Startup 101 : บทเรียน – ความล้มเหลวของสตาร์ทอัพตัวพ่อ (2)

จากเมื่อวานที่ให้ตัวอย่างบทเรียน และความล้มเหลวของ Builk, Favstay และ Hubba คลิกอ่านได้ที่นี่ Startup 101 : บทเรียน – ความล้มเหลวของสตาร์ทอัพตัวพ่อ (1) คราวนี้มาต่อกันอีก 3 Startup ตัวพ่อของประเทศไทย ว่าแต่ละรายต้องเจออะไรบ้าง เพื่อให้ผู้อ่านได้นำมาปรับใช้กับทั้งการทำ Startup ของตนเอง หรือธุรกิจอื่นๆ

ภาพจาก pexels.com

สูตรสำเร็จไม่มี ต้องอึดเท่านั้น

ธีระชาติ ก่อตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท สยามสแควร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิเคราะห์หลักทรัพย์ StockRadars บอกว่า การจะเข้ามาเป็น Startup ได้ต้องอึด เพราะไม่มีสูตรสำเร็จในการให้แอปพลิเคชั่น หรือบริการที่สร้างขึ้นติดตลาด และเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งช่วงแรกก็แทบไม่มีทางที่สิ่งที่คิดจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ

“ผมว่ามันต้อง Learning by Doing นะ แต่จะมาเรียนรู้นานๆ ก็ไม่ได้ เพราะเมื่อเป็น Startup ก็ต้องมีนักลงทุน และคนนี้แหละจะทำให้เราช้าไม่ได้ ผ่านเป้ามายที่ทางนั้นให้ไว้ และผมก็เคยเจอกับเรื่องนี้มาก่อน รู้ว่าความกดดันมันเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังเคยเห็นรายที่ได้เงินไม่ทันเป้า พวกเขาก็ต้องตัวใครตัวมัน ดังนั้นต้องเข้าใจก่อนเลยว่า เป็น Startup ไม่ได้เท่ แต่กดดันแบบสุดๆ และต้องเรียนรู้ตลอดเวลา”

เมื่อไม่มีสูตรสำเร็จ การลองผิดลองถูกจึงจำเป็น และกว่าจะเจอหนทางที่ถูกต้องก็ต้องใช้เวลา ซึ่งตอนนั้นอาจเป็นเวลาที่แย่ที่สุด เพราะต้องพบกับปัญหา และการกดดันจากทุกช่องทาง ดังนั้น Startup ที่ดีจริง ต้องทนเรื่องนี้ให้ได้

apple-691471_1280
ภาพจาก pixabay.com

Prototype เรื่องสำคัญ มองข้ามอาจล้มได้

พรทิพย์ กองชุน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท จิตตะ ดอท คอม จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิเคราะห์หลักทรัพย์ Jitta บอกว่า การสร้างตัวทดลอง หรือ Prototype เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการนำ Product ไปให้คนกลุ่มหนึ่งทดลองใช้ จะทำให้การพัฒนา Product ทำได้ง่ายขึ้น และตรงความต้องการของผู้ใช้ ที่สำคัญการเชื่อมั่นใน Product ตัวเองมากเกินไป ก็เสี่ยงที่ Product นั้นจะไม่สำเร็จ

“เราเจอโจทย์ใหม่ทุกวัน และถ้าผิดพลาดก็ต้องไม่ทำซ้ำอีก ยิ่ง Jitta พัฒนา Product แบบ Zero to One การเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไปก็ทำให้เราพลาดมาแล้ว เพราะใส่ Feature ไปมากเกินไป จนผู้ใช้ไม่เข้าใจว่าต้องใช้ทำไม จนเราต้องมาพัฒนากันใหม่ ผ่านการทำ Prototype จนสรุปว่าผู้ใช้ต้องการแค่ 1.ซื้อหุ้นอะไร 2.ราคาเท่าไหร่ ที่สำคัญเราเลิกยึดติดกับ Growth เช่นกัน เพราะอยากค่อยๆ เติบโต เพื่อความยั่งยืน”

Startup หลายรายก็มีการพัฒนา Product แบบ Zero to One หรือจากไม่เคยมีมาก่อน มาเป็นบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในปัจจุบัน ดังนั้นการไม่ศึกษาตลาด และคิดว่า Product ตัวเองดี คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก และวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะรู้ว่า Product ตัวเองดีหรือไม่ ก็ต้องนำไปให้ผู้ใช้คนอื่นทดลอง และนำมาปรับให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

ESOP ไม่ช่วยอะไร ถ้าวัฒนธรรมองค์กรไม่เปลี่ยน

กิตตินันท์ อนุพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก จำกัด ผู้ให้บริการประกันภัยดิจิทัล ClaimDi ย้ำว่า ตอนนี้บริษัทเริ่มให้หุ้นพนักงาน หรือ ESOP (Employee Stock Ownership Plan) แล้ว ผ่านมูลค่าหุ้นปัจจุบันที่หลักล้านบาท และหากระดมทุนรอบถัดไปได้จะอยู่ที่ 3 ล้านบาท หาก Exit ได้ จะอยู่ที่ 15 ล้านบาท แต่ก็ยังมีทีมงานลาออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าเงินเยอะขนาดนี้ ทำไมถึงลาออกกัน

“ผมเป็น SME มากว่า 10 ปี ทีมงาน 25 คน แต่มีผมคนเดียวที่รู้สึกอินกับ Startup หลังจบโครงการ dtac Accelerate เพราะด้วยภาระงานรัดตัว ทำให้คนอื่นเข้ามาร่วมลำบาก ผมจึงต้องเข้าไปบอกทีมทุกคนว่าเราจะเป็น Startup แต่บางคนกลับตอบว่า ถามหนูหรือเปล่าว่าอยากเป็น Startup แบบพี่ จนตอนนั้นทั้ง Co – Founder และ Programmer ที่เก่งสุดก็ลาออก และยังมีบางคนที่มีเลือด SME อยู่ ดังนั้นเราก็คงค่อยๆ ปรับไป ผ่านการสื่อสาร และรับคนใหม่มาร่วมงาน”

ดังนั้น Startup จะสามารถพัฒนาต่อไปข้างหน้าได้ การให้หุ้นกับพนักงานก็อาจไม่ใช่ทางออกทั้งหมด หากแต่เป็น แนวคิด, เป้าหมาย และวัฒนธรรมองค์กรที่ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งกุญแจไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จ

สรุป

ในมุม Startup ไม่มีอะไรที่สำเร็จง่ายๆ เพราะทุกอย่างต้องอาศัยการเรียนรู้ ประกอบกับการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เพื่อตอบเป้าหมายนักลงทุน และขยายฐานผู้ใช้งานได้ และในปี 2560 ก็คงเห็น Startup สัญชาติไทยมากขึ้น เพราะใครๆ ก็อยากเข้ามา แต่จะเหลืออยู่กี่รายนั้นอันนี้ต้องดูกันอีกที เนื่องจากขนาดตัวพ่อยังเหนื่อย แล้วรุ่นลูก รุ่นหลาน ถ้าไม่นำบทเรียนที่พ่อสอนมาปรับตัว ก็คงยากที่จะรอด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา