านสุขภาพจิต (spokesperson for mental health charity Mind) กล่าวไว้ว่า ความกังวลใจทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา มันมีรากมาจากความไม่รู้ หรือการเฝ้ารอบางสิ่งบางอย่างให้มันเกิดขึ้น จนกลายเป็นความกังวลใจ

วิธีลดความกังวลใจทำได้หลายทาง เริ่มตั้งแต่จำกัดการรับข้อมูลข่าวสาร การอ่านข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 มากเกินไป หรือการมีข้อมูลที่ล้นเกินมันทำให้เกิดความกังวลใจได้ เราสามารถเสียการควบคุมตัวเองได้ เมื่อเราเสพข่าวมากเกินไปจนเกิดความปั่นป่วนทางจิตใจ มันมีข่าวมากมายที่เป็นข่าวหลอก เราต้องเรียนรู้ที่จะคัดแยกว่าแหล่งข่าวแบบไหนเชื่อถือได้

ภาพจาก Pixabay

พักยกจากการเสพข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ปิดช่องทางการรับข้อมูลบ้างก็ได้ Alison วัย 24 ปีจากเมืองแมนเชสเตอร์ระบุว่า เธอตามอ่านข่าวในโซเฃียลมีเดีย ตามอ่านทุก # บนโลกออนไลน์ เธอตามเก็บทุกประเด็น หลังๆ เธอจึงเลิกอ่านเนื้อหาที่ติด # ที่เกี่ยวกับไวรัสเสีย เพราะมันทำให้เธอเครียดหนักและรู้สึกหมดหวัง เธอพยายามเลี่ยงการใช้งานโซเชียล มีเดีย หันมาดูทีวีและอ่านหนังสือแทน

ฟ้าใส (นามสมมติ) วัย 26 ปี ทำงานเป็นนักออกแบบภายในบ้าน

เธอให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า เธอกังวล เพราะมันเป็นกันทั่วโลก และไทยไม่ได้เป็นโรคนี้ก่อนประเทศแรก ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นเยอะมาก การจัดการของประเทศเราแย่มาก ไม่ได้มีมาตรการที่ดีหรือป้องกันอะไรให้รู้สึกว่าปลอดภัยได้เลย หละหลวมมาก ทำเหมือนว่าโรคนี้มันแก้ได้แค่ปลายนิ้ว ดีดทีเดียวจบ ไม่เชื่อการประกาศหรือพูดอะไรลอยๆ ของรัฐบาลเลย ลงมือทำให้เห็นจริงดีที่สุด และต้องซีเรียสมากกว่านี้ ทำแต่ละอย่าง ค่อนข้างไร้ประสิทธิภาพมาก ควรปิดประเทศได้แล้ว

สิ่งที่ทำให้คลายกังวล คือ ยอมรับความจริง เสพข่าวและติดตามสถานการณ์อย่างมีสติ และไม่หมกมุ่นกับมันมากแต่ไม่ละเลย ดูแลตัวเอง มีของใช้ที่สามารถป้องกันได้พกติดตัว ไม่จำเป็นไม่ออกจากบ้านกักตุนของที่จำเป็นพอ เพราะไม่ใช่น้ำท่วม และทำงาน คุยออนไลน์กับที่ทำงานกับเพื่อนๆ ครอบครัวบ้าง ดูซีรี่ย์ การ์ตูน ฟังเพลง

Bangkok Face Masks COVID-19
ภาพจาก Shutterstock

จูเนียร์ (นามสมมติ) วัย 24 ปี ชายหนุ่มวัยแรกรุ่น ทำงานเป็นเซลส์ขายของแถวสีลม

ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่ากังวล เพราะโรคระบาด ไม่ใช่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง มันเกิดขึ้นกับใครก็ได้ จะเกิดขึ้นกับเราตอนไหนก็ได้ หากไม่ระมัดระวังตัวดีพอ สิ่งที่จะให้คลายกังวลได้คือ เชื่อในนักวิทยาศาสตร์ให้มากๆ เขาบอกอะไร เตือนอะไร ฟัง แล้วปฏิบัติ เขาบอกให้กักตัว ก็ทำ อย่าฝืน เพราะหนทางเดียวที่จะสู้กับโรคระบาดได้คือ สติ

นอกจากนี้ เรายังสัมภาษณ์คนที่เคยกักกันโรคมาแล้ว 14 วันหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ เธอใช้ชีวิตยังไง?

ถอดบทเรียนคนที่เคยกักกันโรค ดูแลตัวเองยังไงในวันที่ต้องอยู่คนเดียวลำพัง

นางสาว เอ (นามสมมติ) วัย 30 เศษๆ ทำงานด้านไอที ผู้เคยมีประสบการณ์กักกันตัวเองเป็นเวลา 14 วันให้ความเห็นเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 ดังนี้

เธอบอกว่า ข่าวสารโควิด-19 ช่วงนี้ ทำให้รู้สึกเบื่อ เพราะยังไม่รู้อะไรเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าประเทศไทยเข้าสู่เฟส 3 แล้วจะทำยังไงต่อ ส่วนเรื่องความกังวลนั้น เธอบอกว่า เธอเชื่อว่าคนน่าจะติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ตัวเลขการติดเชื้ออาจพุ่งถึงแสนรายได้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเยอะๆ แล้ว อาจนำไปสู่การทำให้กราฟดิ่งลงได้ เพราะผู้ติดเชื้อกำลังได้รับการรักษาอยู่ เรารู้ว่ามีคนติดเชื้อมากเท่าไร รักษาแค่ไหน ดีกว่าตัวเลขน้อยเพราะไม่รู้ว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนเท่าไร

ภาพจาก Pixabay

ส่วนสิ่งที่ทำให้เธอหายกังวลนั้น เธอบอกว่า คงเป็นเพราะแพทย์มีความพร้อมในการรับมือกับโควิด-19 หรือแพทย์มีจำนวนเยอะที่จะรองรับการรักษาจากคนไข้ได้มากพอ

นางสาว เอ (นามสมมติ) มีประสบการณ์กักกันโรคเป็นเวลา 14 วัน หลังกลับมาจากนิวยอร์ก เธอกักกันตัวเองในห้องนอนเป็นเวลา 14 วัน โดยเธอเริ่มจากการสื่อสารกับที่บ้านตั้งแต่ก่อนบินกลับว่า ถ้ากลับมาแล้ว เธอจำเป็นต้องกักกันตัวเองอยู่ลำพังคนเดียวในห้องพัก ทำงานในห้องพัก เวลาทานข้าวก็ลงมาทานข้าวลำพังคนเดียว และพยายามไม่อยู่ใกล้ชิดกับบุคคลในครอบครัวในระยะใกล้เกิน 1 เมตร ใส่หน้ากากที่ทำจากผ้าเสมอ (เพราะหาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้) เมื่อต้องพบเจอคนในครอบครัว ส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตอยู่ในห้อง

กิจกรรมที่ทำขณะกักกันโรคเป็นระยะเวลา 14 วัน ก็คือทำงาน งานของเธอเป็นงานออนไลน์ สามารถ Work from home ได้ ออกกำลังกายอยู่ในบ้าน เช่น โยคะ ไม่ตามข่าวสารมากเกินไป หาความบันเทิงด้วยการดูการ์ตูน ดูซีรีย์ อ่านนิยายสืบสวนสอบสวน

Thailand Coronavirus โคโรนาไวรัส หน้ากาก
ภาพจาก Shutterstock

หลังจากกักกันโรคเสร็จแล้ว ก็ยังใช้ชีวิตได้ไม่ปกติ เพราะตัวเลขการติดเชื้อก็เพิ่มขึ้น ซึ่งโชคดีมากที่บริษัทอนุญาตให้ Work from home ทำให้เธอก็ยังเรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียวต่อไป ซึ่งในส่วนนี้ เธอก็ยังแยกกันนอนกับแม่อยู่ เพราะแม่เป็นผู้สูงวัย เกรงว่าอาจจะติดเชื้อมาและแพร่เชื้อสู่แม่ได้ จึงยังแยกนอนคนเดียวต่อไป

สิ่งที่เธออยากฝากถึงรัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้ดูแลประชาชนตอนนี้ก็คือ สิ่งใดที่สามารถอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ก็ขอให้ทำให้เต็มที่เพราะเขามีหน้าที่เป็นด่านหน้าในการรับมือโควิด-19 และขอให้รัฐจัดการข้อมูลข่าวสารให้ชัดเจนเพื่อป้องกันความสับสนของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นได้

CDC แนะนำวิธีรับมือโควิด-19 ทำยังไงให้ไม่กลัวมากเกินไป

CDC หรือ กรมควบคุมโรค ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา แนะวิธีรับมือกับความวิตกกังวลใจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ไว้ว่า ผู้คนทุกช่วงวัยล้วนเครียดจากการระบาดของไวรัส แต่คนสูงวัย คนหนุ่มสาว และเด็กมีความเสี่ยงจากโรคนี้ตามลำดับ

ความเครียดที่เกิดขึ้นนี้มีทั้งสาเหตุที่มาจากความกลัวและความกังวลทั้งต่อสุขภาพตัวเองและคนที่ตัวเองรัก ความกลัวและความกังวลเหล่านี้ส่งผลต่อการนอนหลับเพราะมันทำให้นอนหลับยากขึ้น มีสมาธิน้อยลงเพราะมีสิ่งรบกวนจิตใจ ส่งผลให้คนหันไปพึ่งพาแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้ยาเสพติดมากขึ้น เพื่อคลายเครียด

A digitally-enhanced microscopic image shows a coronavirus infection in blue of the first case discovered in the United States. , by CDC/Hannah A Bullock/Azaibi Tami

สิ่งที่ CDC แนะนำคือ ให้เราเรียนรู้ที่จะพักเบรก หรือเว้นระยะจากการรับชมข่าวสารเสียบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการดู การอ่าน หรือแม้แต่การฟังก็ด้วย ในที่นี้ รวมถึงการเสพข้อมูลจากโซเชียลมีเดียด้วย ดูแลร่างกายตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกนั่งสมาธิ ฝึกกำหนดลมหายใจเข้าออก เพื่อให้คลายกังวลมากขึ้น คลายเครียด

พยายามทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายบ้าง นอนให้มากเข้าไว้ และหลีกเลี่ยงที่จะใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ พยายามหากิจกรรมที่ทำให้ตัวเองมีความสุข พูดคุยกับผู้คนที่คุณไว้ใจหรือเข้าใจคุณ ปรึกษาแพทย์บ้างถ้ารู้สึกจิตใจตัวเองย่ำแย่เกินไป

พยายามแชร์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงให้ตัวเองและคนอื่นได้รับรู้เพื่อเข้าใจความเสี่ยง เพื่อจะได้รับมือกับโรคระบาดได้ ยิ่งรู้อย่างเข้าใจ ก็ยิ่งลดความเครียดที่มีลงได้ นอกจากนี้ก็อย่าลืมมาตรการเว้นระยะห่างจากสังคมเสียบ้าง จะได้ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19

ที่มา – BBC, CDC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์