ตอนนี้ E-Sport นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว และปีนี้คาดว่าเงินจะสะพัดถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31,000 ล้านบาท) แต่สิ่งที่ค่อนข้างขาดในตลาดคือ E-Sport Stadium ที่ได้มาตรฐาน และนั่นคือสิ่งที่จะมีมากขึ้นจากนี้
แม้จะดูออนไลน์เป็นหลัก แต่สนามมาตรฐานก็จำเป็น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า E-Sport ไม่ว่าจะระดับโลก หรือในประเทศไทยนั้นเริ่มได้รับความนิยม และได้รับความสนใจในแง่มุมต่างๆ มาขึ้น แต่ถึงอย่างไรการรับชม E-Sport ส่วนใหญ่มาจากช่องทางออนไลน์ เช่น Twitch หรือ YouTube ทำให้เม็ดเงินข้างต้นนั้นมาจากการจำหน่ายตั๋วเข้าชม และสินค้าลิขสิทธิ์เพียง 10% จากเงินสะพัดปีนี้ทั้งหมด
เมื่อเหตุการณ์มันเป็นอย่างนี้ก็ไม่แปลกที่การลงทุนทำ E-Sport ใหญ่ๆ จะไม่ค่อยเกิดขึ้นมาก เน้นการเช่าสนามการแข่งขันกีฬาในร่ม หรือกลางแจ้งเพื่อจัดแข่งมากกว่า หรือเต็มที่คือการนำอาคารเก่าที่พอจะมีพื้นที่ เช่น Nightclub หรืออาคารสำนักงานเพื่อมาปรับปรุงพื้นที่ให้จัดการแข่งขัน E-Sport ได้
แต่ด้วยภาพรวมตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนสนใจลงทุนสร้าง E-Sport Stadium หรือสนามกีฬาที่ทำขึ้นเพื่อใช้แข่ง E-Sport โดยเฉพาะ เช่นในสหรัฐอเมริกาก็มี Esports Stadium Arlington ที่มูลค่าสร้างอยู่ที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 312 ล้านบาท) และเปิดใช้เดือนพ.ย. 2561 เพราะตลาดนี้มันต้องการจริงๆ
E-Sport Stadium กับการจัดวางเก้าอีก และสถานที่ที่แตกต่าง
สำหรับ E-Sport Stadium นั้นจะแตกต่างกับสนามกีฬาในร่มอื่นๆ เช่นสามารถจัดวางเก้าอี้ผู้ชมได้หลากหลายรูปแบบ และต้องมีพื้นที่ขามากกว่าปกติ, การทำให้เก้าอี้ผมชมเน้นมองไปที่จอตรงกลางมากกว่าบริเวณสนามแข่งขัน รวมถึงต้องมีไวไฟความเร็วสูง และการเดินในสนามที่สะดวกในการเข้าถึงพื้นที่จำหน่ายอาหาร หรือของที่ระลึก
“บางเกมการแข่งขัน E-Sport นั้นยาวนานถึง 8 ชม. ถ้าจะให้นั่งแคบๆ ก็คงไม่ดี และผู้ชมก็ต้องการติดตามข่าวสารการแข่งขันตลอดเวลา ทำให้มันต้องมีไวไฟความเร็วสูง รวมถึงเรื่องแสงสีเสียงที่มันต่างกับสนามกีฬาปกติชัดเจน” Rashed Singaby Senior Project Desiner ของ HOK บริษัทออกแบบ E-Sport Stadium กล่าว
นอกจาก Esports Stadium Arlington ยังมี HyperX Esports Arena ที่เปิดตัวเมื่อปีก่อนเช่นกัน ผ่านการมีพื้นที่ 2,800 ตร.ม. ผ่านการดัดแปลงจากโรงแรม และคาสิโนเก่า รวมถึง Fusion Arena พื้นที่ 5,600 ตร.ม. ที่เตรียมเปิดใช้งานในปี 2564 และจุได้ 3,500 ที่นั่ง มูลค่าลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,600 ล้านบาท)
E-Sport Stadium กับการตั้งอยู่ใกล้สนามกีฬาอื่นๆ
ที่สำคัญ E-Sport Stadium เหล่านี้ยังตั้งอยู่ใกล้ๆ สนามกีฬาดั้งเดิม เช่น Fusion Arena ที่ตั้งอยู่ใน South Philadelphia Sports Complex ที่มีสนาม Wells Fargo Center ที่ใช้แข่งบาสเกตบอล และฮอกกี้น้ำแข็งด้วย จุดนั้นเองทำให้คนอื่นๆ น่าจะรับรู้ว่า E-Sport ไม่ใช่แค่เด็กเล่นเกม แต่มันคือการแข่งขันกีฬาจริงๆ
“กลุ่มคนชื่นชอบ E-Sport นั้นมีกำลังซื้อ แต่พวกเขาเข้าถึงยาก เพราะไม่ได้ใช้สื่อดิจิทัลเดิมๆ หรือ Facebook และอื่นๆ จึงไม่แปลกที่แบรนด์สินค้าต่างๆ เริ่มลงทุนใน E-Sport Stadium เพื่อเข้าถึงกลุ่มดังกล่าว และสามารถต่อยอดธุรกิจได้อีกมุม” Eric Haggstrom นักวิเคราะห์ของ eMarketer กล่าว
ในสหรัฐอเมริกามีการคาดการณ์ว่า มูลค่าสนับสนุนการแข่งขัน E-Sport จะอยู่ที่ 457 ล้านดอลลาร์ (ราว 14,000 ล้านบาท) ดังนั้นมันก็มีโอกาสที่จะเกิด E-Sport Stadium อันใหม่มากขึ้นด้วย ส่วนในไทยนั้นปัจจุบันยังมีน้อยอยู่ และจุดอ่อนของ E-Sport Stadium ตอนนี้คือ จะหารายได้เวลาไม่มีการแข่งขันอย่างไร
สรุป
E-Sport Stadium เป็นอีกเรื่องที่น่าจับตามอง เพราะยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งสวนทางตลาด E-Sport ที่เติบโตอย่างชัดเจน ซึ่งในไทยถ้าให้เห็นจริงๆ ก็คงมีแค่ที่เดียวที่รองรับได้ จึงเชื่อว่าหลังจากนี้ต้องมี E-Sport Stadium มากกว่านี้แน่นอน
อ้างอิง // New York Times, Fusion Arena
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา