คุยกับ Digital Ventures ในฐานะ Corporate VC กับผลงาน 1 ปีและแผนลงทุนในอนาคต

ภารกิจสำคัญของ Digital Ventures หรือ DV บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB คือ การหาความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุน โดยเฉพาะในสาย startup เพื่อมาต่อยอดให้ธุรกิจของธนาคารให้ก้าวทันโลกยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลง

กว่า 1 ปีที่ผ่านมาของ DV ได้รับการจับตามอง เพราะเป็นเหมือนธนาคารรายแรกที่กระโดดเข้ามาค้นหาคำตอบในสิ่งที่ “ไม่รู้” ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายธุรกิจหลีกเลี่ยงที่จะทำ และครั้งนี้ Brand Inside ได้มีโอกาสคุยกับ พลภัทรพอล อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจ Corporate Venture Capital (CVC) ของ DV พูดง่ายๆ ว่าเป็นหัวหน้าทีมที่ได้รับหน้าที่ในการศึกษาการลงทุน ทั้งการลงทุนผ่านกองทุน และการลงทุนกับ startup โดยตรง

ช่วงเวลาที่ผ่านมา DV ทำอะไรมาบ้าง และถือได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ หลายคนอยากรู้คำตอบ

พลภัทร “พอล” อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจ Corporate Venture Capital

สำหรับ DV และ startup ไทย นี่คือจุดเริ่มต้น

พอล บอกว่า งานด้านการลงทุนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน DV ในเวลาในช่วงเริ่มต้นเพื่อสร้างทีมที่จะออกไปศึกษาการลงทุน ดังนั้นจะเห็นการลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ ประโยชน์คือเพื่อเปิดโอกาสให้ DV ได้เข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ startup และ FinTech ที่น่าสนใจ ได้ออกไปเรียนรู้ว่า เวลานี้โลกกำลังสนใจอะไร และกำลังทำอะไรอยู่

DV ได้ลงทุนใน 4 กองทุนที่เชี่ยวชาญด้าน startup ได้แก่

Golden Gate Ventures กองทุนชั้นนำในสิงคโปร์ ที่ลงทุนในธุรกิจ startup ระยะเริ่มต้น ปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้วกว่า 45 บริษัทในภูมิภาคเอเชีย เช่น Omise, Piggipo, Orami เป็นต้น

Nyca กองทุนพัฒนา FinTech ชั้นนำของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อเสียงและมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งทั้งใน Silicon Valley และ Wall Street เป็นบริษัทที่มีจุดแข็งด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มบริการทางการเงินและเทคโนโลยี

Dymon Asia Ventures เน้นลงทุน startup ระยะเริ่มต้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้น FinTech แบบ B2B ในสายสินเชื่อ สินทรัพย์ และบริหารความมั่งคั่ง ธุรกิจประกัน รวมถึง Blockchain

และ Siri Venture ซึ่ง SCB ได้ร่วมลงทุนด้วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึง startup และเทคโนโลยี ขยายการเข้าถึงใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดแค่ผลิตภัณฑ์การเงิน

เวลานี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะไม่ใช่การลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร แต่เป็นการลงทุนเพื่อศึกษาเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่ง DV และ SCB ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตร ที่จะพัฒนาศักยภาพในการให้บริการและการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ลงทุนตรงกับ 2 startup ยืนยันยังไม่มีการซื้อกิจการ

ด้วยงบประมาณ 50 ล้านดอลลาร์ ในเวลาประมาณ 3 ปี และด้วยระดับของ SCB ที่เป็น 1 ในธนาคารใหญ่ของไทย การเข้าซื้อกิจการ startup ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องนี้ พอล บอกว่า เป้าหมายของ DV ไม่ใช่การซื้อกิจการ startup แต่ต้องการสนับสนุน และเติบโตไปพร้อมกัน รวมถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับ SCB

ยิ่ง DV ศึกษาเรื่องของ FinTech มากเท่าไร ก็ยิ่งรู้ว่ามีเรื่องที่ไม่รู้อยู่อีกมาก เช่น Blockchain, Robo Advisor, Machine Learning ซึ่งยังไม่รู้ว่าเทคโนโลยีอะไรจะมาแรงที่สุด จะถูกใช้ประโยชน์อย่างไร ดังนั้นการเน้นหาพันธมิตรที่จะช่วยกันศึกษาคือทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้

Ripple

สำหรับ startup 2 รายที่ DV ลงทุนโดยตรง ประกอบด้วย Ripple เป็นบริษัทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Blockchain จากสหรัฐอเมริกา และทำให้ SCB เป็นสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่เริ่มลงทุน ศึกษา และทดสอบ Blockchain เพื่อพัฒนาและสร้างเสถียรภาพการโอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว ลดเวลาดำเนินการ ลดค่าใช้จ่ายและปลอดภัย

Startup อีกราย คือ PulseiD บริษัทพัฒนาเทคโนโลยี Geo-Location และแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูล Big Data จาก Mobile Application ยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (ATM, Credit Card) เพื่อรองรับ Lifestyle ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

การลงทุนใน startup จะเน้นในเรื่องความรู้ใหม่ๆ รวมถึงโอกาสในการเรียนรู้และนำบริการต่างๆ มาใช้ในอนาคต

วางแผนลงทุนสร้างการเรียนรู้ ดัน SCB ขึ้นธนาคารระดับท็อปของภูมิภาค

พอล บอกว่า ความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนของธนาคารในอาเซียน มีไทยแห่งเดียวที่ 4 ธนาคารใหญ่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะ SCB แต่ยังมีธนาคารอื่นๆ ด้วย เพื่อยกระดับธนาคารของไทยให้เป็นธนาคารระดับท็อปของภูมิภาค เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น พลังงาน, ก่อสร้าง หรือ อสังหาริมทรัพย์

การลงทุนของ DV จะขยายครอบคลุมไปในหลายภูมิภาคของโลก ทั้ง อเมริกา, ยุโรป, ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่พัฒนา Core Technology ที่รองรับ FinTech เช่น Machine learning, Blockchain, Big data และ Cyber security

การลงทุนโดยตรงใน startup จะมีมากขึ้น ซึ่งรวมถึง startup ไทย ที่เริ่มต้นจาก DVA Batch 0 ที่เพิ่งจบไป ประโยชน์ที่เกิดขึ้น คือ การผลักดันให้เกิดบริการที่เป็นนวัตกรรมทางการเงินให้กับลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กรของธนาคาร สร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ เห็นโอกาสทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ เช่น การเดินทางไปอิสราเอลที่ผ่านมา ได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทั้ง VC และ startup ที่สร้างไว้ตลอด 1 ปีให้กับลูกค้าองค์กรระดับยักษ์ใหญ่ของไทย เช่น ปตท., SCG, Ananda Development และกลุ่มเซ็นทรัลเพื่อมองหานวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนองค์กรของตนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

สุดท้าย พอล บอกว่า การพัฒนา Ecosystem ของ startup ไทยที่เริ่มมาประมาณ 5 ปี ถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นมากๆ ต้องเร่งสร้าง startup เพิ่มขึ้น สร้างพันธมิตรที่จะช่วยผลักดัน และต้องมีนักลงทุนในรูปแบบต่างๆ หน้าที่ของ DV ในฐานะของ CVC คือ การศึกษา ลงทุน และต่อยอดให้ธุรกิจของธนาคาร แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็คือ การสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดกับ Ecosystem ทั้งระบบด้วยเช่นกัน

สรุป

ปกติการลงทุนของธนาคารจะเน้นผลกำไร แต่เป้าหมายของ DV แตกต่างออกไป เป็นการลงทุนทางกลยุทธ์เป็นหลัก เน้นหาความรู้ ศึกษาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับ SCB เช่น Blockchain เป็นต้น แต่ก็ยังมีประโยชน์ที่เหนือความคาดหมายอยู่ด้วย เช่น ค่าเงินดิจิทัลของ Ripple XRP ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนการลงทุนครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร ต้องรอติดตาม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา