ส่งออกไทยปี 2019 ที่ผ่านมาติดลบ 2.65% นักวิเคราะห์คาดปีนี้อาจโตได้เพียง 0.2% เท่านั้น

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ครบปี 2019 นั้นส่งออกไทยติดลบ 2.65% ขณะที่ในปีนี้นักวิเคราะห์คาดว่าจะเติบโตเพียงแค่ 0.2% เท่านั้น

Containers Bangkok Port ท่าเรือกรุงเทพ
ภาพจาก Shutterstock

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ยังติดลบที่ 1.28% ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2019 ติดลบที่ 2.65% แต่ถ้าหักน้ำมันและทองคำจะติดลบ 2.3% ขณะที่ดุลการค้าไทยปีที่ผ่านมาได้ดุลการค้าอยู่ที่ 9,604 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบหลักๆ ของการส่งออกไทยปีที่ผ่านมา เรื่องสำคัญคือสงครามทางการค้า รวมถึงผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากราคาน้ำมัน และทองคำที่มีความผันผวน

สินค้าของไทยในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบหนักๆ ได้แก่

  • เคมีภัณฑ์ ติดลบ 17.3%
  • เม็ดพลาสติก ติดลบ 11%
  • เครื่องจักรกล ติดลบ 10.9%
  • ข้าวไทย ติดลบ 25.9%
  • มันสำปะหลัง ติดลบ 16.4%

อย่างไรก็ดียังมีสินค้าไทยที่ยังสามารถปรับตัวได้ รวมไปถึงสินค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ส่งออกได้ดีมากกว่า 20 รายการ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ ผักสด ผลไม้สด และแช่งแข็ง ไก่สดแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ นอกจากนี้ข่าวดีของการส่งออกไทยคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้นกลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ยังมีมุมมองว่า การส่งออกไทยเริ่มอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ เพราะมีปัจจัยบวกจากการลงนามข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐและจีน และความชัดเจนจากการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit จะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้น

นอกจากนี้ พิมพ์ชนก ยังได้กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนบุกตลาดเป้าหมายในปีนี้ถึง 18 ประเทศ และอยากให้รัฐบาลผลักดันการส่งออกควบคู่กับการลงทุนมาตั้งฐานการผลิตสินค้าในไทยที่จะเป็นโอกาสในการส่งออกเพิ่มเติม

ขณะที่มุมมองจาก SCB EIC นั้นมองว่า ในภาพรวมการส่งออกของไทยส่งสัญญาณกำลังพ้นจุดต่ำสุด สะท้อนจาก สินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในช่วง 1-3 เดือนหลัง

อย่างไรก็ดี EIC คงคาดการณ์ส่งออกปี 2020 ขยายตัวต่ำที่ 0.2% แม้ว่าการส่งออกจะมีทิศทางปรับดีขึ้นในระยะถัดไป แต่ยังมีหลายปัจจัยกดดัน เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย ภาวะสงครามการค้าที่ยังคงกดดันการค้าโลกแม้จะมีข้อตกลงระยะแรก (Phase 1) รวมไปถึงค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ