ก่อนหน้านี้ ประกาศราชกิจจาที่ให้ E-Commerce ใน EEC เป็นเขตปลอดอากร ทำให้เกิดข้อสงสัยที่ตามมาว่า อาลีบาบา ผู้ทำธุรกิจ E-Commerce รายใหญ่ที่จะมาลงทุนใน EEC บ้านเรา จะได้ผลประโยชน์ยังไงบ้าง
เปิดดูสิทธิประโยชน์การลงทุนใน EEC
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบางกิจกรรมได้นานสูงสุด 13 ปี (อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน)
- ยกเว้นอากรขาเข้า เครื่องจักร วัตถุดิบ
- เงินสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการลงทุน การวิจัย
- อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการ ที่ได้รับการส่งเสริม
- สิทธิ์การเช่าที่ดิน ราชพัสุด ถึง 50 ปี และสามารถพิจารณาต่ออายุอีก 49 ปี
- อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% ต่ำสุดในอาเซียน (สำหรับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้
- ระบบ One-stop Service อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนให้บริการข้อมูลข่าวสารการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการค้าการส่งออกนำเข้าในจุดเดียว
- วีซ่าทำงาน 5 ปี เพื่อดึงดูดนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก
ย้อนดูการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่าง สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) หรือ อีอีซี กับ อาลีบาบา กรุ๊ป ครอบคลุมความร่วมมือ 4 ด้าน
- การใช้อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในการส่งออกสินค้าเกษตรและ OTOP เริ่มต้นจากข้าวและทุเรียน
- การพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถใช้ E-commerce เป็นช่องทางการตลาด
- การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน เข้าสู่เมืองรองและชุมชนอย่างเป็นระบบ นำข้อมูลร้านค้าไทย ร้านอาหารไทยอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มให้เข้าถึงง่ายขึ้น
- การลงทุนใน ศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ (Smart Digital Hub) ในการค้า E-Commerce ระดับโลกกับประเทศใภูมิภาค
การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง EEC และ อาลีบาบา กรุ๊ป มีทั้งสิ้น 2 ฉบับ ดังนี้
- ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ระหว่าง อีอีซี และ Alibaba.com Singapore E-commerce Private Limited ครอบคลุมสินค้าเกษตร และสินค้าอื่นๆของไทย โดยใช้แพลตฟอร์มอาลีบาบา
- ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC ระหว่าง อีอีซี กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistic Network Hong Kong Limited อาลีบาบา กรุ๊ป โดยบริษัท Cainiao จะลงทุนประมาณ 11,000 ล้านบาทในการพัฒนาศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ
นอกจากนี้ อาลีบาบา กรุ๊ป ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานอื่นอีก 2 ฉบับ ได้แก่ ความร่วมมือด้านการพัฒนา SMEs และบุคลากรด้านดิจิทัล ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ Alibaba Business School เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการชาวไทยหลายภาคส่วน อบรมให้ได้อย่างน้อย 30,000 คนต่อปี
ล่าสุด หลังประกาศราชกิจจาให้ E-Commerce ในพื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่ปลอดอากร อีอีซีจึงชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการลงุทนในโครงการ Smart Digital Hub หรือศูนย์จัดการสินค้าอัจฉริยะ ดังนี้
- Alibaba ไม่ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 13 ปี
- Alibaba ถือครองที่ดินสำหรับการลงุทนในพื้นที่ EEC ตามปกติ เหมือนกฎหมายที่ BOI และการนิคมอุตสาหกรรม
- อีอีซี อำนวยความสะดวกในการชำระภาษีศุลกากรจากเดิมที่ต้องชำระทุกวัน เป็น ชำระทุก 14 วัน ผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าได้ภายใน 14 วัน หากสินค้าชำรุด เสียหาย หรือไม่พึงพอใจสินค้า
จึงกำหนดให้สินค้าที่ส่งออกจากเขตปลอดอากรในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะยังไม่ต้องเสียอากรจนกว่าจะครบกำหนด 14 วัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา