สหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก ยิ่งมีนโยบายจาก Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐว่า “American First” ทำให้สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขยายผลกระทบเป็นวงกว้าง
ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศว่าจีนกำลังปั่นค่าเงินให้อ่อนค่า เรื่องนี้กระทบกับทั่วโลกอย่างไร?
- [สรุป] ผลกระทบตลาดหุ้น-ค่าเงินบาท-ทองคำ-น้ำมัน เมื่อ Trump ขู่จะขึ้นภาษีจีน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 1 ก.ย. นี้
- ค่าเงินหยวนอ่อนค่าทำสถิติในรอบ 10 ปี 7 หยวนต่อดอลลาร์ คาดจีนตอบโต้สหรัฐหลังขึ้นภาษีสินค้านำเข้า
แม้ช่วงกลางปีสงครามการค้า (Trade war) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีทีท่าจะเจรจากันด้วยดี แต่ฝั่ง Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐเห็นว่าการเจรจาไม่สำเร็จเร็วอย่างที่คิด จนวันที่ 2 ส.ค. 2019 กล่าวว่าอาจจะขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน 10% ราว 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 1 ก.ย. 2019
ฝั่งจีนในวันที่ 5 ส.ค. 2019 ค่าเงินหยวนปรับตัวอ่อนค่าลงสูงสุดในรอบ 10 ปี มาอยู่ที่ระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาด และทำให้สหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าจีนกำลังแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่ามูลค่าที่แท้จริง เหมือนจีนกำลังตอบโต้ที่สหรัฐขู่จะขึ้นภาษี
ทั้งนี้เมื่อเงินหยวนอ่อนค่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าทั้งกับสหรัฐ และหลายประเทศทั่วโลก เช่น ไทยที่ค่าเงินยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินหยวนอาจทำให้การส่งออกของไทยจะติดลบต่อเนื่องในอนาคต
เงินบาทอ่อนค่า – ตลาดหุ้นทั่วโลกติดลบ-ราคาทองคำพุ่ง ผลพ่วงจากการตอบโต้ระหว่างจีน-สหรัฐฯ
จากการเคลื่อนไหวทั้งจีนและสหรัฐทำให้คืนที่ผ่านมา เช้าวันนี้ (6 ส.ค. 2019) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 30.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากการปิดตลาดเมื่อวานนี้ (5 ส.ค. 2019) ที่อยู่ระดับ 30.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธนาคารกรุงไทยมองว่าวันนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.75-30.90 บาทต่อดอลลาร์
ตลาดการเงินทั่วโลกปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และเห็นได้ชัดว่าดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ได้แก่ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐที่ปิดลบ 3.0% ฝั่งยุโรปที่ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลดลง 1.9% และดัชนี FTSE100 ของอังกฤษ ปรับตัวลดลง 2.5%
ทั้งนี้การเทขายในตลาดหุ้น ทำใหเห็นเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตลาดพันธบัตรสหรัฐ ทำให้ผลตอบแทนจากพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 1.73% ถือว่าปรับตัวลดลง 11bps เป็นจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 3ปี
ส่วนราคาทองคำพุ่งขึ้น 1.9% มาอยู่ที่ระดับ 1,468.2 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงที่สุดในรอบ 6 ปี ส่วนเงินเยนที่หลายคนมองว่าเป็น 1 ใน Safe Haven จะปรับตัวแข็งค่าที่สุดในรอบ 7 เดือนมาอยู่ที่ 106.0 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินบาทและสกุลเงินเอเชีย จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้
ช่วงนี้ตลาดเงินมีความเปราะบางมาก เนื่องจากมีแรงกดดันด้านขายจากฝั่งตลาดทุนเพราะนักลงทุนปิดรับความเสี่ยง ธนาคารกลางทยอยลดดอกเบี้ย ขณะเดียวกันเงินหยวนที่อ่อนค่าเร็ว ก็ดึงให้แทบทุกสกุลเงินเอเชียอ่อนค่าตามไปด้วย
ส่วนเงินเยนและทองคำปรับตัวขึ้น ยังเป็นสัญญาณว่าตลาดไม่ได้กังวลกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของฝั่งเอเชียมากนัก ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจสวนกระแสนโยบายการเงินโลกด้วยการตรึงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้ ระยะกลาง จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่นักลงทุนอาจกลับเข้าถือเงินบาทเพื่อหลบความเสี่ยงสงครามการค้าเช่นกัน
อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหลายตัวชี้ว่า ผู้ประกอบการทั่วโลกอาจชะลอการทำธุรกิจจากความเสี่ยงสงครามการค้าที่เกิดขึ้น เช่น
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของจีน (Caixin Services PMI) ที่ลดลง 0.6 จุด มาอยู่ที่สู่ระดับ 51.6จุด
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ (ISM Non-Manufacturing PMI) ที่ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 3ปี
สรุป
ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังจากความไม่แน่นอนทั่วโลก แต่ปัจจุบันค่าเงินบาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับหลายสกุลเงินซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างดังนั้นไทยอาจใช้โอกาสนี้มาเร่งพัฒนาภายในประเทศเพื่อรับมือกับปัจจัยภายนอก
ที่มา ธนาคารกรุงไทย, Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา