ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นของเล่นคนรวยอยู่ เพราะถึงปรับราคาลงมาบ้าง แต่เมื่อรวมอุปกรณ์อื่นๆ โดยเฉพาะชุดชาร์จก็ทำให้หลายคนยังเลือกรถใช้น้ำมันเหมือนเดิม เมื่อเป็นอย่างนี้ผู้ขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจึงต้องคิดแผนใหม่
เลือกบุกตลาดองค์กรแทนผู้บริโภคทั่วไป
ต้องยอมรับว่าการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังค่อนข้างยาก ผ่านปัจจัยทั้งสถานีชาร์จที่ยังไม่เพียงพอ, การสนับสนุนด้านราคาจากภาครัฐที่น้อย รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ยังไม่จูงใจนัก แต่ในฝั่งองค์กรต่างๆ นั้นเริ่มศึกษาการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าบ้างแล้ว แถมมีความต้องการใช้งานจริง ซึ่งนั่นคือโอกาสใหม่ของผู้ค้ารถยนต์ไฟฟ้า
รณชัย จินวัฒนาภรณ์ ประธานบริหาร บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ BYD เล่าให้ฟังว่า Fleet Operation หรือการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าให้กับองค์เพื่อการพาณิชย์ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร หรือสิ่งของเป็นอีกโอกาสสำคัญในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งบริษัทก็พร้อมบุกตลาดนี้เต็มตัว
“การเอารถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานส่วนตัวค่อนข้างลำบาก ถ้าอยากชาร์จเร็วต้องเดินไฟ 3 เฟสซึ่งมันทำให้ค่าไฟขึ้นอัตโนมัติ จึงไม่แปลกที่เราเลือกทำตลาดกับระดับองค์กรมากกว่า ทั้งบริษัทขนส่ง และกลุ่มโรงแรม โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. ที่วันๆ หนึ่งมันวิ่งกันไม่เกิน 200 กม. แน่ๆ และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของเราก็รองรับไหว”
จาก Taxi VIP สู่รถ Limousine ของโรงแรม
ปัจจุบันการทำตลาดในรูปแบบ Fleet Operation นั้น Rizen Energy ได้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD รุ่น e6 ให้กับริษัท อีวี โซไซตี้ จำกัด จำนวน 101 คัน เพื่อให้บริการ Taxi VIP ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงอยู่ระหว่างขยายไปให้บริการในท่าอากาศยานดอนเมืองด้วย
ล่าสุดได้ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า BYD รุ่น e6 ให้กับโรงแรม Millennium Hilton Bangkok จำนวน 2 คันเพื่อใช้เป็น Limousine พลังงานสะอาดของโรงแรม และมีแผนเพิ่มจำนวนในอนาคต เพราะต้องการเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาเรื่องมลพิษ โดยเฉพาะตัวฝุ่นควันในกรุงเทพฯ ส่วนค่าบริการนั้นคิดที่ 1,800 บาท/เที่ยว
“ตัวพาร์ทเนอร์ด้านโรงแรมนั้น Millennium Hilton Bangkok เป็นรายแรกที่ร่วมกับเรา ซึ่งปัจจุบันมันก็มีโปรเจคในมือเยอะ โดยโครงการนี้เราจำหน่ายพร้อมกับตัวแท่นชาร์จ และบริการหลังการขายพ่วงไปด้วย ที่สำคัญตอนนี้เราก็มีคุยกับบริษัทขนส่งต่างๆ เพื่อจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD ด้วย”
เตรียมส่ง Model ใหม่พร้อมตอบโจทย์ทุกตลาด
ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า BYD รุ่นใหม่เช่น e3 รถแบบ MPV 7 ที่นั่ง, t3 รถตู้ขนส่งสินค้า 2 ที่นั่ง และรถแบบ SUV (ยังไม่บอกชื่อรุ่น) ซึ่งทั้งหมดนี้จะทยอยนำเข้าจากประเทศจีนเพื่อมาทำตลาดในไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 เป็นต้นไป
“ไตรมาส 3 ผมยืนยันว่าจะได้เห็นบริษัทขนส่งรายหนึ่งใช้รถยนต์ไฟฟ้าของ BYD นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบริษัทรถเช่าที่สนใจสินค้าของเราเหมือนกัน ยิ่งการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมาไทยได้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ทำให้ภาษีนำเข้าเหลือ 0% และเสียสรรพสามิต 8% ทำให้ตัวราคาก็น่าจะดึงดูดผู้สนใจด้วย”
ในทางกลับกันตอนนี้บริษัทยังไม่มีแผนขอสิทธิประโยชน์จาก BOI เพื่อสร้างโรงงาน เพราะยังไม่มีความจำเป็นในตอนนี้ หากมีความต้องการมากขึ้น การสร้างโรงงานอาจเป็น SKD หรือการประกอบบางชิ้นส่วนในไทย เพื่อให้ภาษีสรรพสามิตลดลงเหลือ 2% ก็มีความเป็นไปได้
สรุป
แม้จะยังจำหน่ายได้ไม่เยอะ แต่ตัวแทนจำหน่าย BYD ในไทยก็ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ที่ 1,000 คัน และคิดว่ายังมีความเป็นไปได้ ผ่านการเน้นทำตลาดแบบ Fleet Operation ที่จำหน่ายทีละมากๆ แต่นั่นแค่ส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อโดยสาร หรือขนส่ง แต่ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าแบบพาณิชย์จ๋าๆ ที่ยังรอจำหน่ายอยู่ทั้งฟอร์คลิฟท์ และรถบัส 24 ที่นั่ง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา