อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนกันยายนที่ผ่านมาทำสถิติต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมา
พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงอัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนนั้นมีอัตราเงินเฟ้อขยายตัวขึ้น 0.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยราคาน้ำมันที่มีผลกับอัตราเงินเฟ้อมีราคาชะลอตัวลง ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
- แบงก์ชาติคาด GDP ไทยปีนี้โต 2.8% มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%
- พิษสงครามการค้า ส่งออกไทยเดือนสิงหาคมติดลบ 4% ขณะที่ข้าวไทยส่งออกติดลบ 44.7%
อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนนี้ต่ำกว่านักวิเคราะ์คาดไว้ที่ 0.4% โดยมีเพียงแค่ราคาอาหารสดที่ขยายตัวได้สูง เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าอื่นๆ กลับชะลอตัวลงด้วยซ้ำ โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวอยู่ที่ 0.81% ซึ่ง สนค. คาดว่าเงินเฟ้อในปีนี้ของไทยจะอยู่ในช่วง 0.7-1.0%
มุมมองของ KS Research ธนาคารกสิกรไทย มองว่า เงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ในช่วงประมาณ 0.9% โดยราคาพลังงานที่สูงอยู่ในขณะนี้จะลดลงไปในช่วงปลายปี ขณะเดียวกันราคาอาหารสดจะยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป นอกจากนี้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีการตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่ม
ขณะที่มุมมองของ ING สถาบันการเงินจากเนเธอร์แลนด์ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของไทยมาอยู่ในช่วง 0.8-1.0% จากเดิมอยู่ที่ 1.0-1.4% นอกจากนี้ยังยืนยันถึงมุมมองว่า กนง. จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่ง ING มองว่าถ้ายิ่ง กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยช้าเท่าไหร่ยิ่งส่งผลเสียเท่านั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 0.8% โดยปรับลดลงจาก 1.0% เมื่อการประชุมในรอบเดือนกันยายน
ที่มา – โพสต์ทูเดย์, สำนักข่าวไทย, สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา