ผลการนับคะแนนในคืนวันเลือกตั้งที่ 8 พ.ย. โดยเฉพาะจากรัฐที่เป็น swing state ที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด ทำให้ Donald Trump เป็นประธานธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อตลาดการเงินในทางลบอย่างรุนแรง ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และตลาดใหญ่ในเอเชีย (อ่านประกอบ บทวิเคราะห์ ทำไม Donald Trump ถึงชนะการเลือกตั้ง?)
สำหรับการเลือกตั้งสภาคองเกรสเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ คือ พรรครีพับลิกันชนะเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรแต่มีจำนวนสมาชิกน้อยลงจากเดิมเป็น 234 ในสมาชิกสภาทั้งหมด 435 คน (ลดลงจากเดิมที่ 246 คน) แต่สำหรับวุฒิสภาที่มีการชิงชัยเพียง 1 ใน 3 ของเก้าอี้ทั้งหมดในการเลือกตั้งรอบนี้ พรรคเดโมแครตได้เสียงเพิ่มเป็น 47 ในจำนวนวุฒิสภาทั้งหมด 100 คน
- ผลการเลือกตั้งที่อยู่เหนือความคาดหมาย ทำให้ตลาดมีการปรับฐาน (correction) และความไม่แน่นอนที่จะคงอยู่ในระยะต่อไปทำให้นักลงทุนอยู่ในสภาวะ risk off ดังนั้น จึงไม่เป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น
- นักลงทุนออกไปซื้อสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาลทำให้ราคาสูงขึ้นและผลตอบแทน (yield) มีทิศทางต่ำลง
- ระดับการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุน (risk appetite) ที่ลดลงอย่างฉับพลันทำให้เงินไหลออกจากสหรัฐฯ ไปสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe-haven) ได้แก่ เยน ยูโร และ ฟรังก์สวิส ทำให้ค่าเงินเหล่านี้แข็งค่าขึ้นและมีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อไป
- ค่าเงินประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ตาม risk-off sentiment โดยค่าเงินบาทไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมีการลงทุนในไทยระดับต่ำอยู่แล้ว
- Fed มีแนวโน้มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. ออกไปจากความผันผวนที่เกิดขึ้น และต้องคอยจับตาความเสี่ยงจากนโยบายด้านการค้าและ immigration ของ Trump ซึ่งหากนำมาใช้อาจกระทบต่อตลาดแรงงานและเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ที่มีแรงส่งที่ดีมาโดยตลอด
- ECB และ BOJ จะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและอาจจะต้องผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นประกอบกับค่าเงินทั้งคู่ที่กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง
- ธปท. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยไม่มีแรงกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ยจากการไหลออกของเงินทุนมากนัก
ผลการเลือกตั้งที่เหนือความคาดหมายทำให้ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม และทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกในระยะสั้นคล้ายกับในกรณีของ Brexit เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายสุดโต่งที่ Trump ใช้ในการหาเสียงเป็นไปในทิศทางที่ต่อต้านความเชื่อเดิม (anti-establishment) อย่างการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนและเม็กซิโก หรือการเนรเทศแรงงานผิดกฏหมายกว่า 11 ล้านคนออกนอกสหรัฐฯ ซึ่งหากนโยบายดังกล่าวมีการนำมาใช้จริงอาจจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้
อย่างไรก็ดี นโยบายส่วนใหญ่อย่างการลดภาษีรายได้จะต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาคองเกรส ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีพรรครีพับลิกันเป็นเสียงส่วนใหญ่แต่ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยจากอดีตที่ผ่านมาสภาคองเกรสที่เป็นรีพับลิกันค่อนข้างให้ความสำคัญต่อการลดการขาดดุลการคลัง และสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งต่างจากนโยบายของ Trump ดังนั้น ความน่ากังวลจึงอยู่ที่สิ่งที่ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการโดยไม่ผ่านสภาคองเกรส อาทิ สามารถตั้งกำแพงภาษีระยะสั้น นโยบายความสัมพันธ์ทางการทูตและทหาร เป็นต้น (อ่านนโยบายของ Trump เพิ่มเติมที่ Outlook 3Q2016: https://www.scbeic.com/th/detail/product/2814)
จะเกิดอะไรขึ้นกับไทย
สำหรับไทย EIC มองผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมาจากด้านการค้า หากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยอย่างสหรัฐฯ และจีนมีการชะลอตัว การส่งออกไทยที่ฟื้นตัวในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาก็อาจจะสูญเสียแรงส่งไป การค้าโลกโดยรวมอาจจะหดตัวหากนโยบายการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงจนเป็นสงครามการค้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากตลาดการเงินโลกที่จะผันผวนรุนแรงขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบาย Trump อีกด้วย ในปี 2017 ยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่ต้องจับตามอง ทั้งกรณี Brexit รวมถึงการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา