Skyscanner เปิดเทรนด์การท่องเที่ยวของคนไทยในปี 2562 พบว่าคนไทยยอมจ่ายแพงมากขึ้นแลกความสบาย เริ่มมองเส้นทางใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์แตกต่าง
Skyscanner เจาะบิ๊กดาต้าพฤติกรรมจองตั๋วของคนไทย พบว่าคนไทยยังคงฮิตเที่ยวปลายทางยอดนิยม ให้ความสำคัญกับวิธีท่องเที่ยวให้คุ้มค่า และชอบได้รับบริการพิเศษขึ้นกว่าเดิมนอกจากนี้ยังสนใจประสบการณ์ที่แตกต่างในสถานที่แปลกใหม่อย่างเช่น เมืองดาลัด (ประเทศเวียดนาม) และเมืองชัยปุระ (ประเทศอินเดีย) เป็นจุดหมายที่คนไทยค้นหามากจนขึ้นมาติด TOP 100 ในปี 2561
จากการรวบรวมข้อมูลราคาของเว็บ Skyscanner เว็บไซต์ค้นหาตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ที่พัก และรถเช่าชั้นนำของโลก พบว่านักท่องเที่ยวไทยเลือกประสบการณ์ท่องเที่ยวที่แตกต่างและบริการหรูหรากว่าเดิม แต่ยังคงให้ความสำคัญกับวิธีท่องเที่ยวให้คุ้มค่าที่สุด เช่น การจองตั๋วเครื่องบินชั้นที่สูงขึ้นในราคาที่ไม่แพงเกินไป โดยคาดการณ์ว่าในปี 2562 ปลายทางใหม่ ๆ และสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมจะเติบโตขึ้นอีก รวมถึงบริการท่องเที่ยวแบบพิเศษก็จะได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งมี 4 แนวโน้มหลักดังนี้
-
เทรนด์บินหรูมาแรง คนไทยยอมจ่ายแพง แลกความสบายขึ้น
คนไทยกล้าใช้จ่ายเพื่อแลกกับความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะกับเรื่องท่องเที่ยวที่พร้อมจ่ายเพื่อแลกกับประสบการณ์พิเศษทั้งนี้การันตีด้วยตำแหน่งอันดับ 4 ของประเทศที่มียอดการจองตั๋วเครื่องบินระดับ Business Class มากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก (APAC) เป็นรองเพียงประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้
ซึ่งเป็นผลจากรสนิยมที่ชอบได้รับบริการท่องเที่ยวแบบพิเศษยิ่งขึ้น รวมถึงค่าโดยสารระดับ Business Class และ Premium Economy Classที่ปรับลดลงเฉลี่ย 6%-10%
นอกจากนี้ยังพบว่าในปี 2561 นักท่องเที่ยวไทยจองตั๋วระดับ Business Class เพิ่มขึ้น 36% และจองตั๋วระดับ Premium Economy Class เพิ่มขึ้น 24% ซึ่งหากเป็นการโดยสารระหว่างประเทศระยะไกลคนไทยจะนิยมจองตั๋วระดับ Premium Economy Class เพิ่มขึ้น 43% เพื่อการเดินทางที่สะดวกสบายเป็นพิเศษแต่ถ้าเดินทางภายในประเทศหรือระหว่างประเทศระยะใกล้ คนไทยจะเลือกรับบริการที่หรูหราด้วยการจองตั๋วระดับ Business Class มากขึ้น 35%
-
คนไทย “เสิร์ช” ที่แปลกใหม่ แต่ยัง “จอง” ไปที่เดิม
นักท่องเที่ยวไทยเริ่มค้นหาเที่ยวบินไปยังปลายทางอื่นๆ ทั้งในเอเชียและยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากปลายทางน้องใหม่มาแรงที่มีคนค้นหาจนขึ้นมาติด TOP 100 ในปี 2561 เช่น เมืองดาลัดประเทศเวียดนามมีอัตราการค้นหาเพิ่มขึ้น 859% รองลงมาเป็นเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย ที่มีอัตราการค้นหาเพิ่มขึ้น 367% และเมืองทบิลีซี ประเทศจอร์เจีย ที่มีอัตราการค้นหาเพิ่มขึ้น 125%
อย่างไรก็ตาม ปลายทางที่มียอดจองตั๋วไปเที่ยวสูงที่สุดในปี 2561 ยังคงเป็นประเทศยอดนิยมอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ซึ่งคาดว่ายังคงครองแชมป์ต่อไปในปี 2562 แต่ด้วยเทรนด์การเสิร์ชที่เริ่มเปลี่ยนไป ก็เป็นไปได้ว่าจุดหมายใหม่ ที่คนไทยมองหากำลังจะกลายเป็นที่เที่ยวในฝันของหลาย ๆ คน ซึ่งอาจได้รับความนิยมมียอดจองพุ่งสูงขึ้นได้ในอนาคต
-
กล้าจ่ายแพงแต่ก็จ่ายเป็น เน้นโปรสุดคุ้มค่า
ในปี 2561 นักท่องเที่ยวไทยใช้เวลาค้นหาเที่ยวบิน (Flight Search) เพื่อเตรียมตัวก่อนเดินทางนานขึ้นจาก 43 วัน เป็น 45 วัน แต่เวลาตัดสินใจจองตั๋วก่อนเดินทางยังคงเป็น 41 วันเหมือนเดิม ซึ่งข้อมูลดังกล่าววิเคราะห์ได้ว่านักท่องเที่ยวไทยใช้เวลาเตรียมตัวท่องเที่ยวนานขึ้นกว่าเดิมเพื่อค้นหาข้อเสนอตั๋วเครื่องบินราคาคุ้มค่าที่สุด โดยให้ความสำคัญในการค้นหาจนถึงวินาทีสุดท้าย
เนื่องจากทั้งสายการบินและกลุ่มเว็บไซต์ให้บริการท่องเที่ยวออนไลน์ (OTAs) มีข้อเสนอใหม่ๆ เข้ามาให้พิจารณาอยู่เสมอ จึงไม่น่าแปลกใจคนไทยใช้เวลาค้นหานานขึ้นและใช้เวลาตัดสินใจน้อยลง โดยจองตั๋วใกล้กับวันเดินทางมากขึ้น
-
2562 เป็นปีแห่งการเที่ยวเมืองหรู ในราคาเมืองรอง
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวไทยในปี 2019 คือโอกาสที่จะได้ไปเที่ยวเมืองใหญ่ในราคาประหยัดกว่าเดิม พบว่าในปี 2561 อัตราค่าโดยสารตั๋วเครื่องบินไปยังหลายเมืองยอดนิยมทั่วโลกได้ปรับลดลง ซึ่งนักท่องเที่ยวไทยสามารถใช้ข้อมูลนี้เป็นตัวช่วยสำหรับวางแผนท่องเที่ยวปี 2562 ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น
โดยเป็นจังหวะดีที่จะได้เที่ยวเมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก ออร์แลนโด และพอร์ตแลนด์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากค่าตั๋วเครื่องบินลดลงเฉลี่ย 12%-15% ขณะเดียวกันในเอเชียก็เหมาะจะไปถ่ายรูปสวยๆ โดยไม่ต้องจ่ายแพงอย่างเคยที่เกาะมาเลของประเทศมัลดีฟส์เพราะค่าตั๋วปรับลดลง 14%
โอกาสแพลนทริปในราคาสบายๆ นี้ยังรวมถึงหลายปลายทางสุดฮิตของคนไทยไม่ว่าจะเป็นเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ค่าตั๋วลดลง 11% เมืองบาหลีประเทศอินโดนีเซีย ค่าตั๋วลดลง 10% ตลอดจนเมืองเลห์ และเมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย ค่าตั๋วก็ลดลง 10%-12% นอกจากนี้ในปีหน้าตั๋วเครื่องบินไปยังประเทศไต้หวัน กรีซ และฟิลิปปินส์ ก็มีแนวโน้มว่าจะปรับลงราว 4%-6% ด้วยเช่นกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา