เจาะลึกยุทธศาสตร์การตั้งบริษัท SCB 10X การจัดทัพดิจิทัลครั้งใหม่ของ SCB

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในวงการธนาคารไทยช่วงต้นปี 2020 เริ่มจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศตั้งบริษัทลูก SCB 10X เพื่อรวบหน่วยงานด้านดิจิทัลทั้งหมดของตัวเองมาไว้ที่เดียวกัน และตั้ง อารักษ์ สุธีวงศ์ หนึ่งใน 3 ผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ มานั่งเป็นซีอีโอของ SCB 10X ควบอีกตำแหน่ง

ดร. อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด

SCB 10X การจัดทัพใหม่ของ SCB เพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล

หากย้อนดูความเคลื่อนไหวของ SCB ในรอบ 2-3 ปีผ่านมา จะเห็นว่ามีโครงการด้านดิจิทัล-นวัตกรรมหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การตั้งบริษัทลูก Digital Ventures (DV) ช่วงปี 2016 เพื่อทำงานด้านสตาร์ตอัพ (accelerator) และการลงทุน (venture capital) ตามด้วยบริษัทลูกแห่งที่สอง SCB Abacus ที่ทำเรื่อง Big Data และ AI ในปี 2017

จากนั้นในปี 2018 ก็เปิดตัว SCB 10X ที่มีสถานะเป็นฝ่ายใหม่ของธนาคาร (ไม่ได้เป็นบริษัทลูก) ที่เน้นทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่าง Digital Lending โดยเป็นทีมที่แยกจาก DV และ Abacus

จะเห็นว่าแนวทางของ SCB ที่ผ่านมาดูค่อนข้างกระจัดกระจาย และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง ประกาศรอบล่าสุดที่แยก SCB 10X เป็นบริษัทลูก แล้วโยกการถือหุ้นของ DV และ SCB Abacus มาอยู่ใต้ SCB 10X แทนธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นโดยตรง จึงเปรียบเสมือน “การจัดทัพใหม่” ของธนาคารต้อนรับปี 2020

ความจริงจังของการตั้ง SCB 10X เป็นกิจลักษณะครั้งนี้ สะท้อนจากการส่ง “อารักษ์” ในฐานะ 1 ใน 3 ผู้จัดการใหญ่ของแบงค์ และมีประสบการณ์ทำงานในบริษัทเทคโนโลยีในต่างประเทศ (อารักษ์เคยทำงานในบริษัทผลิตชิป Qualcomm ที่สหรัฐอเมริกา) มานั่งเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการ SCB 10X เพื่อเตรียมพร้อมลุยศึกในอนาคต ที่เทคโนโลยีจะเป็นแกนกลางสำคัญ

โครงสร้างความสัมพันธ์ของ SCB, SCB 10X และบริษัทในเครือ รวมถึงบริษัทที่เข้าไปลงทุนด้วย

เรียนรู้จากความผิดพลาด นวัตกรรมเกิดไม่ได้ใต้โครงสร้างแบงค์เดิมๆ

ในงานแถลงข่าวเปิดตัว SCB 10X เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับทั้ง อารักษ์ สุธีวงศ์ ในฐานะผู้บัญชาการกองทัพดิจิทัลของ SCB และ ธนา เธียรอัจฉริยะ แม่ทัพฝ่ายการตลาดของ SCB ซึ่งเคยเป็นหัวหอกด้านดิจิทัลมาตั้งแต่ช่วงก่อตั้ง DV ก่อนผันตัวเองไปดูแลด้านการตลาดเพียงอย่างเดียว

SCB เลือกแถลงข่าวเปิดตัว SCB 10X ที่ตึกเก่าของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเคยใช้สำนักงานใหญ่แห่งแรกของธนาคารเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน โดยธนากล่าวในงานว่า “ทุกครั้งที่ธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ก็มักย้อนกลับมาที่อดีตสำนักงานใหญ่แห่งนี้” แสดงให้เห็นถึงความจริงจังของ SCB ต่อ 10X เป็นอย่างดี

ธนา เล่าว่าการจัดทัพใหม่ของ SCB 10X ครั้งนี้เป็นการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นับจากการก่อตั้ง Digital Ventures ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าโครงการคนแรก

ในการนำเสนอของ ดร.อารักษ์ ยอมรับว่า SCB ล้มเหลวหลายเรื่อง แต่ก็เรียนรู้จากมัน

บทเรียนสำคัญอย่างแรกที่ SCB เรียนรู้คือ อย่าพยายามนำธุรกิจใหม่ๆ ไปอยู่ใต้โครงสร้างของแบงค์ เพราะธรรมชาติของธุรกิจเป็นคนละชนิดกัน รูปแบบธุรกิจของแบงค์เน้นการสร้างรายได้ สร้างกำไร จากธุรกิจเดิมที่สืบทอดกันมายาวนาน ในขณะที่งานเชิงนวัตกรรมใหม่ๆ เน้นการลองผิดลองถูกเพื่อหาโมเดลที่ใช้ก่อน จากนั้นค่อยสเกลธุรกิจขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น exponential growth ซึ่งไม่มีทางทำกำไรได้เลยในช่วงแรกๆ

ดังนั้น การสร้างบริษัทนวัตกรรมภายใต้โครงสร้างของแบงค์แบบเดิมๆ จึงเกิดได้ยาก เพราะคนของแบงค์มีวิธีคิด มีกระบวนการทำงานที่ต่างจากสตาร์ตอัพรุ่นใหม่มาก งานแบงค์ไม่สามารถทำผิดพลาดได้ ในขณะที่สตาร์ตอัพเน้นล้มให้เร็ว (fail fast) เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรที่ไม่เวิร์ค ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ล่าสุด SCB จึงตัดสินใจแยก SCB 10X ออกมาอย่างเป็นเอกเทศ

สเกลเป็นเรื่องสำคัญ จาก VC ขยายสู่ Venture Builder

บทเรียนที่สองที่ SCB เรียนรู้จากยุค Digital Ventures ช่วงแรกๆ คือ งานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ (impact) ต้องมีสเกลที่ใหญ่พอ

ยุคแรกๆ ของ Digital Ventures หันไปสนใจเรื่องการปั้นสตาร์ตอัพโดยเริ่มจากศูนย์ ลงทุนทำโครงการ accelerator โดยธนาคารเข้าไปช่วยถือหุ้นเล็กน้อย แต่ก็เรียนรู้ว่าวิธีการนี้ไม่เวิร์ค เพราะธนาคารถือหุ้นเพียงนิดเดียว ไม่มีแรงจูงใจไปช่วยปั้นธุรกิจมากนัก

ในขณะที่บริษัทลูกของธนาคารกลับดูไปได้สวยกว่า ทั้ง Digital Ventures ยุคใหม่ภายใต้การนำของ อรพงศ์ เทียนเงิน อดีตกรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ที่เปลี่ยนโฟกัสมาที่การสร้างผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีบล็อคเชน เน้นกลุ่มลูกค้าด้านการจัดซื้อจัดจ้าง (SCB จับมือ SCG พัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างผ่าน Blockchain) และ SCB Abacus ที่ได้ สุทธาภา อมรวิวัฒน์ มาคุมทีม ซึ่งเริ่มมีผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อดิจิทัลกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ร่วมกับพาร์ทเนอร์หลายราย

อรพงศ์ เทียนเงิน อดีตผู้จัดการใหญ่ SCB ที่ย้ายตัวเองมาเป็นซีอีโอของ Digital Ventures เต็มตัว

อารักษ์ บอกว่าสิ่งที่ธนาคารเรียนรู้คือธุรกิจที่ไปได้ อาจไม่ใช่สตาร์ตอัพรายเล็กๆ ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล แต่เป็นธุรกิจที่สร้างโดย “มืออาชีพ” อย่างอรพงศ์หรือสุทธาภา ที่มีประสบการณ์ มีคอนเนคชันเพียบพร้อม เมื่อได้รับโอกาสและการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร ก็สามารถเดินหน้าสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้ทันที

กรณีของอรพงศ์ ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะเขาเคยนั่งในตำแหน่งใหญ่ๆ ของแบงค์มาแล้ว ทั้งการเป็นบอร์ดและเป็นผู้จัดการใหญ่ของ SCB แต่ก็ตัดสินใจทิ้งตำแหน่งที่มั่นคงมีหน้ามีตา หันมาขับเรือเล็กอย่าง DV เต็มตัว เนื่องจาก “เห็นโอกาส” ที่จะสร้างธุรกิจใหม่นั่นเอง

สุทธาภา อมรวิวัฒน์ อดีตผู้บริหาร SCB ที่ย้ายมาเป็นซีอีโอของ SCB Abacus

นี่จึงเป็นจุดที่ทำให้ SCB 10X ในยุคของ “อารักษ์” หันมาเน้นเรื่องการทำ Venture Builder หรือการช่วยสร้างธุรกิจไปด้วยกัน (ธนา ให้คำนิยาม Venture Builder เป็นภาษาไทยว่า “ลงทุนร่วมสร้าง เคียงข้างร่วมฝัน”) โดยธนาคารจะถือหุ้นในสัดส่วนที่สูง (60-80%) ซึ่งโมเดลแตกต่างจากการลงทุนแบบ VC ที่เข้าไปถือหุ้นเสียงส่วนน้อย

แนวคิดของ Venture Builder คือหาผู้บริหารที่มีไอเดียและประสบการณ์เข้ามาก่อตั้งธุรกิจร่วมกัน โดยธนาคารจะช่วยสนับสนุนทั้งในด้านเทคนิค (หาทีมโปรแกรมเมอร์มาสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ) และด้านธุรกิจ (บัญชี ภาษี ทรัพยากรบุคคล) เมื่อสร้างผลิตภัณฑ์และหาลูกค้าได้ในระดับหนึ่งแล้วก็จะ spin off ออกมาเป็นบริษัทลูก จากนั้นจะออกไประดมทุนจาก VC ข้างนอกในระยะถัดไป

งานด้าน Venture Builder จะได้ กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร อดีตหัวหน้าทีมของ SCB 10X และคอลัมนิสต์ชื่อดังเจ้าของเพจ “8 บรรทัดครึ่ง” มาดูแลโดยตรง

3 ผู้บริหารของ SCB 10X ยุคใหม่ จากซ้าย นางปิติพร พนาภัทร์ Chief Business Development and Financial Officer, นางมุขยา พานิช
Chief Venture and Investment Officer, นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder

เตรียมปั้นบริษัทเพิ่ม ดึงผู้บริหารคนไทยมาร่วมสร้างธุรกิจ

ตอนนี้ทั้ง DV และ Abacus ถือว่าเติบโตพอสมควรแล้ว ขั้นถัดไปคือจะเริ่มออกไประดมทุนจาก VC ทั่วโลกในปี 2020 นี้

นอกจากนี้ SCB 10X ยังประกาศตั้งบริษัทลูกแห่งที่สามคือ Monix (อ่านว่า มันนิกซ์) โดยเป็นการร่วมทุน (joint venture) กับบริษัท Abakus Group จากประเทศจีน เพื่อนำเทคโนโลยีด้าน Digital Lending มาทำตลาดในประเทศไทยและอาเซียน ส่วนผู้บริหารจะเป็น ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล อดีตหัวหน้าทีม SCB 10X อีกคนหนึ่ง มานั่งเป็นซีโอโอ เริ่มปั้นธุรกิจเพื่อเดินตามรอยของ DV และ Abacus ต่อไป

อารักษ์ บอกว่าต้องการผลิตซ้ำโมเดลของ DV และ Abacus โดยเขามองว่ามีคนไทยเก่งๆ จำนวนมากทำงานอยู่ในองค์กรข้ามชาติ คนเหล่านี้อาจไม่พร้อมเสี่ยงลงมาทำสตาร์ตอัพเต็มตัว เพราะเริ่มมีครอบครัวต้องดูแล แต่ถ้าเป็นโมเดลการสร้างธุรกิจร่วมกับธนาคาร ธนาคารค้ำประกันความเสี่ยงให้จากการถือหุ้น มีผลตอบแทนที่ดีมากพอ และมีโอกาสทำเงินได้จากหุ้นของบริษัทในอนาคต ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนกลุ่มนี้ ถือเป็นทางออกตรงกลางระหว่างการออกมาเปิดสตาร์ตอัพเอง กับการเป็นลูกจ้างทั่วไป

ยุทธศาสตร์ 3 ด้านของ SCB 10X

ยังไม่ทิ้งงานด้านลงทุน-หาพาร์ทเนอร์

นอกจากงานด้าน Venture Builder แล้ว SCB 10X ยังไม่ทิ้งงานด้านการลงทุนในสตาร์ตอัพที่ทำมาตั้งแต่ยุค DV โดยมีพอร์ตโฟลิโอที่เข้าไปลงทุนใน Ripple, 1QBit, Go-jek และกองทุนด้านฟินเทคทั่วโลกอยู่แล้ว แต่จะปรับตัวด้วยการดึงเอา นางมุขยา พานิช ที่มีประสบการณ์ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศ (เคยเป็น Portfolio Manager ให้กับ Pictet Asset Management ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การดูแลกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์) มานั่งเป็น Chief Venture and Investment Officer

SCB 10X ยังได้ นางปิติพร พนาภัทร์ รองผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เคยดูแลงานด้านพาร์ทเนอร์ชิป และสายงานด้านบัตรเครดิต ข้ามจากแบงค์มาเป็น Chief Business Development and Financial Officer ดูแลด้านพาร์ทเนอร์ มองหาโอกาสร่วมทำธุรกิจกับพาร์ทเนอร์หน้าใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานกรรมการของ SCB 10X ได้ยกตัวอย่างโมเดลที่ SCB อยากเป็นคือบริษัทประกันภัยผิงอัน (Ping An) ของประเทศจีน ที่ธุรกิจประกันภัยเดิมก็ยังทำต่อไป แต่ในอีกด้านก็หันไปทำบริษัทใหม่ๆ อย่าง Lufax หรือ Good Doctor ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละบริษัทก็ประสบความสำเร็จในธุรกิจของตัวเองเช่นกัน

ภาพรวมของ SCB 10X ในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือน “วิวัฒนาการ” รอบที่สองของ SCB ที่ลองผิดลองถูกและมีประสบการณ์กับโลกดิจิทัลมาแล้วในระดับหนึ่ง เริ่มที่จะรู้ว่าควรต้องสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาอย่างไร ภายใต้โครงสร้างของระบบธนาคารเดิม

เมื่อ SCB 10X จัดทัพได้เข้าที่และลงตัวแล้ว ความฝันของ SCB 10X คือการพาธุรกิจในเครือพุ่งทะยานแบบ Exponential Growth หรือโต 10 เท่า “10X” แบบชื่อที่ตั้งไว้นั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา