ปี 2016 ที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของแวดวงสตาร์ตอัพบ้านเรา ที่ได้รับความสนใจในวงกว้างจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ แต่ในอีกทาง ในต่างประเทศ ปี 2016 เป็นปีที่มีเรื่องฉาวๆ เกิดขึ้นมากมายในหมู่สตาร์ตอัพดาวรุ่งที่เคยถูกยกย่องให้เป็น “ฮีโร่” แต่กลับต้องจบปี 2016 ลงด้วยชื่อเสียงติดลบ
สตาร์ตอัพดาวรุ่งหลายรายเลือกเดินเข้าสู่ “ด้านมืด” ด้วยกลโกงหลายอย่าง และเมื่อเรื่องแดงขึ้นมาหรือถูกจับได้ ก็จบไม่สวยทุกรายไป ตัวอย่างของสตาร์ตอัพสุดอื้อฉาวที่เป็นข่าวใหญ่โต มีดังนี้
Theranos
ไม่มีข่าวอื้อฉาวไหนของวงการสตาร์ตอัพโด่งดังไปกว่า Theranos บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีทดสอบเลือดแนวใหม่ ที่โกยเงินลงทุนไปมหาศาล และผู้ก่อตั้ง Elizabeth Holmes ก็ขึ้นปกนิตยสารชื่อดังของโลกหลายฉบับ
แต่สุดท้ายเรื่องราวทั้งหมดกลับเป็นแค่ปาหี่ อุปกรณ์ของ Theranos ใช้งานไม่ได้จริง และมีปัญหาถึงขั้นหน่วยงานด้านอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ต้องเข้ามาสอบสวน และสั่งปิดห้องแล็บที่ไม่ได้มาตรฐาน
Hampton Creek
บริษัทเทคโนโลยีอาหารมังสวิรัติแนวใหม่ที่มี VC ในซิลิคอนวัลเลย์ชื่อดังร่วมลงทุนด้วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Vinod Khosla, Peter Thiel, Marc Benioff, Jerry Yang แต่กลับอื้อฉาวด้วยการจ้างคนไปไล่ซื้อสินค้ายี่ห้อของตัวเองตามร้านต่างๆ เพื่อสร้าง “ดีมานด์เทียม” ให้รู้สึกว่าขายดี มีคนสนใจซื้อเยอะ ในขณะที่บริษัทอ้างว่าซื้อสินค้าจริงแต่ทำไปเพื่อตรวจสอบคุณภาพของสินค้าเท่านั้น
ในฐานะนักลงทุนคนสำคัญ Vinod Khosla ปกป้อง Hampton Creek อย่างมาก เขาตอบโต้นักข่าวที่ไปสัมภาษณ์ว่ารู้ไม่จริงเท่ากับตัวเขาที่เป็นนักลงทุน แต่เมื่อข่าวฉาวเรื่องการไล่ซื้อสินค้าของตัวเองเผยแพร่ออกมา เขาก็เลือกที่จะเงียบแทน
Zenefits
Zenefits บริษัทที่รับดูแลแพ็กเกจประกันสุขภาพให้กับพนักงานของบริษัทอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย (ถือเป็น HR startup) บริษัทก่อตั้งในปี 2013 และทะยานขึ้นเป็นสตาร์ตอัพดาวรุ่งอย่างรวดเร็ว มูลค่าของบริษัทพุ่งสูงไปถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์
แต่เรื่องมาแตกโพละในปี 2016 เมื่อหน่วยงานตรวจสอบพบว่า ใบอนุญาตขายประกันของบริษัทไม่ถูกต้อง และซีอีโอ Parker Conrad แอบสร้างซอฟต์แวร์ลับ ให้ตัวแทนขายประกันสุขภาพของบริษัทปลอมใบรับรองว่าผ่านการอบรมขายประกันเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ไม่ต้องผ่านกระบวนการอบรมและสอบใบอนุญาตของภาครัฐที่ต้องใช้เวลานาน 52 ชั่วโมง ผลคือตัว Parker Conrad ต้องลาออก มูลค่าของบริษัทตกลง และต้องปลดพนักงานออกจำนวนหนึ่ง
Lending Club
บริษัทจัดการเงินกู้แบบ P2P ซึ่งเป็นต้นแบบของบริษัท FinTech หลายๆ ราย กลับถูกกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ (DoJ) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (SEC) สอบสวนในข้อหาตกแต่งตัวเลขเงินกู้ เพื่อล่อลวงให้คนปล่อยกู้เข้ามามากขึ้น อีกทั้งซีอีโอยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกองทุนที่เข้ามาปล่อยกู้ด้วย
ผลของคดีนี้ส่งผลให้ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Renaud Laplanche ต้องลาออก หุ้นตกลงถึง 50%
ในแง่ของธุรกิจ Lending Club ยังประสบปัญหาในช่วงหลัง จนต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้แก่ผู้ขอกู้ยืมถึง 3 ครั้งในเดือนเดียว
Skully
สตาร์ตอัพทำหมวกกันน็อคอัจฉริยะ ที่ระดมทุนได้สูงถึง 11 ล้านดอลลาร์ (ถึงขั้นซีรีส์ B แล้ว) ประกาศปิดตัวแบบไร้คำอธิบาย ลูกค้า 3,000 คนที่จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วก็เอาตัวรอดกันเอง รวมถึงพนักงานอีกกว่า 50 ชีวิตก็ไม่รู้จะต้องทำอย่างไร (รายละเอียดใน Blognone)
Powa Technologies
Brand Inside เคยนำเสนอเรื่องราวของ Powa Technologies สตาร์ตอัพอังกฤษที่ได้รับเงินระดมทุนมากถึง 100 ล้านดอลลาร์ และเป็นบริษัทดาวรุ่งที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษเคยพูดถึง
แต่นอกจากออฟฟิศสุดหรูหราในลอนดอน และวัฒนธรรมการปาร์ตี้แบบกระหน่ำแล้ว บริษัทกลับไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง และอาศัยการสร้างเรื่องว่ามี “ลูกค้ารายใหญ่” เซ็นสัญญาใช้งาน (ทั้งที่จริงๆ แค่เพียงพูดคุยเท่านั้น) แถมเอาเข้าจริงแล้ว บริษัทมีรายได้เพียงน้อยนิด ห่างไกลกับรายจ่ายมหาศาล จนสุดท้ายโดนนักลงทุนเข้ามายึดเพื่อฟื้นฟูกิจการใหม่
WrkRiot
บริษัทด้านค้นหางาน (job search) อาจเป็นบริษัทสตาร์ตอัพด้านมืดที่สุดที่เราเคยเจอ เพราะซีอีโอถึงขั้นปลอมใบโอนเงินเดือนด้วย Photoshop แล้วส่งให้พนักงาน เพื่อยืนยันว่าจ่ายเงินเดือนให้แล้ว ถ้าเงินไม่เข้าก็เป็นปัญหาของบัญชีพนักงานเอง
เมื่อเรื่องแดง และพนักงานที่ค้นพบออกมาแฉ ก็กลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่ประจำปี สุดท้าย WrkRiot ก็ต้องปิดบริษัทหนี และลอยแพพนักงานให้เคว้งคว้าง (รายละเอียดใน Blognone)
มีปัญหาเฉพาะบางราย หรือนี่คือสัญญาณเตือนภัยของทั้งวงการ?
เมื่อเรื่องฉาวของ Theranos ดังขึ้นมา แวดวงสตาร์ตอัพต่างก็ “มองโลกในแง่ดี” ว่ากรณีของ Theranos เป็นเคสเฉพาะกิจจริงๆ เท่านั้น ไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพรวมของทั้งวงการ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางรายกลับมองว่า Theranos เป็นสัญญาณเตือนภัยชุดแรกๆ ที่บ่งชี้ว่ายังมีปัญหาแบบเดียวกันซุกซ่อนอยู่ใต้พรมอีกเป็นจำนวนมาก ถ้ามุมมองอย่างหลังเป็นจริง นั่นแปลว่ามีหายนะรอเราอยู่ที่เบื้องหน้า
อะไรคือสาเหตุของสตาร์ตอัพด้านมืด?
Fortune พยายามตั้งคำถามและค้นหาว่าอะไรคือเหตุผลหรือปัจจัย ที่ผลักดันให้สตาร์ตอัพบางรายเข้าสู่ด้านมืด? คำตอบคือวัฒนธรรมหลายๆ อย่างในโลกสตาร์ตอัพที่ผลักดันให้เกิดสิ่งเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว
- วัฒนธรรม “แหกกฎคือความเท่” คำว่า Breaking the Rules เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในวงการสตาร์ตอัพ ที่บรรดาผู้ก่อตั้งต่าง “คิดนอกกรอบ” แหกกฎระเบียบแบบเดิมๆ แล้วประสบความสำเร็จอย่าง Steve Jobs อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว การแหกกฎโง่ๆ ที่โบราณอาจดูเท่ แต่ก็ต้องมีเส้นแห่งความดีที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ควรก้าวข้ามไป
- วัฒนธรรม “ปั้นเลขไว้ก่อน” ในโลกที่ทุกคนแข่งกันดูดี การสร้างตัวเลขต่างๆ เพื่อดึงดูดเงินจากนักลงทุนกลายเป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้ถึงกับมีบริการที่ปรึกษา StartupFactCheck ที่ช่วยนักลงทุนตรวจสอบว่าตัวเลขที่บรรดาสตาร์ตอัพกล่าวอ้าง เป็นเลขจริงหรือไม่ ซึ่งผลคือ 3 ใน 4 ของสตาร์ตอัพที่เข้ารับการตรวจสอบ ต่างก็มีตัวเลขบางตัวที่ชวนให้เข้าใจผิดหรือให้ข้อมูลไม่ครบอย่างที่ควรจะเป็น
- วัฒนธรรม “เดินหน้าลุย ไม่ต้องสนใจหลักการบริหาร” บรรดาผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านงานบริหารองค์กรมาก่อน และวงการสตาร์ตอัพเองก็ให้คุณค่ากับคนที่เป็นวิศวกร นักประดิษฐ์ นักออกแบบ มากกว่านักบริหารที่ดู “น่าเบื่อ” แต่เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น ไม่ใช่ว่าผู้ก่อตั้งทุกคนจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารที่ดีได้ คนเหล่านี้ยังขาดประสบการณ์ และไม่เคยเจอเคสหรือรูปแบบของปัญหามาก่อน
- วัฒนธรรม “การเติบโตสำคัญกว่าใครเพื่อน” วรรคทองของสตาร์ตอัพคือคำว่า growth แต่ถ้าไม่สามารถเติบโตด้วยอัตราเร่งได้อย่างที่หวัง สตาร์ตอัพมักจะเฉาตายไป และบรรดาผู้ก่อตั้งที่ติดอยู่ในกับดักนี้ก็มักทำในสิ่งที่คาดไม่ถึง และเข้าสู่ด้านมืดได้ง่ายกว่าปกติ
- แนวคิดของ VC ที่เน้นความเสี่ยง ผลักดันให้เกิดคำว่า “โอกาสทางธุรกิจ 1 ล้านล้านดอลลาร์” “บริษัทจะรายได้ 1 แสนล้านดอลลาร์” “เติบโต 100 เท่า” “ยูนิคอร์นตัวถัดไป” ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเชื้อไฟให้กับบรรดาสตาร์ตอัพได้เป็นอย่างดี
เมื่อผู้บริหารที่ไร้ประสบการณ์ มาเจอกับเงินก้อนใหญ่ที่ผลักดันจากบรรดา VC ที่ต้องการเสี่ยงเพื่อผลตอบแทนสูงๆ บวกด้วยวิธีคิดที่พยายามแหกกฎ และมองโลกเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจยิ่งใหญ่กว่าโกโก้ครันช์ก็เป็นได้
ด้วยกระแสตื่นทองสตาร์ตอัพ ส่งผลให้มหาเศรษฐีหลายรายลงทุนโดยไม่ได้สนใจตัวเลขพื้นฐานกิจการเท่าไรนัก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือคนที่ลงเงินใน Uber รอบท้ายๆ มักเป็นพวกกลัวตกรถ และลงทุนโดยไม่เห็นตัวเลขทางการเงินที่ชัดเจนและถูกตรวจบัญชีอย่างถูกต้อง แน่นอนว่านี้คือสัญญาณของฟองสบู่
ทีมงาน Brand Inside ก็ได้แต่หวังว่า สตาร์ตอัพไทยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จะแคล้วคลาดปลอดภัยจากปัญหากลโกงสายดาร์คเหล่านี้ มาร่วมกันสร้างกิจการที่ยั่งยืน ตรวจสอบได้ เพื่ออนาคตของประเทศกันดีกว่า
ที่มา – Fortune
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา