วิกฤติส่งออกไทย เดือนพฤษภาคมยอดส่งออกต่ำสุดในรอบ 34 เดือน กระทบ GDP ไตรมาส 2

ยอดส่งออกไทยเดือนพฤษภาคมทำสถิติใหม่ต่ำสุดในรอบ 34 เดือน คาดว่าจะกระทบกับ GDP ของไทยในไตรมาส 2 ขณะที่สงครามการค้ายังคงดำเนินต่อไป

Bangkok Port Export
ภาพจาก Shutterstock

มูลค่าการส่งออกไทยเดือน พ.ค. 2019 หดตัวที่ -5.8%YOY ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ -2.6%YOY ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 34 เดือน ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี มูลค่าการส่งออกยังคงหดตัวที่ -4.5%YOY (ไม่รวมการส่งกลับอาวุธไปยังสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์)

ปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ภาคการส่งออกของไทยยังหดตัวอย่างต่อเนื่องได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้อุปสงค์จากคู่ค้าชะลอตัวลง รวมไปถึงค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่ามากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกไทยเฉลี่ย 5 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 20,312 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญที่มีการหดตัวคือสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าส่งออกของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เช่น

  1. คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ
  2. ยางพารา
  3. แผงวงจรไฟฟ้า
  4. เคมีภัณฑ์และพลาสติก

นอกจากนี้ยังมีสินค้าส่งออกประเภทอื่นที่มีการหดตัว เช่น รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และน้ำตาลทราย และถ้าหากหักทองคำ มูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค. จะหดตัวที่ -4.8%YOY

Thailand Export Chart May 2019
ข้อมูลจาก SCB EIC

การส่งออกของไทยที่หดตัว 5 เดือนติดต่อกัน ทำให้ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการการเติบโตของภาคการส่งออกไทยเหลือ 0% จากเดิม 3.2% โดยคาดว่าช่วงที่เหลือของปียอดการส่งออกของไทยจะโตเล็กน้อยเท่านั้น ขณะเดียวกันยอดการส่งออกไทยที่หดตัวลงน่าจะทำให้มีการปรับเป้า GDP ของไทยในไตรมาส 2 และเป้าของปีนี้ใหม่อีกด้วย

มุมมองของเจ้าหน้าที่กระทรวงพานิชย์ พิมพ์ชนก วอนขอพร อธิบดีสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ต้องการเสนอให้รัฐบาลใหม่เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศใหม่ๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป เพราะไม่งั้นแล้วไทยจะเสียเปรียบการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง มีการผลักดันการส่งออกภาคบริการอย่างจริงจัง รวมไปถึงต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เพราะไม่งั้นแล้วสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยจะล้าสมัย และเสียศักยภาพด้านการแข่งขัน

ขณะที่ SCB EIC มองว่าปัจจัยสำคัญที่น่าจับตาในระยะต่อไปคือ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจเพิ่มความรุนแรงได้อีก กล่าวคือในช่วงเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้ สหรัฐฯ อาจมีการพิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนมูลค่าอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มเติม และจีนเองก็อาจจะมีมาตรการตอบโต้กลับเช่นกัน โดยจะต้องดูท่าทีของผู้นำทั้งสองประเทศในช่วงปลายเดือน มิ.ย. นี้ ที่จะมีการประชุม G-20 ว่าจะออกมาในรูปแบบใด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการปรับเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐฯ ที่ในเบื้องต้นมีแผนจะเก็บจากทุกประเทศในอัตรา 25% ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงกับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นโดยจะได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ที่มาSCB EIC, กรุงเทพธุรกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ