Amazon ถือเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก และมีอิทธิพลต่อวงการค้าปลีกอย่างมหาศาล ส่วนผู้ก่อตั้ง Jeff Bezos ก็ถือเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน
แต่กว่าจะมาเป็นวันนี้ Amazon และ Jeff Bezos ผ่านอะไรมายาวนาน นับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทในปี 1995 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือมุมมองของ Bezos นับตั้งแต่วันก่อตั้งบริษัทจนถึงวันนี้ยังเป็นเหมือนเดิม คือทุกวันคือวันเริ่มต้น (Day 1) และนี่อาจเป็นคำตอบ เป็นสูตรลับว่าทำไม Amazon ถึงประสบความสำเร็จขนาดนี้
Day 1 คือจิตวิญญาณของ Amazon ตั้งแต่ปี 1997
คำว่า Day 1 เปรียบได้กับ “สโลแกน” ภายในบริษัทของ Amazon เลยก็ว่าได้ (เทียบได้กับ “Don’t be evil” ของกูเกิล หรือ “Move fast and break things” ของเฟซบุ๊ก)
บล็อกอย่างเป็นทางการของ Amazon ชื่อว่า Day One และตัวของ Bezos ก็นั่งทำงานอยู่ที่ตึกชื่อ “Day 1” ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของ Amazon ที่เมืองซีแอทเทิล (Amazon ย้ายสำนักงานหลายครั้ง แต่ทุกแห่งที่ย้ายไป ชื่อตึก Day 1 จะย้ายตาม Bezos ไปด้วยเสมอ)
Bezos เริ่มใช้คำว่า Day 1 ครั้งแรกใน จดหมายถึงผู้ถือหุ้นในรายงานประจำปี 1997 ซึ่งยังถือเป็นช่วงเริ่มต้นของบริษัท และ Amazon ยังมีลูกค้าอีคอมเมิร์ซเพียง 1.5 ล้านราย (รายได้ไม่ถึง 150 ล้านดอลลาร์) แต่ Bezos บอกว่านี่เป็นเพียง Day 1 ของยุคอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เส้นทางเบื้องหน้ายังอีกยาวไกล เขาขอให้ผู้ถือหุ้นอดทน รอดูเขาและพนักงานของ Amazon เล่นเกมยาว
Amazon.com passed many milestones in 1997: by year-end, we had served more than 1.5 million customers, yielding 838% revenue growth to $147.8 million, and extended our market leadership despite aggressive competitive entry.
But this is Day 1 for the Internet and, if we execute well, for Amazon.com. Today, online commerce saves customers money and precious time. Tomorrow, through personalization, online commerce will accelerate the very process of discovery. Amazon.com uses the Internet to create real value for its customers and, by doing so, hopes to create an enduring franchise, even in established and large markets.
ทุกวันคือวันแรก (Day 1) ถ้าเข้าสู่วันที่สอง (Day 2) คือขาลง
หลังจากนั้น Bezos ก็ใช้คำว่า Day 1 ต่อเนื่องมาตลอดในรายงานประจำปีแทบทุกปี จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท และ Bezos ก็มักได้รับคำถามจากพนักงานว่า เราจะมีวันที่ก้าวเข้าสู่ Day 2 กันบ้างไหม
Bezos ตอบเรื่องนี้ในจดหมายประจำปี 2016 ว่าเขาได้รับคำถามนี้อยู่บ่อยๆ คำตอบของเขาคือเราจะไม่มีวันไปสู่ Day 2 เพราะทุกวันของ Amazon คือ Day 1 ที่ต้องคิดแบบสตาร์ตอัพ คิดแบบคนเพิ่งเริ่มต้นอยู่เสมอ หากเราเริ่มเข้าสู่ Day 2 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่แปลว่าบริษัทจะเริ่มเข้าสู่ช่วง “ขาลง” แล้ว
“Jeff, what does Day 2 look like?”
That’s a question I just got at our most recent all-hands meeting. I’ve been reminding people that it’s Day 1 for a couple of decades. I work in an Amazon building named Day 1, and when I moved buildings, I took the name with me. I spend time thinking about this topic.
“Day 2 is stasis. Followed by irrelevance. Followed by excruciating, painful decline. Followed by death. And that is why it is always Day 1.”
To be sure, this kind of decline would happen in extreme slow motion. An established company might harvest Day 2 for decades, but the final result would still come.
ทำอย่างไรให้ไม่เป็นบริษัท Day 2
Bezos บอกว่าเขานั่งคิดอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้ Amazon เข้าสู่ยุค Day 2 ได้ เรื่องนี้ไม่มีคำตอบที่ตายตัว แต่แนวทางของเขามี 4 ข้อ คือ
- True Customer Obsession ใส่ใจลูกค้าอย่างจริงจังที่สุด เพราะลูกค้าคือคนสำคัญที่สุดของบริษัท ถ้าบริษัทฟังลูกค้าอยู่เสมอ พยายามหาสิ่งที่ตรงใจลูกค้าที่สุดอยู่ตลอดเวลา ก็จะรักษาการเป็น Day 1 ไว้ได้
- Resist Proxies เมื่อบริษัทใหญ่ขึ้นก็ต้องมีขั้นตอน กระบวนการ ตัวแทน ตัวกลาง (ซึ่งเขาเรียกรวมๆ ว่า proxy) ที่เสียเวลาจัดการ สิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ ซึ่งพนักงานของ Amazon ควรลดขั้นตอนหรือตัวกลางเหล่านี้ แล้วเข้าไปสัมผัสกับลูกค้าโดยตรง
- Embrace External Trends ปัจจัยภายนอกย่อมมีผลต่อธุรกิจของ Amazon อยู่เสมอ องค์กรใหญ่ๆ มักเรียนรู้ว่ามีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ปรับตัวเข้ากับมันได้ยาก (เช่น เทคโนโลยี AI) ซึ่ง Amazon พร้อมรับเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก และนำ AI มาใช้ในทุกส่วนธุรกิจ ทั้งที่มองเห็นได้ง่าย (ร้าน Amazon Go) และมองเห็นได้ยาก (อัลกอริทึมพยากรณ์ความต้องการสินค้า)
- High-Velocity Decision Making Bezos บอกว่าบริษัท Day 2 มีการตัดสินใจทางธุรกิจที่มีคุณภาพ แต่ช้า ใช้เวลานานกว่าจะตัดสินใจได้ หากยังต้องการเป็นบริษัท Day 1 ต่อไป จำเป็นต้อง ตัดสินใจให้ดี (high-quality) และ ตัดสินใจให้เร็ว (high-velocity) ไปพร้อมกัน
สำหรับรายละเอียดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรของ Amazon สามารถอ่านได้จากบทความ วัฒนธรรมองค์กรแบบ Amazon ทำไมถึงสร้างนวัตกรรมได้ต่อเนื่อง 25 ปี
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา