ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีแผนนำมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด หรือ DSR มาใช้ในปีนี้ แต่ทาง ธปท. จะติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนนี้อย่างใกล้ชิด
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธปท. ได้ออกมาตรการในหลายส่วนเพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน และมีกระแสข่าวว่า ธปท. อาจมีมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด หรือ DSR เพิ่มเติม โดยทาง ธปท. ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่ได้มีแผนที่จะนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ภายในปีนี้
- [วิเคราะห์] ทางแก้หนี้คนไทย ธปท. เร่งศึกษา DSR จำกัดวงเงินการกู้สินเชื่อรายคน
- ธปท.เผยคนไทย “เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นานและเป็นหนี้จนแก่” ส่อแววฉุดเศรษฐกิจไทย
ก่อนหน้านี้ทาง ธปท. ได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อที่จะมาควบคุมสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากควบคุม DSR หรือไม่ให้มีภาระหนี้เกิน 70% เพื่อที่จะไม่ให้ประชาชนเป็นหนี้นาน จนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจไทย
โดยปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินใน 2 เรื่อง ได้แก่
- การกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณ DSR ทั้งในส่วนภาระหนี้และรายได้ของผู้กู้ ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกันโดยล่าสุดได้มีข้อตกลงมาตรฐานกลาง DSR ร่วมกันแล้ว คาดว่าจะเริ่มรายงานข้อมูล DSR ตามมาตรฐานกลางให้ ธปท. ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้
- การผลักดันให้สถาบันการเงินนำหลักการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ไปใช้ โดยลูกหนี้ต้องมีเงินเพียงพอสำหรับดำรงชีพหลังชำระหนี้แล้ว
ธปท. จะติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งผ่านข้อมูล DSR ตามมาตรฐานกลางที่ธนาคารพาณิชย์รายงาน ซึ่งหากพบว่าสถานการณ์มีความเปราะบางมากขึ้น ธปท. อาจพิจารณาออกเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงิน กรอบการบังคับใช้และจังหวะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา