ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คาดการณ์ถึงภาพรวมการส่งออกของไทยว่าอาจเท่ากับปี 2562 ที่ผ่านมา และกรณีแย่สุดอาจติดลบได้ถึง 5% ถ้าหากค่าเงินบาทแข็งค่ามากไป
กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้คาดการณ์การส่งออกปี 2563 โดยคาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะเติบโตเท่ากับปีที่แล้วหรือมากสุดเติบโตแค่ 1% บนสมมติฐานว่าค่าเงินบาทของไทยอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีถ้าหากค่าเงินบาทในปีนี้แข็งค่ากว่าที่ สรท. ตั้งสมมติฐานไว้ กรณีแย่สุดของการส่งออกไทยอาจเสี่ยงติดลบสูงสุดถึง 5%
- กสิกรไทย คาดปี 2020 ส่งออกไปเพื่อนบ้านไม่เติบโต แถมเวียดนามไม่ง้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้น
- เงินบาทแข็งค่าทำไทยส่งออกข้าวแย่ ส่งออกรถยนต์หดตัวต่ำสุดในรอบ 27 เดือน
- SCB EIC ประเมินตัวเลขส่งออกไทยปี 2562 ทั้งปีติดลบมากกว่า 2%
สำหรับการส่งออกของไทย 11 เดือนของปี 2562 ที่ผ่านมานั้นติดลบ 2.8% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 227,090 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นเป็นเดือนที่การส่งออกของไทยติดลบมากที่สุด โดยติดลบไป 7.4% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่ผ่านมา
กัณญภัค ยังได้กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าปัจจัยสำคัญที่ สรท.เป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยเธอมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมในช่วงนี้อยู่ที่ 30.50 ถึง 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดผลกระทบให้ผู้ส่งออกได้ดีที่สุด
โดย สรท. ได้คาดการณ์ค่าเงินบาทจะกระทบกับการส่งออกของไทยดังนี้
- ค่าเงินบาท 31 บาทต่อดอลลาร์ การส่งออกจะขยายตัวได้ 1.4%
- ค่าเงินบาท 30 บาทต่อดอลลาร์ การส่งออกจะขยายตัวได้ 0 ถึง 1%
- ค่าเงินบาท 29 บาทต่อดอลลาร์ การส่งออกจะติดลบ 2.8%
- ค่าเงินบาท 28 บาทต่อดอลลาร์ การส่งออกจะติดลบ 5%
นอกจากนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ได้แก่
- อำนวยความสะดวกการใช้บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) สำหรับการชำระค่าสินค้าและบริการภายในประเทศ ได้แก่
- ขอให้ ธปท. สนับสนุนปรับปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการโอนเงินให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการภายในประเทศในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศและมีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ สามารถชำระค่าสินค้าและบริการในสกุลเงินต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ในรูปแบบธุรกิจกับธุรกิจได้
- ผลักดันให้ ธปท. พิจารณาจัดตั้งสำนักหักบัญชีในประเทศไทย (Clearing House) เพื่อลดระยะเวลาดำเนินงานซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถรับทราบสถานะการชำระเงินผ่านบัญชี FCD ได้อย่างรวดเร็ว
- บริหารจัดการค่าธรรมนียมทางการเงิน ได้แก่
- สรท. ขอให้ ธปท. เข้าควบคุมส่วนต่างค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านบัญชี FCD ของธนาคารพาณิชย์ในไทย
- พิจารณาค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
- ค่าธรรมเนียมการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เช่น Forward หรือ Option เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งอยู่ก่อนแล้ว
ที่มา – สยามรัฐ, สำนักข่าวอินโฟเควสต์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา