กรณีศึกษา Powa Technologies สตาร์ตอัพดาวรุ่งที่มีแต่ภาพลักษณ์ สุดท้ายจบด้วยล้มละลาย

ช่วงที่ผ่านมา ผู้อ่าน Brand Inside อาจคุ้นเคยกับข่าวกรณีสตาร์ทอัพที่ประสบปัญหา หรือตกเป็นเรื่องอื้อฉาว (เช่น Theranos) มาบ้าง แต่บริษัทข้างต้นก็ไม่ใช่รายเดียว เพราะเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Powa Technologies อดีตสตาร์ทอัพรายใหญ่จากอังกฤษก็ประสบปัญหา และตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ (ซึ่งถ้าทำไม่ได้ก็แปลว่าต้องเลิกเลย)

Powa Technologies เป็นหนึ่งในอดีตสตาร์ทอัพดาวรุ่งพุ่งแรงจากอังกฤษ เคยมีมูลค่าที่ถูกประเมินถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ David Cameron ถึงกับเคยให้สัมภาษณ์ว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดี แต่เหตุใดและทำไมบริษัทถึงประสบความล้มเหลวจนต้องมีจุดจบเช่นนี้ รายงานชิ้นนี้อาจจะพอมีคำตอบให้กับท่านผู้อ่านได้ครับ

ภาพจาก Glassdoor
สำนักงานใหญ่ของ Powa ในลอนดอน ภาพจาก Glassdoor

จุดเริ่มต้นในฐานะบริษัทพัฒนาโซลูชั่นการชำระเงิน

Powa Technologies (ในบทความนี้จะใช้ชื่อว่า Powa) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 โดย Dan Wagner นักธุรกิจชาวอังกฤษที่ประสบความสำเร็จในการก่อตั้งบริษัทแล้วขายออกไปให้คนอื่น (serial enterpreneur) ตัวอย่างธุรกิจที่เขาเคยก่อตั้งคือ ATTRAQT บริการค้นหาและจัดการสินค้าผ่านคลาวด์

เป้าหมายของ Powa คือการสร้างระบบการชำระเงินแบบเดียวกับ Square หรือ Paypal แต่เน้นไปที่ฝั่งลูกค้าภาคธุรกิจ บริษัทมีผลิตภัณฑ์สองตัวคือ PowaTag ระบบจ่ายเงินที่ผสานเอาทั้ง QR Code, เสียง และเทคโนโลยี iBeacons เข้าไป ซึ่งเปิดตัวในปี 2014 และได้รับเงินลงทุนมากถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เฉพาะผลิตภัณฑ์ตัวนี้ตัวเดียว) และ PowaPOS ซึ่งเป็นระบบหลังบ้าน (ลองดูการให้สัมภาษณ์จากคลิปของ France 24 ด้านล่าง)

นอกจากเปิดตัว PowaTag ในปี 2014 แล้ว Powa ก็เข้าซื้อกิจการ Znap แพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจ (รวมเรื่องการชำระเงินไว้ด้วย) จากฮ่องกง ด้วยมูลค่ากว่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีเดียวกัน โดยตัวผลิตภัณฑ์นำเอามาเสริมกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมด้วย

เป้าหมายของ Powa ถือว่ามีความทะเยอทะยานมาก เพราะคือการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจสมัยใหม่ในอนาคตแบบครบวงจร กล่าวคือไปไกลกว่าระบบชำระเงินอย่าง Apple Pay, Samsung Pay หรือ Android Pay เนื่องจากครอบคลุมถึงระบบหลังบ้านและระบบการตลาดให้กับสินค้าด้วย ไม่ได้มีแค่การจ่ายเงินอย่างเดียว

ภาพจาก Powa Technologies

 

Powa สามารถดึงดูดให้บริษัทลงทุน Wellington Management จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาอัดฉีดเงินลงทุนร่วมกับบริษัทอื่นๆ ทั้งหมดกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเป็นหนึ่งในบริษัทที่ถูกจัดอันดับจากเว็บไซต์ Glassdoor เว็บไซต์จัดหางานชั้นนำของอังกฤษ ว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่น่าทำงานด้วย

แต่ไม่ใช่แค่นักลงทุนและพนักงานเท่านั้น เมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้ว Powa ประกาศว่าตัวเองร่วมมือกับ UnionPay ระบบชำระเงินรายใหญ่ของจีน และระบุว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่มากกว่า 1,200 ราย (เช่น L’Oreal บริษัทผลิตเครื่องสำอางค์รายใหญ่ของฝรั่งเศส และ Carrefour ห้าง hypermarket รายใหญ่จากฝรั่งเศสเช่นกัน) เข้ามาเป็นลูกค้าและพร้อมจะใช้งานระบบของ Powa

ความสำเร็จทั้งในการขยายกิจการ ความสามารถในการระดมทุน และฐานของลูกค้า ทำให้ Powa กลายเป็นสตาร์ทอัพดาวรุ่งพุ่งแรงจากอังกฤษ จนถึงขนาดที่ David Cameron อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ออกมาระบุว่าเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพตัวอย่างจากอังกฤษที่น่าชื่นชมอีกด้วย

ภาพฝันกับความจริงที่ไม่ได้ไปด้วยกัน

เมื่อถึงจุดนี้ ผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติของบริษัทสายสตาร์ทอัพทั่วไป และไม่น่าจะมีกรณีอะไรผิดพลาดเพราะมีลูกค้าจับต้องเป็นชิ้นเป็นอัน แต่กับ Powa เรื่องทั้งหมดที่เห็นเป็นเพียงละครฉากใหญ่เท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วบริษัทมีจุดอ่อนมากมาย และถึงขั้นที่ว่าเป็นตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่ไม่ดีอีกรายหนึ่งก็ว่าได้ เพราะเมื่อถึงช่วงใกล้สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ Powa ต้องยื่นขอล้มละลาย และปลดพนักงานทั้งหมด

Rory Cellan-Jones ผู้สื่อข่าวสายเทคโนโลยีของสำนักข่าว BBC ที่ทำข่าวเจาะถึงกรณี Powa ว่านี่เป็นหนึ่งในกรณีคลาสสิกของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ เพราะมีข้อเสียครบทุกข้อ เช่น บริษัทไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน การบริหารงานภายในที่ไร้ทิศทาง ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย และการพูดถึงเทคโนโลยี (รวมถึงลูกค้า) แบบเกินจริง

ภาพจาก Powa Technologies

กรณีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเรื่องของลูกค้าและความร่วมมือ การประกาศเมื่อปลายปีที่แล้วว่าบริษัทมีข้อตกลงกับ UnionPay กลับไม่ใช่เรื่องจริง เพราะ Powa ไปตกลงกับคนกลาง (intermediary) ไม่ใช่คุยกับ UnionPay โดยตรง และสถานะของความร่วมมือยังอยู่ในระหว่างการเจรจาเท่านั้น ทว่าผู้ก่อตั้ง Dan กลับประกาศข่าวนี้ออกไปทางสื่อมวลชนก่อน จนทำให้ทนายของฝั่ง UnionPay ต้องออกหนังสือเตือน (cease and desist) ว่าให้ทางบริษัทยุติการกระทำดังกล่าว เพราะฝั่ง UnionPay ยังไม่ได้ตกลงอะไรทั้งสิ้น

เรื่องของ UnionPay ไม่ใช่กรณีเดียวเท่านั้น เพราะตัวเลขของลูกค้าทั้งหมดที่ Powa อ้างถึง ไม่ใช่ลูกค้าที่ใช้งานระบบของ Powa จริง แต่เป็นลูกค้าที่เพิ่งมีหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intention) ว่าจะนำระบบมาใช้เท่านั้น (ว่าง่ายๆ คือเป็นแค่ MOU ศึกษาว่าจะเอามาใช้งาน) ผลคือบริษัทไม่ได้มีลูกค้าจริงๆ นอกจากลูกค้าบนกระดาษ และบริษัทก็ไม่ได้มีรายรับอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือบริษัทใช้เงินที่ได้จากนักลงทุนไปเรื่อยๆ ตัวเลขของกิจการเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา (นับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558) Powa มีรายได้อยู่ที่ 4.8 ล้านปอนด์ แต่กลับมีหนี้สินจากการดำเนินงานและอื่นๆ สูงถึง 34 ล้านปอนด์ เมื่อหักตัวเลขต่างๆ แล้วบริษัทมีหนี้สินอยู่ที่ 31.8 ล้านปอนด์ ไม่สามารถชำระเงินให้กับคู่ค้าและพนักงานได้

ปัญหานี้เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ Willington Management ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ ตัดสินใจจ้างบริษัทที่ปรึกษา Deloitte เข้ามาบริหารงานแทน และจัดการกับบริษัทเพื่อฟื้นฟูกิจการ

โครงสร้างภายในที่แย่ กับวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ได้ไปด้วยกัน

แม้บริษัท Powa เองจะเป็นสตาร์ทอัพ แต่โครงสร้างบริษัทกลับมีความซับซ้อนและอุ้ยอ้ายมาก (ส่วนหนึ่งมาจากการซื้อ Znap ด้วย) ทำให้บริษัทปรับตัวได้ช้ากับนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเช่น การเข้ามารุกตลาดของ Apple Pay

Powa ยังมีบริษัทลูกอยู่ในหลายประเทศ (ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย) และยังแยกการบริหารงานระหว่างตัวบริษัทแม่ (ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2013 เพื่อเป็นบริษัทที่รับเงินลงทุน) กับตัวบริษัทลูกที่รับผิดชอบงานในประเทศอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา (ตัวบริษัทดั้งเดิม) ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินและตัวผลิตภัณฑ์ทั้งหมด จากภาพโครงสร้างองค์กรก็คงพอเห็นภาพว่าซับซ้อนแค่ไหน

ภาพโครงสร้างการจัดผังองค์กรของบริษัท (ภาพจากรายงานของ Deloitte)

อีกหนึ่งปัญหาของ Powa คือเรื่องของวัฒนธรรมองค์การในเชิงการบริหารจัดการ บริษัทมีสำนักงานใหญ่ที่อาคาร Heron Tower (ปัจจุบันคือ Salesforce Tower) ใจกลางกรุงลอนดอน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องค่าเช่าอันแสนแพง และมีที่พักอาศัยอันหรูหราในฮ่องกง นิวยอร์ก และทั่วยุโรป

บริษัทยังมีวัฒนธรรมในการจัดปาร์ตี้และงานเลี้ยงอย่างฟุ่มเฟือย มีไวน์ราคาแพงรินให้ทั้งงาน รวมถึงการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานในอัตราสูงมาก

Heron Tower
ภาพ Heron Tower ถ่ายโดย Matt Buck (CC BY-SA 2.0)

เมื่อถึงจุดนี้ ผู้อ่านบางคนอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วทำไม Powa ถึงได้รับการโหวตว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ทำงานซึ่งดีที่สุดของอังกฤษ? รายงานเจาะลึกของ Rory ที่เขียนให้ BBC ระบุว่า เพราะหนึ่งในผู้บริหารบริษัท ส่งอีเมลบอกพนักงาน ขอให้ช่วยรีวิวการทำงานกับบริษัทผ่าน Glassdoor เว็บไซต์จัดหางานยอดนิยมในอังกฤษ ให้เป็นไปในทางบวก หลังจากที่ช่วงที่ผ่านมาเจอแต่รีวิวจากพนักงานในเชิงลบบนเว็บไซต์

นอกจากนั้นแล้ว รายงานของ Rory ยังระบุว่าผู้บริหารเองก็ไม่ได้สนใจกับสถานการณ์บริษัทอย่างที่ควรจะเป็น ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก่อนที่บริษัทจะต้องถูกฟื้นฟูกิจการ Dan ซึ่งเป็นคนก่อตั้งบริษัท ยังส่งภาพของตัวเองที่แต่งตัวเป็น David Bowie นักร้องเพลงร็อคชาวอังกฤษ ให้กับพนักงานในบริษัทอยู่ โดยไม่ได้ใส่ใจกับสภาพสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นตรงหน้า

ทั้งหมดทั้งปวง ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของการประชาสัมพันธ์ที่เกินจริง การไม่มีผลิตภัณฑ์ให้เห็นอย่างชัดเจน วัฒนธรรมภายในขององค์กร ล้วนแล้วแต่นำไปสู่จุดจบของ Powa หนึ่งในอดีตสตาร์ทอัพรายใหญ่ดาวรุ่งพุ่งแรงของอังกฤษ ที่กลายเป็นดาราอับแสง ทำเอาเงินนักลงทุนสูญสลาย พนักงานตกงาน และสำคัญที่สุดคงเป็นภาพลักษณ์ของสตาร์ทอัพสัญชาติอังกฤษที่เสียหายไป

ภาพจาก Glassdoor
สำนักงานใหญ่ของ Powa ในลอนดอน ภาพจาก Glassdoor

บทสรุปของ Powa: Actions speak louder than words.

หากย้อนกลับไปพิจารณาระหว่างสตาร์ทอัพอย่าง Theranos และกรณีของ Powa สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ตรงกันและชัดเจนคือการที่บริษัทเหล่านี้ มีกระบวนการประชาสัมพันธ์ (publicity) กับสื่ออย่างดีเยี่ยม แต่กระบวนการบริหารภายในและผลิตภัณฑ์จริงกลับมีปัญหา

ในกรณีของ Theranos และ Verily อาจจะต่างกับ Powa ตรงที่ว่ามีลูกค้าหรือความร่วมมือจริงอยู่บ้าง (ของ Theranos คือมีบางบริษัทที่ตกลงใช้ผลิตภัณฑ์ ส่วน Verily มีความร่วมมือกับบริษัทยาบางแห่ง ส่วนเรื่องใช้ได้จริงหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง) แต่นอกนั้นก็แทบจะไม่ต่างจากทั้งสองบริษัทก่อนหน้า นั่นก็คือสามารถเรียกความสนใจจากสาธารณะและนักลงทุนได้ แต่ไม่สามารถมีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเป็นรูปธรรมได้

Powatag ที่กลายเป็นเพียงอดีตและไม่ได้มีอยู่จริง (ภาพจาก Powa Technologies)

ทว่าในกรณีของ Powa กลับเสริมด้วยเรื่องเลวร้ายกว่า ตรงที่ฐานลูกค้าทั้งหมดเป็นเพียงการแสดงเจตจำนงว่าจะใช้เท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าจะเอาไปใช้จริง ผลคือบริษัทกลับเน้นไปที่เรื่องของการเอาแต่เซ็นหนังสือแสดงเจตจำนง แต่ไม่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงซื้อบริษัทมาเพิ่ม แต่ไม่ได้มีตัวผลิตภัณฑ์แบบชัดๆ ออกมาให้เห็นเหมือนเดิม ผลที่ได้คือความล้มเหลวและการปิดกิจการไป

กรณีของ Theranos เราอาจจะไม่ได้เห็นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรอย่างชัดเจน แต่ในกรณีของ Powa สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาให้เราเห็นด้วย (และถือเป็นผลต่อเนื่องจากเหตุที่ไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวเอง) นั่นก็คือการเปิดปาร์ตี้ที่ฟุ่มเฟือย ใช้เงินนักลงทุนเข้าซื้อกิจการแต่ไม่ทำประโยชน์จากกิจการที่ซื้อ ผู้บริหารไม่ใส่ใจในตัวองค์กรในเวลาที่เกิดปัญหา นอกจากภาพลักษณ์ตัวเอง ในที่สุดก็มีผลกระทบต่อตัวบริษัททั้งหมด ทำให้บริษัทต้องอยู่ในสถานะการฟื้นฟูกิจการแบบทุกวันนี้

Powa ถือเป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างที่สตาร์ทอัพหลายบริษัทต้องนำไปเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และต้องไม่ดำเนินการตามนั้น นั่นคือต้องเน้นที่การกระทำ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยเอาไปเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ให้กับคนอื่นรับรู้ในภายหลัง ไม่ใช่กับกรณี Powa ที่ตัวผู้บริหารและองค์กรทำกลับข้างกัน และผลที่ได้ก็คือจุดจบของบริษัท ที่ตอนนี้แม้แต่ Deloitte ก็ออกมายอมรับว่า โอกาสที่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ทั้งหมดจะได้เงินคืน เป็นไปได้ยากมากแล้ว

อ้างอิง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา