หรือตำนานแห่ง Jack Welch กำลังจะสิ้นสุดลง? GE ยักษ์ใหญ่แห่งโลกอุตสาหกรรมสหรัฐอเมริกา กำลังประสบปัญหาอย่างหนักในรอบ 2-3 ปีมานี้ ตั้งแต่มูลค่าหุ้นตกฮวบฮาบ และต้องเปลี่ยนตัวซีอีโอใหม่ 2 ครั้งในรอบ 2 ปีติดต่อกัน
GE หรือ General Electric เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยโทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้คิดค้นหลอดไฟและระบบไฟฟ้ายุคใหม่ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก JP Morgan พ่อมดแห่งโลกการเงินในยุคนั้น (เอดิสันจดทะเบียนบริษัทในปี 1889 ส่วนบริษัท General Electric เกิดจากการควบรวมระหว่าง Edison General Electric Company ของเอดิสัน กับ Thomson-Houston Electric Company ในปี 1892)
จากยุค Welch สู่ยุค Immelt
นับถึงปัจจุบัน GE ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง 126 ปี ผ่านการเปลี่ยนผ่านมาหลายครั้งให้เอาตัวรอดจากยุคสมัย โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในทศวรรษ 80s ด้วยฝีมือของแจ็ค เวลช์ (Jack Welch) ผู้ฝากฝีมือการพลิกฟื้น GE ขึ้นสู่จุดสูงสุด เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในสหรัฐอเมริกา (6 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2000) ส่วน Welch ก็ได้รับการยกย่องในฐานะตำนานของวิชาบริหารธุรกิจจนกระทั่งปัจจุบัน
GE ในยุคของ Welch ขยายจากอุตสาหกรรมหนัก การบิน พลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ มากมาย เช่น พลาสติก, GE Healthcare, ธุรกิจการเงิน GE Capital, ธุรกิจประกันภัย, ธุรกิจสื่อ NBCUniversal
Welch นั่งเก้าอี้ซีอีโอของ GE เป็นเวลายาวนานถึง 20 ปี (1980-2000) เมื่อเขาเกษียณ ก็ส่งไม้ต่อให้กับ Jeff Immelt เป็นผู้สืบทอด ซึ่ง Immelt ก็ครองตำแหน่งยาวนานถึง 17 ปี และประกาศเกษียณอายุในปี 2017
เพียงไม่กี่วันแรกที่ Immelt ขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอ (เขาได้รับการเลือกช่วงปลายปี 2000 และรับตำแหน่งจริงในเดือนกันยายน 2001) เขาก็เผชิญอุปสรรคสุดท้าทายคือเหตุการณ์ 9/11 ที่ทำให้อุตสาหกรรมการบินแทบจะล่มสลาย และลากเอาธุรกิจเครื่องยนต์เจ็ตของ GE เจ๊งตามไปด้วย
Immelt สามารถกอบกู้ GE กลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง แต่เขาก็เผชิญปัญหาใหม่อีกครั้งกับวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ที่ทำให้ธุรกิจการเงิน GE Capital ต้องเผชิญวิกฤตอีกครั้ง เนื่องจาก GE Capital เป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล มีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของกำไรทั้งบริษัท เรียกได้ว่าฝั่งอุตสาหกรรมของ GE ยืนอยู่ได้เพราะกำไรจาก GE Capital นั่นเอง
จากปัญหา GE Capital สู่ปัญหา GE Power
Immelt ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐมาช่วยอุ้ม GE Capital และหลังจากวิกฤตผ่านพ้นไป เขาก็ขายทรัพย์สินเกือบทั้งหมดของ GE Capital ออกไป (หมายเหตุ: GE Capital เคยเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก่อนขายหุ้นให้กับกลุ่ม MUFJ ของญี่ปุ่นในปี 2013 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขายทรัพย์สินของ GE ด้วย)
หลังวิกฤต GE Capital ทำให้ Immelt ตัดสินใจเปลี่ยนผ่าน GE เข้าสู่ยุคใหม่ เขาขายทรัพย์สินของ GE Capital ออกไป แล้วไปซื้อกิจการด้านพลังงานของ Alstom บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสที่กำลังประสบปัญหาในปี 2014 เพื่อหวังว่าจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกพลังงาน ครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จ โดยมี GE Power เป็นแกนกลางของบริษัทในยุคใหม่
แต่ปัญหาภายในของทั้ง Alstom และธุรกิจ GE Power ในภาพรวมที่ซุกซ่อนปัญหาด้านการเงินผ่านการกลไกทางบัญชี ทำให้ GE Power กลายเป็นหลุมดำของ GE บริษัทแม่ที่สร้างภาระให้มากมาย และผลประกอบการต่ำกว่าเป้าหมายเพราะต้องนำเงินไปโปะให้กับ GE Power และนำเงินไปซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุนในช่วงปลายของยุค Immelt ส่งผลให้นักลงทุนบีบให้ Immelt ต้องลงจากตำแหน่งซีอีโอ
John Flannery ซีอีโอปีเดียว
บอร์ดของ GE ตัดสินใจเลือก John Flannery ซีอีโอของ GE Healthcare ขึ้นมาเป็นซีอีโอคนใหม่ของ GE โดยเริ่มงานในเดือนสิงหาคม 2017
แต่วาระของ Flannery กลับสั้นอย่างน่าใจหาย เพราะเขาถูกบอร์ดสั่งปลดอย่างฉับพลันในเดือนตุลาคม 2018 นั่งอยู่ในเก้าอี้นี้เพียงปีกว่าๆ เทียบไม่ได้เลยกับ Welch และ Immelt ที่ครองเก้าอี้มายาวนานเกือบ 20 ปี
GE ไม่ได้แถลงเหตุผลที่ปลด Flannery อย่างชัดเจน แต่ก็มีข่าวออกมาว่าบอร์ดไม่พอใจกับความล่าช้าของ Flannery ในการแก้ปัญหาที่หมักหมมไว้ตั้งแต่ยุคของ Immelt
Flannery รับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2017 ท่ามกลางวิกฤตที่รุมเร้า แต่เขากลับขอเวลาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2017 เพื่อเรียนรู้ปัญหาอย่างถ่องแท้ แล้วค่อยประกาศแผนการพลิกฟื้นกิจการ ซึ่งนักลงทุนก็ไม่ประทับใจกับแผนของเขาเพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบชัดเจน และตัวของ Flannery เองก็ขอให้ทุกคนอดทน เพราะปัญหาต่างๆ ที่เขาพบไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย ต้องใช้เวลาหลายปี
บอร์ดของ GE ไม่พอใจกับฝีมือของ Flannery และเริ่มมองว่าเขาไร้ความสามารถ จึงตัดสินใจเสนอ Larry Culp หนึ่งในบอร์ดของ GE และอดีตซีอีโอของบริษัทอุตสาหกรรม Danaher มาเป็นซีอีโอคนใหม่แทนในเดือนตุลาคม 2018
Larry Culp ซีอีโอคนนอกคนแรกในประวัติศาสตร์ GE
Danaher เป็นบริษัทอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องมือด้านการแพทย์และทันตกรรม ภายหลังก็ขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ตรวจวัด อุปกรณ์ควบคุมการพิมพ์ และซอฟต์แวร์ในสายงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทลูกที่โด่งดังคือ Pantone ที่มีชื่อเสียงเรื่อง “สี”
Larry Culp สร้างชื่อจากการเป็นซีอีโอของ Danaher ระหว่างปี 2000-2014 ซึ่งประสบความสำเร็จในแง่ผลประกอบการ เขาถูกเชิญมาเป็นบอร์ดของ GE ช่วงต้นปี 2018 ด้วยเหตุผลว่า Flannery ต้องการคนที่เคยมีประสบการณ์บริหารกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เข้ามาให้คำแนะนำในฐานะบอร์ด แต่เขาไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว Culp จะกลายมาเป็นซีอีโอแทนที่เขาเสียเอง
ความสามารถของ Culp เป็นที่ประจักษ์ในหมู่บอร์ด สวนทางกับภาพลักษณ์ของ Flannery ในสายตาของบอร์ด ทำให้บอร์ดตัดสินใจปลด Flannery ที่นั่งทำงานมาเพียง 14 เดือน เป็นซีอีโอที่อายุสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของ GE
และตั้ง Culp เป็นซีอีโอคนใหม่ ซึ่งก็เป็นซีอีโอคนนอกคนแรกในประวัติศาสตร์ของ GE เช่นกัน
บทความของ Wall Street Journal ระบุว่า Culp ไม่ได้อยากเป็นซีอีโอในตอนแรก เพราะเขาเกษียณจากงานประจำมานาน 3 ปีแล้ว แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็ตัดสินใจรับตำแหน่ง
การบริหารงานของ Culp กับภารกิจสุดท้าทายในการกอบกู้ GE ยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ แต่เขาก็ส่งสัญญาณว่าจะทำงานให้เร็ว และบอกว่า GE Power ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากที่ซุกซ่อนเอาไว้
ปัจจุบันหุ้นของ GE มีมูลค่าลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2000 ถึง 90% และอาณาจักรที่ Jack Welch สร้างไว้ ไม่น่าจะหลีกเลี่ยงจากการแยกส่วนบางกิจการออกไปได้พ้น
Jack Welch ซึ่งปัจจุบันอายุ 83 ปี ให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่พอใจกับผลงานของ Immelt ที่เขาเลือกมาเป็นผู้สืบทอด เพราะปัญหาที่ Immelt สร้างเอาไว้กลายเป็นวิกฤตใหญ่ของ GE แต่เขาก็ได้แต่หวังว่า Culp จะสามารถสร้าง GE ยุคใหม่ได้สำเร็จ
ข้อมูลจาก Wall Street Journal
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา