Startup 101 : บทเรียน – ความล้มเหลวของสตาร์ทอัพตัวพ่อ (1)

หลายคนคงเห็นมุมความสำเร็จของ Startup ไทยมาแล้ว จนเด็กรุ่นใหม่ และคนมีฝันเกือบทุกคนอยากกระโดดเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรม Startup บ้าง แต่วันนี้ Brand Inside จะฉายภาพในมุมความล้มเหลว และบทเรียนต่างๆ ให้รู้ว่าสตาร์ทอัพไม่ได้สวยหรู ผ่านประสบการณ์ของสตาร์ทอัพระดับท็อปของประเทศไทย

นี่ถือเป็นตอนที่ 1 เท่านั้น ยังมี Startup ตัวพ่อ อีก 3 รายในตอนที่ 2 คลิกไปอ่านกันได้ที่นี่ Startup 101 : บทเรียน – ความล้มเหลวของสตาร์ทอัพตัวพ่อ (2)

whiteboard-849810_1280
ภาพจาก // pixabay.com

เจ็บทั้งๆ ที่รู้ แต่ก็ต้องสู้ต่อไป

ไผท ผดุงถิ่น กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Builk เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 5 ปีก่อน เคยเจอหลายๆ คนบอกว่าทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะนำโปรแกรมไปให้คนอื่นใช้งานฟรีมันหารายได้ลำบาก แทนที่จะใช้วิธีขาย และใช้โมเดลรายได้เดิมในการต่อยอดธุรกิจ แต่การโดนดุบ่อยๆ ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะหน้าจะชาไปเรื่อยๆ แต่ก็แลกมากับการรู้ว่าจุดไหนคนชอบ คนไม่ชอบได้เร็วขึ้น

“ผมลองผิดลองถูกมาเยอะ แต่ก็ผิดไปซะ 8 จาก 10 อย่าง ที่บางคนบอกว่าผิดก็ผิดจริงๆ แต่ที่เขาบอกว่าผิด แต่เราทำถูกก็มี ดังนั้นอยากเป็น  Startup มันต้องเจ็บ และเรียนรู้ไปกับมันจริงๆ เพราะถ้าผมขายซอฟต์แวร์เกี่ยวกับบริหารจัดการธุรกิจก่อสร้างให้กับองค์กรใหญ่ๆ ก็พออยู่ได้ แต่พอกระโดดออกมาแจกโปรแกรมฟรีให้คนอื่น มันก็ต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่ และเข้าใจว่าเส้นทางสตาร์ทอัพไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบชัดขึ้น”

ทั้งนี้การลองผิดลองถูกถือเป็นเรื่องปกติของสตาร์ทอัพ เพราะมันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ทำให้ Entrepreneur ใหม่ๆ ถ้าไม่มี Passive Skill ในเรื่องความอดทน ก็คงยากที่จะสร้างสินค้า หรือบริการให้เติบโตในแบบ Startup ได้

ภาพจาก // pixabay.com
ภาพจาก // pixabay.com

คนอื่นไม่เข้าใจเท่ากับโตลำบาก

สุชาดา เตโชติรส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท เฟฟสเตย์ พีทีอี จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มให้เช่าคอนโดตากอากาศ Favstay บอกว่า ช่วงแรกไม่มีใครเข้าใจว่าบริการของบริษัทคืออะไร โดยเฉพาะเรื่อง Sharing Economy แต่ยังดีที่บริษัทมีคอนโดตากอากาศให้เช่าอยู่จำนวนหนึ่ง จึงนำสถานที่เหล่านี้เข้าระบบ และพยายามสื่อสารไปยังผู้มีคอนโดตากอากาศมาปล่อยเช่ากับเรา

“มีแค่เราที่เข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่คนอื่นไม่เข้าใจเลย เพราะแพลตฟอร์มแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ช่วงแรกเราก็ถูกปฏิเสธเยอะ เหตุผลหลักๆ คือเจ้าของห้องคอนโดไม่ไว้ใจเราว่าถ้าปล่อยเช่าแล้ว ห้องพักเราจะยังเหมือนเดิมหรือไม่ ดังนั้น Favstay จึงปรับตัว และชูจุดเด่นเรื่องการดูแลบ้านให้อยู่ในสภาพดีเหมือนเดิม เพื่อสร้างความเชื่อใจให้กับเจ้าของห้อง และผู้พักอาศัย ก่อนที่จะมีห้องพักให้เลือกกว่า 5,000 ห้องในระบบ”

ดังนั้นการสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ จึงเป็นอีกวิธีที่จะเอาตัวรอดจากความล้มเหลวได้ เพราะเมื่อคนอื่นเข้าใจ การยอมรับของทั้งผู้ใช้งานก็จะเพิ่มขึ้นอัตโนมัติ

startup-594091_1280
ภาพจาก // pixabay.com

เริ่มจากอะไรที่ไม่สเกลก็ยังเป็นไปได้

อมฤต เจริญพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ฮับบา จำกัด ผู้ให้บริการ Co – Working Space ในชื่อ Hubba เล่าว่า การสร้างบริการ หรืออะไรที่ดูเหมือนจะไม่สเกล ก็สามารถเติบโตได้ อย่างเช่นธุรกิจ Co – Working Space ที่ปกติหากอยากขยายสาขา ก็ต้องเก็บเงินรายได้จำนวนหนึ่ง เพื่อไปลงทุนอีกรอบ แต่ตอนนี้ Hubba เปลี่ยนโมเดลเป็นจับมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เพื่อขยายแทน

“ตอนนี้เราได้ร่วมกับกลุ่มแสนสิริ และกลุ่มสยามพิวรรธน์ เพื่อไปเป็นพื้นที่ Co – Working Space ให้กับพวกเขา ทำให้การลงทุนเกี่ยวกับการขยายสาขาก็ลดลง แต่ทั้งนี้ต้องปรับเรื่อง Operation ต่างๆ ด้วย เพื่อยกระดับจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ เป็นสังคมของผู้ทำงานได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ร่วมกัน ที่สำคัญเชื่อว่าโอกาสยังมีเสมอ และ Startup หน้าใหม่ควรมองธุรกิจที่เกี่ยวกับตนเอง ก่อนที่จะมองเรื่อง Founder ด้วย”

จากเหตุผลนี้ทำให้รู้ว่า Startup ไม่ต้องเน้นการ Scale Up ก่อนก็ได้ เพราะการเติบโตยังมีวิธีอื่นๆ ที่ทำได้ สังเกตจากกลุ่มบริการ FinTech ที่หันไปร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพื่อเติบโตไปด้วยกัน

สรุป

Startup ยังมีบทเรียน และความล้มเหลวที่ให้เป็นกรณีศึกษาอีกมากมาย และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีใครสอน ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เจ็บเอง ล้มเองทั้งนั้น แต่ในวันพรุ่งนี้จะมีตัวพ่ออีก 3 คนฉายภาพให้ดูจนจบเรื่องบทเรียน และความล้มเหลว จะเข้มข้นขนาดไหน ต้องติดตามกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา