10 บทเรียนจากประเทศทั่วเอเชีย รับมือโควิด-19 อย่างไรในวันที่ไวรัสระบาด

สถานการณ์ล่าสุดของโรคโควิด-19 ตอนนี้ ไวรัสระบาดทั่วโลกติดเชื้อรวมกว่า 90,000 ราย เสียชีวิตแล้วกว่า 3,000 ราย ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน แต่สองสัปดาห์ล่าสุดเริ่มมีการแพร่ระบาดมากขึ้นทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และยังมีเคสใหม่ๆ เกิดขึ้นในแอฟริกาและละตินอเมริกาด้วย

A digitally-enhanced microscopic image shows a coronavirus infection in blue of the first case discovered in the United States. , by CDC/Hannah A Bullock/Azaibi Tami

2 เดือนที่ผ่านมา หลายประเทศในเอเชียรับมือกับโควิด-19 หลายด้านด้วยกัน ทั้งจำกัดการเดินทาง ทั้งกักกันโรค ไปจนถึงมาตรการฉุกเฉินที่จะยับยั้งไม่ให้ไวรัสแพร่ระบาดหนักกว่าเดิม ทั้งนี้ CNN ได้ถอดบทเรียนทั้งดีและร้ายที่ประเทศในเอเชียรับมือกับโควิด-19 ดังนี้

จงโปร่งใสกับสาธารณชน

ความโปร่งใสของรัฐบาลและการที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วถึง การให้ความช่วยเหลือด้วยการให้ความรู้กับพลเมืองของประเทศว่าด้วยเรื่องความเสี่ยงและมาตรการเฝ้าระวังที่จำเป็น ช่วยลดความหวาดกลัวของประชาชนได้ดี ในแง่นี้รวมถึงการจัดการข่าวลือได้อย่างชาญฉลาดของรัฐด้วย

สิงคโปร์ ส่งข้อมูลอัพเดตให้สาธารณชนรับรู้ทุกวัน มีการติดเชื้อเพิ่มใหม่กี่ราย มีคนไข้กี่รายที่รักษาหายและถูกปล่อยตัวออกจากโรงพยาบาลแล้ว และมีเคสใหม่ๆ ที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกี่ราย รัฐบาลสิงคโปร์แม้เป็นเพียงประเทศขนาดเล็กแต่ทีมผู้บริหารและผู้นำประเทศปกครองประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดการโควิด-19 จนองค์การอนามัยโลกประทับใจ

ในฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หน่วยงานรัฐบาลทำหน้าที่รณรงค์ให้ข้อมูลข่าวสารเชิงรุกแก่ประชาชนเสมอ สิ่งใดที่สามารถทำได้ หรือทำไม่ได้ มีการกระจายข่าวสารทั่วประเทศผ่านโปสเตอร์ โฆษณาทางโทรทัศน์ ฯลฯ ในญี่ปุ่น พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อหวัดธรรมดาลดลงอย่างมาก เพราะมีการทำความเข้าใจ สร้างความตระหนักรู้ ให้การศึกษาแก่ประชาชนอยู่ตลอดเวลา

การขาดแคลนข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทำให้เกิดข่าวลือเพิ่มขึ้นง่าย ในสิงคโปร์เมื่อมีข่าวลือจะมีการจัดการกับข่าวลือนั้นทันที ทำให้ข้อมูลข่าวลือหยุดแพร่กระจายอย่างรวด ทั้งนี้ ความโปร่งใสของข้อมูล ช่วยลดความหวาดกลัวของผู้คนได้

สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องกล้าที่จะแบ่งปันข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริงกับสาธารณชนช่วยลดอัตราการตายได้ ในเดือนธันวาคมที่่ผ่านมา หลังไวรัสเริ่มแพร่กระจาย หมอหลี่ เหวินเหลียงพยายามเตือนประชาชน จนถูกตำรวจจับและเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์

รักษาระยะให้ห่างจากสังคม: เก็บตัวบ้างก็ได้ อย่าไปอยู่รวมตัวกันในพื้นที่เสี่ยง

ไวรัสแพร่กระจายง่ายโดยเฉพาะในพื้นที่ปิด มาตรการที่สำคัญที่สุดที่รัฐบาลจะสามารถทำได้ คือการให้ประชาชนหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้กัน หลีกเลี่ยงที่จะอยู่รวมกันเยอะๆ ในพื้นที่ปิด หลายประเทศในเอเชียเลือกใช้มาตรการหยุดการเรียนการสอน ยกเลิกการรวมตัวกันเยอะๆในงานเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลตรุษจีน ปิดพื้นที่ที่ให้ใช้งานสาธารณะเช่น สระว่ายน้ำ และให้ประชาชนทำงานจากบ้านได้ (Work from home)

ในจีน จำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรหรือราว 780 ล้านรายถูกจำกัดการเดินทาง ต้องเริ่มมาตรการที่จะทำให้ผู้คนอยู่ห่างกัน เมืองใหญ่หลายแห่งในยุโรปเริ่มใช้มาตรการนี้แล้ว เราจะเห็นอิตาลีมีการระบาดอย่างรวดเร็วช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ฝรั่งเศสมีการปิดโรงเรียนไปแล้วกว่า 100 แห่ง ส่งผลกระทบต่อนักเรียนราว 28,000 ราย พิพิธภัณฑ์ Louvre และ opera house ในมิลานก็ถูกสั่งปิด งานฮาฟมาราธอนในปารีสก็ถูกยกเลิก

รู้จักเตรียมตัวก่อน ประเมินให้ไว ใช้มาตรการเชิงรุก จะได้ไม่พ่ายแพ้ต่อไวรัส

รัฐบาลสามารถเตรียมตัวก่อนที่ไวรัสจะแพร่กระจายได้ เดือนมกราคมหลังจากมีข้อมูลชัดเจนแล้วว่าไวรัสระบาดอย่างรวดเร็วในเอเชีย หลายประเทศเตรียมพร้อมรับมือด้วยการจัดพื้นที่เพื่อเป็นสถานที่กักกันโรค มีการสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ล่วงหน้า และจัดตั้งคณะกรรมมาธิการหลายภาคส่วนเพื่อรับมือฉุกเฉิน

Coronavirus Chinese Face Masks โคโรนาไวรัส
ภาพจาก Shutterstock

ไต้หวัน ตอบสนองกับการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างรวดเร็ว จัดตั้งศูนย์สั่งการภายในปลายเดือนมกราคมทันที ภายหลังที่มีการติดเชื้อคนแรกในไต้หวัน จัดเตรียมเตียงพยาบาลสำหรับแยกผู้ติดเชื้อทันทีกว่า 1,000 เตียง ตามด้วยจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และจัดการกับข่าวลืออย่างรวดเร็ว ในฮ่องกง สเปรย์ฆ่าเชื้อ กระดาษชำระ หน้ากากอนามัย ทิชชูเปียกสำหรับฆ่าเชื้อขาดตลาดทันทีหลังไวรัสระบาด

ไทย เป็นพื้นที่แรกที่มีการแพร่ระบาดไวรัสนอกจีน หลังพบเคสแรกที่ติดเชื้อ ทางการจัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิทั้งในฮับการขนส่งทันที หลายประเทศในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เริ่มใช้มาตรการแบบเดียวกับไทย ซานฟรานซิสโกประกาศภาวะฉุกเฉิน หลายมลรัฐประกาศใช้เงินเพื่อเตรียมพร้อมรับมือไวรัสระบาด

นิวยอร์กเตียมพร้อมหลายสัปดาห์ มีการจัดจำหน่ายหน้ากากอนามัยกว่า 1.5 ล้านชิ้น มีการร้องขอให้เพิ่มจำนวนการจำหน่ายหน้ากากอนามัยกว่า 300,000 ชิ้น มีการเตรียมพร้อมเตียงในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1,200 เตียงเพื่อแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส

ภาพจากธนาคารไทยพาณิชย์

ตรวจสอบให้ไว ลดอัตราความเร็วในการแพร่กระจายของไวรัส

เกาหลีใต้คือตัวอย่างที่ดีในแง่ของการแพร่กระจายของไวรัส การตรวจสอบขั้นต้น การเฝ้าระวัง การรายงานผลของอาการจาการติดเชื้อ ช่วยเรื่องนี้ได้มาก กระทรวงสาธารณสุขออกแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟนเพื่อให้ประชาชนตรวจเช็คอาการของพวกเขาได้เองทุกวัน พวกเขาสามารถแจ้งข้อมูลกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ได้หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องร้องขอเพื่อให้ความช่วยเหลือ

เกาหลีใต้ยังทำสถานที่ที่ประชาชนสามารถขับรถเข้าไปตรวจเช็คอาการได้เอง (drive-through coronavirus testing site) ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็สามารถตรวจเช็คได้โดยไม่จำเป็นต้องลงจากรถยนต์ ทำให้ง่ายต่อการตรวจสภาพร่างกายตัวเองและยังปลอดภัยต่อบุคลากรทางกรแพทย์ด้วย

ฝึกทำทุกกระบวนการที่สร้างสุขพลานามัยที่ดีอยู่เสมอ

ล้างมือบ่อยครั้งด้วยสบู่และน้ำ ใช้เวลากับมันอย่างน้อย 20 วินาที ปกป้องตัวเองจากการไอ จามในที่สาธารณะจพยายามป้องกันไม่ให้สารคัดหลั่งของตัวเองแพร่กระจายใส่ผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าจะด้วยการใช้หน้ากากอนามัยหรือผ้าเช็ดหน้า หรือทิชชูเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย หลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสตา ปาก และใบหน้าตัวเองเพื่อป้องกันตัวเองก่อนเบื้องต้น หลายประเทศรณรงค์เรื่องนี้

เสนอให้พนักงาน Work from home หรือให้ความยืดหยุ่นการอยู่ออฟฟิศ

ผู้คนนับล้านๆรายในเอเชียสามารถทำงานจากที่บ้านได้ หรือไม่ก็มีเวลายืดหยุ่นในการนั่งทำงานในออฟฟิศ หลายบริษัทให้พนักงานทำงานจากบ้าน เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องเข้าทำงานในออฟฟิศ หลายโรงเรียนหยุดทำการ พ่อแม่ทำงานจากบ้านเพราะต้องดูแลลูกๆ หลายบริษัทใช้ vdo conference ใช้แอปพลิเคชันส่งข้อความสื่อสารกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของไวรัส ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อเมื่อผู้คนมารวมตัวกัน

อย่าซื้อสินค้าด้วยความตระหนก

ในฮ่องกงมีการแห่ซื้อสินค้าอย่างหนักหน่วงเพราะความกลัวไวรัสระบาด ทั้งกระดาษชำระ ทั้งหน้ากากอนามัย ทิชชูเปียกที่สามารถฆ่าเชื้อได้ รวมไปถึงข้าวสารอาหารแห้ง ในฮ่องกงยังมีการปล้นกระดาษทิชชูด้วย

อย่ากลัวสัตว์เลี้ยงของตัวเอง

มีการตรวจพบเชื้อไวรัสในสัตว์เลี้ยงที่ฮ่องกงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้คนเลี้ยงสัตว์กลัวที่จะสัมผัสสัตว์เลี้ยงเพราะกลัวติดเชื้อไวรัส ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มันไม่ได้เกิดขึ้นทั่วไป โคโรนาไวรัสสามารถอยู่บนพื้นผิววัตถุต่างๆ ได้ หมายความว่า มันอาจจะอยู่บนตัวหมา ตัวแมว แต่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัส

Sheila McClelland ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Lifelong Animal Protection ในฮ่องกง ระบุว่า เชื้อไวรัสที่อยู่บนตัวหมาแมวมันไม่ได้กระจายเชื้อให้ติดได้ง่ายเหมือนวัตถุต่างๆที่เราสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นลูกบิดประตู เสาหรือราวในรถไฟฟ้าที่คนติดเชื้อไวรัสไปสัมผัสทิ้งไว้ อย่ากักกันสัตว์เลี้ยงหรือใส่หน้ากากให้หมาแมว แต่ให้ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสัตว์เลี้ยง และอย่าลืมเอาทิชชูฆ่าเชื้อโรคเช็ดหรือทำความสะอาดที่อุ้งเท้าสัตว์เลี้ยงด้วย หลังจากที่ปล่อยพวกเขาออกไปนอกบ้าน

อย่าเหยียด เกลียดกลัว หรือต่อต้านคนติดเชื้อไวรัส อย่าเหยียดกลัวคนเอเชีย

ลำพังแค่ติดเชื้อไวรัสก็แย่พอแล้ว การแสดงอาการเหยียดต่อคนติดเชื้อ ต่อคนป่วย ไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น วิธีที่เหมาะสมคือกักกันโรค ให้เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พอๆ กับที่คุณเคารพตัวเอง ไม่มีใครอยากติดเชื้อไวรัสหรืออยากเป็นตัวแพร่กระจายไวรัสหรอก

อย่ากลัวจนตื่นตระหนก

รัฐบาลมีหน้าที่รับมือกับไวรัสระบาด และยังมีหน้าที่ทำให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนก เพียรบอกแผนการรับมืออย่างสม่ำเสมอ อย่าปิดบังข้อมูล ยิ่งประชาชนรับรู้ความจริงมากเท่าไร ยิ่งทำให้ความกลัวลดน้อยลง อัตราการตายของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 อยู่ที่ 2% สูงกว่าอัตราการตายจากไข้หวัดใหญ่ 0.1% ต่ำกว่าโรคซาร์สอยู่ที่ 9.6% และต่ำกว่าเมอร์ส 35%

คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอทั้งผู้สูงวัย ทั้งเด็กล้วนมีโอกาสติดเชื้อไวรัสจนเป็นสาเหตุทำให้ป่วยหนัก ช่วยกันดูแลตัวเอง ดูแลสังคม อย่าโทษกันไปมา อย่าโทษสื่อมวลชนที่พูดความจริง เรียนรู้ความจริงที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อจะรับมือกับไวรัสระบาด โรคโควิด-19 ได้อย่างไม่ตื่นตระหนก

ที่มา – CNN

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์