ประกาศแล้ว “พิธีการศุลกากรสำหรับกิจการ E-Commerce ณ เขตปลอดอากรในพื้นที่ EEC”

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมศุลกากร ที่ 204/2562 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ภาพจาก EEC

ทำความเข้าใจเบื้องต้น ก่อนอ่านประกาศกรมศุลกากร

อากร คือ เงินรายได้ของประเทศที่กฎหมายกำหนดให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานจัดเก็บจากการนำของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือจากกรณีอื่นๆ ตามที่บัญญัติในกฎหมายศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ตลอดจนกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร

ของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร เป็นของที่ต้องเสียอากร สามารถค้นหาอัตราอากรได้จากพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ทั้งนี้ ในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรยังมีของที่กำหนดให้ได้รับการยกเว้นอากรด้วย แล้วแต่กรณีหรือตามเงื่อนไขที่กำหนด 

เขตปลอดอากร คือ เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผู้ประสงค์จะจัดตั้งเขตปลอดกากร ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร  คือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้ประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศในเขตปลอดอากร 

เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หมายความว่า เขตปลอดอากรภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่พิเศษตะวันออก 

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หมายความว่า พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออก

เส้นทางเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ภาพจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน

สาระสำคัญของประกาศราชกิจจานี้คือ ในส่วนที่ 12 การชำระค่าอากรสำหรับของที่นำมาใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร 

ข้อ 55 การชำระค่าอากรสำหรับของที่นำมาใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร

(1) กรณีใบขนสินค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรออกเลขที่ใบขนสินค้าแล้ว ระบบจะเปลี่ยนสถานะเป็น “ใบขนสินค้ายกเว้นอากร” โดยอัตโนมัติ 

(2) กรณีใบขนสินค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ออกเลขที่ใบขนสินค้าแล้ว ผู้ประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตปลอดอากรไม่ต้องชำระค่าอากรจนกว่าจะครบกำหนด 14 วัน

นับแต่วันที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรออกเลขที่ใบขนสินค้าดังกล่าวตามประกาศคณะกรรมการนโบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และพิธิการศุลกากรสำหรับเขตปลอดอากรภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้ชำระเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมศุลกากรโดยวิธีตัดบัญชีผู้ประกอบการ

ที่มา – ราชกิจจานุเบกษา , เขตปลอดอากร, EEC, หลักการจัดเก็บอากรขาเข้า อากรขาออก 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา