ทำไม Donald Trump ถึงชนะการเลือกตั้ง?

ชัยชนะของ “ประธานาธิบดี” Donald Trump จะเป็นสิ่งที่ต้องพูดกันไปอีกนาน และเราคงเห็นความพยายามในการอธิบายปัจจัยเบื้องหลังชัยชนะของ Trump ว่าเพราะเหตุใด ผู้สมัครที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างเขาจึงได้รับคะแนนโหวตจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของสหรัฐ จนได้เป็นประธานาธิบดี

การถกเถียงในเรื่องนี้คงไม่ได้ข้อยุติโดยง่าย และคงมีต่อไปอีกนาน ในฐานะที่ผู้เขียนติดตามการเลือกตั้งครั้งนี้มาบ้าง ก็ขอร่วมวงอภิปรายด้วยเช่นกัน

ภาพจาก DonaldJTrump.com
ภาพจาก DonaldJTrump.com

ในภาพใหญ่แล้ว ชัยชนะของ Trump น่าจะเป็น “ปฏิกิริยา” (reaction) ของประชาชนชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบทางลบจากระบบทุนนิยมโลก (global capitalism)

ใช่ครับ อเมริกาคือเจ้าแห่งลัทธิทุนนิยม แต่อเมริกาเองก็ได้รับผลกระทบจากทุนนิยม ที่สร้างสภาวะโลกาภิวัฒน์ (globalization) ให้เกิดขึ้นทั่วโลก ทุนอเมริกันไหลเวียนไปยังที่ที่สามารถทำกำไรให้เจ้าของทุนได้มากที่สุด ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าอยู่ในอเมริกาเสมอไป เราจึงเห็นบริษัทอเมริกันย้ายฐานการผลิตไปยังจีน เอเชียตะวันออก และบรรดาประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมา

บริษัทเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากระบบทุนนิยม ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ได้ผลตอบแทนมหาศาล แต่ในทางกลับกันก็มี “ผู้แพ้” จากระบบทุนนิยมนี้ หนึ่งในผู้แพ้เหล่านั้นก็คือประชาชนชาวอเมริกัน (ส่วนหนึ่ง) ที่สูญเสียงาน ที่ชีวิตต้องยากลำบากเพราะรายได้ที่ลดลงนั่นเอง วัฏจักรเหล่านี้ยิ่งรุนแรงและรวดเร็ว เห็นผลได้ชัดเจนในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้าในรอบ 10 ปีให้หลัง

เราอาจพอเหมารวม (แบบหยาบๆ) ได้ว่า ชาวอเมริกันที่เป็นผู้ชนะในโลกทุนนิยมใหม่ ก็คือคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ของประเทศไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันออก (นิวยอร์ก) หรือฝั่งตะวันตก (แคลิฟอร์เนีย) ซึ่งมักเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต และมักมีมุมมองทางการเมืองที่ก้าวหน้ากว่า (progressive/liberal) ในขณะที่ผู้แพ้ในโลกทุนนิยมใหม่ คือชาวอเมริกันที่ยังคงอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบเดิม ธุรกิจแบบดั้งเดิม คือฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน

ภาพจาก DonaldJTrump.com
ภาพจาก DonaldJTrump.com

คนอเมริกันกลุ่ม progressive/liberal เองก็ไม่เข้าใจและงงงวยถึงความพ่ายแพ้ของ Hillary Clinton ครั้งนี้ ซึ่งก็มีหลายคนพยายามอธิบายมุมมองของคนที่ลงคะแนนให้ Trump โดย Matt Rosoff นักเขียนของเว็บไซต์ Business Insider อธิบายในบทความ Why Trump Won ว่าตัวเขาเองเป็นตัวแทนของคนฝั่งหัวก้าวหน้า แต่ก็มีญาติจากการแต่งงานที่อาศัยอยู่ในรัฐ Tennessee ที่โหวตให้กับ Trump

Rosoff เล่าว่ากลุ่มญาติของเขาทำงานในระบบธุรกิจแบบเก่า (แล็บล้างฟิล์ม, โรงงานกระดาษ) อย่างมีความสุขมาหลายสิบปี แต่คนหนึ่งต้องตกงานเพราะโลกของเราเลิกใช้ฟิล์ม และโรงงานกระดาษก็กำลังจะเลิกกิจการไป คนเหล่านี้ทราบดีว่านี่คือผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ แต่เขาก็ทราบดีว่าบรรดาผู้บริหารเจ้าของธุรกิจทั้งหลาย สนใจเรื่องผลกำไรมากกว่าชีวิตของผู้คนในชุมชนที่เคยทำงานให้กับบริษัทเหล่านี้

Rosoff ยอมรับว่าคนเหล่านี้ไม่มีเหตุผลหรอก และคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของชาติพันธุ์คนขาวที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มหลักของสหรัฐอเมริกา พวกเขาไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมได้ง่ายนัก เขาเคยได้ยินคนตะโกนด่ากันว่า “Mongolian Jews” ซึ่งคนพูดก็ไม่รู้หรอกว่าคืออะไร เอาเอเชียกับยิวมาผสมกันมั่วไปหมด

แต่ความไม่พอใจของคนเหล่านี้ล่ะ คือพลังที่โหวตให้กับ Trump เพราะคนเหล่านี้คือคนที่ไม่พอใจความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ พลังของโลกาภิวัฒน์ที่เข้ามาทำให้ชุมชนท้องถิ่นกำลังจะล่มสลาย และ Hillary Clinton คือ “ภาพสัญลักษณ์” ตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำที่มีความเป็นอยู่สุขสบาย แต่ไม่เข้าใจพวกเขาเลย

การโหวตลงคะแนนให้ Trump (และการโหวตให้ Bernie Sanders คู่แข่งในพรรคเดโมแครตของฮิลลารี) เป็นการส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มชนชั้นนำ (หรือที่เรียกกันว่า establishment) ว่า “Fuck You” มันก็เท่านั้นเอง

ภาพจาก DonaldJTrump.com
ภาพจาก DonaldJTrump.com

ผู้เขียนคิดว่าปัจจัยสนับสนุน Trump ยังเป็นภาวะความต่อเนื่องมาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ที่ส่งผลสะเทือนต่อปากท้องของชาวอเมริกันโดยตรง เพราะนับตั้งแต่ปี 2007-2008 เป็นต้นมา ประชาชนจำนวนมากต้องตกงานหรือสูญเสียบ้าน (จากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์) ปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านี้สั่งสมเป็นความเครียด ความกดดันมายาวนาน และรัฐบาลโอบามาเองก็ดูจะไม่มีคำตอบหรือทางออกให้กับประชาชนเหล่านี้เท่าไรนัก

สโลแกนของ Trump ที่ชูคำว่า It is time to DRAIN THE SWAMP in Washington D.C., and MAKE AMERICA GREAT AGAIN! จึงน่าจะสะท้อนความต้องการที่อยู่ในใจลึกๆ ของคนเหล่านี้ และต่อให้ยังเห็นภาพไม่ชัดว่า Trump จะแก้ปัญหาให้กับคนอเมริกันได้อย่างไร การเลือก Trump ที่สดใหม่กว่า ก็น่าจะดีกว่า Hillary Clinton ที่เป็นภาพต่อเนื่องของรัฐบาลพรรคเดโมแครตที่ทำงานมาแล้ว 8 ปี แต่ก็ยังไม่ได้ผลมากนัก (ทั้งที่ปัญหาจริงๆ อาจใหญ่กว่าที่พรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกันจะแก้ได้โดยลำพัง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ลงคะแนนโหวตสนใจ)

Ian Bremmer นักรัฐศาสตร์ผู้ก่อตั้งสถาบัน Eurasia Group วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ก่อนวันเลือกตั้งว่า ระบบการเมืองของอเมริกาเองก็โบร่ำโบราณ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศแล้วเช่นกัน กลุ่มชนชั้นนำ Establishment ที่อายุ 60-70 ปี ยังคิดจะบริหารประเทศด้วยวิธีการแบบเดิมๆ เหมือนที่ทำสมัย 20 ปีที่แล้ว ระบบการเมือง การล็อบบี้แบบเดิมๆ มันไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้ว

นอกจากนี้ Bremmer ยังมองในแง่กลุ่มประชากร (demographic) ว่ากลุ่มคนที่สนับสนุน Trump จะไม่มีจำนวนมากไปกว่านี้อีกแล้ว เพราะคนรุ่นนี้ (คนขาวที่มีอายุ แนวคิดอนุรักษ์นิยม เคร่งศาสนาคริสต์) จะค่อยๆ แก่ตายไป และกลุ่มคนรุ่นใหม่ของอเมริกาจะมีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรม (multicultural) มากขึ้น ตอนนี้คนกลุ่มหลังอาจยังมีเสียงโหวตไม่เยอะพอที่จะชนะการเลือกตั้ง แต่ในอีก 10 ปีต่อจากนี้ สถานการณ์น่าจะต่างจากปัจจุบันไปมาก (ซึ่งกรอบวิเคราะห์แบบนี้น่าจะเหมือนกับกรณีการโหวต Brexit ของสหราชอาณาจักร ที่มีปัจจัยเรื่องกลุ่มอายุของประชากรด้วย)

สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญจากนี้ไป อาจไม่ใช่คำถามว่า Trump ชนะได้อย่างไร แต่กลายเป็นว่า “Trump จะสามารถชนะใจกลุ่มประชากรที่เหลือ กลุ่มคนที่ไม่ได้เลือกเขาได้อย่างไร” มากกว่า

ภาพจาก Facebook Donald Trump
ภาพจาก Facebook Donald Trump

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา