ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ส่งผลไปถึงอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำตาลจากไทย และปริมาณที่ต้องนำเข้าในปีนี้สูงมาก ทำให้ต้องนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ทดแทน
อินโดนีเซียอาจต้องนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประมาณ 1.3 ถึง 1.4 ล้านตัน มากกว่าในปี 2019 ถึง 11 เท่า มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันคาดว่าปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศอินโดนีเซียก็ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าในปีนี้จะมีปริมาณการบริโภคถึง 3.25 ล้านตัน หลังจากผลผลิตอ้อยสำหรับผลิตน้ำตาลลดลงถึง 10%
- บล.ภัทร ชี้ ไวรัสโคโรนา งบประมาณล่าช้า ภัยแล้ง ปัจจัยใหญ่ฉุดเศรษฐกิจไทยช่วงนี้
- Goldman Sachs และ Bank of America ลดเป้า GDP ไทยปีนี้ จากไวรัสโคโรนา ภัยแล้ง งบประมาณล่าช้า
นับตั้งแต่ต้นปี 2020 ที่ผ่านมาราคาน้ำตาลที่ซื้อขายในตลาดโลกราคาได้พุ่งสูงไปแล้วกว่า 12% และเป็นราคาน้ำตาลสูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สำหรับสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกและเป็นประเทศผู้ส่งออกไปอินโดนีเซียรายใหญ่อันดับ 1
บทวิเคราะห์จากธนาคารกรุงศรีอยุธยาล่าสุด กล่าวถึงเรื่องภัยแล้งของไทยในปีนี้จะย่ำแย่กว่า 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากฝนทิ้งช่วงยาวนานเกินไป ทางด้านปริมาณน้ำฝนก็ถือว่าน้อยลงเฉลี่ยประมาณ 5-10% เท่ากับก่อนช่วงที่จะเกิดภัยแล้งในครั้งที่แล้ว และยังรวมไปถึงฝนที่ตกนอกพื้นที่เขื่อน ย่อมส่งผลต่อภาคการเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ประเทศบราซิลที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เช่นกันกลับนำอ้อยไปผลิตเอธานอล ส่งผลทำให้ราคาน้ำตาลขึ้นสูงไปอีก ทำให้ประเทศส่งออกรายใหญ่อันดับถัดมาจากไทย เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย ได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้น
ปัจจุบันโรงงานผลิตน้ำตาลในประเทศอินโดนีเซียกว่า 20 แห่งนั้นมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ ที่เหลือ 11 แห่งเป็นของเอกชน นอกจากนี้ความต้องการน้ำตาลในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มสูงขึ้นเพื่อตอบสนองต่อประชากรที่เพิ่มขึ้นในอินโดนีเซีย
Yadi Yusriyadi ที่ปรึกษาอาวุโสของสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลของอินโดนีเซียกล่าวว่า อินโดนีเซียจะต้องนำเข้าน้ำตาลเพราะว่า ถ้าหากไม่นำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ ด้วยปริมาณการผลิตในประเทศด้วยจำนวนจำกัด แต่ความต้องการน้ำตาลยังสูงขนาดนี้ ย่อมส่งผลทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศอาจสูงขึ้นได้
ที่มา – Business Live, Brecorder
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา