หลังจากที่ การบินไทยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2019 ขาดทุนถึง 6.8 พันล้านบาท และมีรายได้จากผู้โดยสารลดลง ทั้งจากประเด็นการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน, สงครามการค้า และเงินบาทแข็งค่า
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทย จึงออกมาประกาศมาตรการเร่งด่วนเพื่อ “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้” จำนวน 6 ข้อ เพื่อเร่งกู้วิกฤตขององค์กร
มาตรการสำคัญคือการลดค่าใช้จ่ายภายใต้แนวคิด #SaveTG และการเร่งสร้างรายได้จากช่องทางดิจิทัลมากขึ้น
“ตั้งแต่ผมเข้ามารับหน้าที่ที่การบินไทย 11 เดือนมาแล้ว ไม่มีวันไหนไม่มีปัญหา เราทั้งคณะกรรมการ บริษัทฯ ฝ่ายบริหาร รวมถึงพนักงานทำงานกันหนักมาก เพราะตระหนักดีว่า นี่คือสายการบินแห่งชาติ ไม่มีปัญหาไหนแก้ได้ง่าย แต่เราพยายามอย่างที่สุด ด้วยกลยุทธ์ที่กล่าวข้างต้น เราเชื่อว่าเราจะนำความมั่นใจกลับมาสู่การบินไทยอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าอาจจะไม่รวดเร็วดั่งใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของผู้โดยสารคนไทยที่ยังรักในการบินไทย มาช่วยกันใช้บริการ ช่วยกันแนะนำ ภายใต้แนวคิด #SaveTG ผมและพนักงานทุกคนมั่นใจว่าเป้าหมายทุกอย่างเป็นไปได้แน่นอน” นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กล่าว
1. กลยุทธ์ “SaveTG Co-Creation” เป็นกลยุทธ์การควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ โดยบริษัทฯ ได้ประกาศเป็นมาตรการลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งให้พนักงานทุกภาคส่วนระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะมายังผู้บริหาร และที่สำคัญ เปิดให้ผู้โดยสารเสนอแนะความคิดเห็นมายังบริษัทฯ โดยสามารถร่วม Co-Create ได้ที่ Customer@thaiairways.com
2. กลยุทธ์ Zero Waste Management โดยจะเริ่มที่ Food Waste ก่อน เป็นโครงการที่จะช่วยประหยัดและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Circular Economy) ให้ทั้งกับองค์กรและประเทศชาติโดยรวม ขณะนี้ ได้เริ่มมีการศึกษาร่วมกันกับทาง FoodInnoPolis เพื่อกำหนดแผนงานปฏิบัติ
3. กลยุทธ์การรุกตลาดใหม่ในไตรมาส 4 ของปีนี้ คือ บินตรงสู่เซนได อีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่สวยงามทุกฤดูกาลในภูมิภาคโทโฮคุของญี่ปุ่น
4. กลยุทธ์การเพิ่มรายได้ โดยใช้ Digital Marketing อาทิ การออกโปรโมชั่นผ่านสื่อดิจิทัลทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงฐานลูกค้ากลุ่ม Online มากขึ้น โดยเฉพาะเพิ่มความสะดวกสำหรับลูกค้าที่ดาวน์โหลด Application Thai Airways ไว้ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะสามารถจองบัตรโดยสาร ค้นหาเที่ยวบิน โปรโมชั่นบัตรโดยสาร และนำเสนอสิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ ให้กับผู้โดยสารของการบินไทยมากขึ้น สำหรับเรื่องระบบ ได้ปรับปรุงให้ Mobile Application สามารถเพิ่มรายได้ โดยการเสนอการขายผลิตภัณฑ์เสริม (Ancillary Product) อาทิ น้ำหนักกระเป๋าสัมภาระ ประกันภัยการเดินทาง รถรับส่งสนามบิน รถเช่า โรงแรม เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มภาษาต่างๆ และปรับเปลี่ยนหน้า Mobile Application ให้เข้าถึงผู้โดยสารในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการเพิ่มรายได้เสริม อาทิ โครงการการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ eCommerce ซึ่งบริษัทฯ ได้คัดเลือกผู้จัดจำหน่าย (eCommerce Vendor) ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านการดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้กับสายการบินชั้นนำของโลกเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคม 2562
5. กลยุทธ์ THAI Synergy การบินไทยมีสินค้าและบริการที่สามารถผสานพลังกับพันธมิตร โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ คือ การผสานพลังกับ Café Amazon ในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย
6. กลยุทธ์ TG Group การบินไทยผนึกไทยสมายล์ เสริมความแข็งแกร่งในทุกมิติเพื่อให้เครือข่ายการบินเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ สะดวกสบายสำหรับผู้โดยสาร รุกตลาดในภูมิภาคอย่างเต็มที่ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ และที่สำคัญคือ ดำเนินการให้สายการบินไทยสมายล์เข้าร่วมเป็น Connecting Partner ของกลุ่มพันธมิตรสายการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบภายในสิ้นปี 2562 เพื่อช่วยเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายเส้นทางบินในระดับภูมิภาค
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา
Related