มุมมองล่าสุดเกี่ยวกับค่าเงินบาทไทยแม้แต่ กบข. ก็มีความกังวลในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน มองว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวในระยะต่อไป รวมไปถึงมุมมองอื่นๆ
วิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวถึงเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง และ กบข. ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นอกจากนี้ กบข. ยังได้เปิดเผยผลตอบแทนของการลงทุนล่าสุดถึงเดือนตุลาคมด้วย
- “สมคิด” ย้ำให้แบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทใกล้ชิด หลังค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีกว่า
- ชาวต่างชาติที่อาศัยในไทยได้รับผลจากเงินบาทแข็งค่า เริ่มมองประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว
- มุมมองผู้ว่าแบงก์ชาติเกี่ยวกับค่าเงินบาทแข็งค่า แนะให้ผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยง
เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. ได้กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่ปัจจุบันแข็งค่าขึ้น 7.82% เป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย มีสาเหตุหลักมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องของไทย ขณะที่สกุลเงินของประเทศอื่นในภูมิภาคไม่แข็งค่าเท่าเงินบาท เช่น
- ค่าเงินวอนเกาหลีอ่อนค่าลง 4.1%
- ค่าเงินมาเลเซียริงกิตอ่อนค่าลง 1.1%
- ค่าเงินฟิลิปปินส์เปโซ 3.5%
การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลลบต่อการขยายตัวของการส่งออกทั้งสินค้าและบริการของไทยในระยะต่อไป โดยล่าสุดค่าเงินบาทในตลาดซื้อขายวันนี้อยู่ที่ 30.195 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทในวันนี้ยังมีแนวโน้มที่แข็งค่าอยู่
นอกจากนี้ กบข. ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะฟื้นตัวจากปัจจัยของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการะกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 3.2 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน กบข. ยังมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากสาเหตุหลักๆ คือ ธนาคารกลางทั่วโลกประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ
สำหรับผลตอบแทนการลงทุน กบข. ล่าสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 วิทัย ได้กล่าวว่า กองทุนสามารถทำผลตอบแทนได้ 4.7% ได้ผลตอบแทนหลักๆ จากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว และการลดลงของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั่วโลก
ปัจจุบันนั้น กบข. มีเงินกองทุนภายใต้การบริหารจัดการ 935,000 ล้านบาท มีสมาชิกประมาณ 1,100,00 คน ซึ่งตัวกองทุนนั้นเป็น 1 ใน 2 กองทุนที่มีขนาดสินทรัพย์ในการบริหารใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยขนาดกองทุนนั้นเป็นรองถัดจากกองทุนประกันสังคมเท่านั้น
ที่มา – กบข.
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา