จากกรณีที่ Bloomberg ได้ตีพิมพ์บทความเรื่องสหรัฐค้นพบชิปที่อาจเป็นไปได้ว่าทางการจีนติดตั้งในเมนบอร์ดเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทต่างๆ อาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสงครามการค้าได้อย่างไร
ข่าวไอทีรวมไปถึงข่าวธุรกิจในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ข่าวดังที่สุดคงจะหนีไม่พ้นเรื่องที่บทความของ Bloomberg ได้เสนอข่าวที่เจอชิปในเมนบอร์ดเซิร์ฟเวอร์ของ Supermicro ซึ่งสร้างแรงกดดันทางการเมือง รวมไปถึงเรื่องธุรกิจที่อาจถึงขั้นทำให้บริษัทผลิตสินค้าไอทีอาจย้ายฐานการผลิตได้อีกรอบ
เจอชิปลับในเมนบอร์ดเซิร์ฟเวอร์
สำนักข่าว Bloomberg ได้ตีพิมพ์รายงานพิเศษระบุว่าทางจีนได้ฝังชิปพิเศษขนาดเล็กลงในเมนบอร์ดเซิร์ฟเวอร์ของ Supermicro ซึ่งเป็นที่นิยมในบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งชิปมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถตรวจสอบด้วยวิธีปกติได้ และจากการสืบสวนของหน่วยงานของสหรัฐได้กล่าวว่าเบื้องหลังเรื่องนี้อาจเป็นกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน โดยได้ส่งคนเข้าไปติดตั้งชิปในช่วงที่ Supermicro มีกำลังการผลิตเมนบอร์ดเหล่านี้ไม่พอ จนต้องจ้างโรงงานในจีนเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2015 โดยมีบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ได้รับผลกระทบประมาณ 30 แห่ง
สำหรับการทำงานของชิปขนาดจิ๋วดังกล่าวที่เล็กกว่าเมล็ดข้าวนี้คือทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องสามารถติดต่อกับเครื่องอื่นๆ สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลบางอย่างในระหว่างส่งข้อมูล ซึ่งอาจทำให้เกิดการโจมตีหรือแม้แต่ขโมยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้
ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ Bloomberg กล่าวถึง เช่น Amazon มีการใช้อุปกรณ์จาก Supermicro นำไปใช้ในระบบคลาวด์ AWS หรือแม้แต่ Apple เองก็ใช้เมนบอร์ดจาก Supermicro เช่นกัน แล้วในท้ายที่สุดก็ยกเลิกการใช้อุปกรณ์จาก Supermicro
ผลกระทบจากข่าวนี้ทำให้หุ้นของ Supermicro ตกลงมามากถึง 45% ในวันที่บทความนี้เผยแพร่ออกมา
ต่างฝ่ายต่างปฏิเสธ
อย่างไรก็ดีบริษัทไม่ว่าจะเป็น Supermicro เอง Apple หรือ Amazon รวมไปถึงรัฐบาลจีนได้ออกมาปฏิเสธข่าวนี้หลังจากการเผยแพร่บทความของ Bloomberg
โดย Supermicro ยืนยันว่าไม่พบชิปดังกล่าว ซึ่งโรงงานในการผลิตมีมาตรฐานสูง และในขั้นตอนการผลิตก็มีการตรวจสอบและประเมินมาโดยตลอด นอกจากนี้บริษัทยังปฏิเสธว่าไม่ได้รับการติดต่อจากทางการจีนแต่อย่างใด
ส่วน Apple รวมไปถึง Amazon ได้กล่าวว่าจากเรื่องดังกล่างบริษัทไม่เคยแจ้งปัญหานี้แก่รัฐบาลสหรัฐแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังไม่เคยเจอกรณีดังกล่าวอีกด้วย
ความกังวลจากนักการเมืองสหรัฐ
เรื่องที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลในเรื่องความมั่นคงของสหรัฐ โดยนักการเมืองจากทั้ง 2 พรรคไม่ว่าจะเป็นทั้งเดโมแครตและรวมไปถึงรีพับลิกันต่างก็แสดงความกังวลว่าจีนกำลังจะกลายเป็นภัยความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นทั้งรัฐบาลสหรัฐเอง และรวมไปถึงบริษัทเอกชนของสหรัฐกลายเป็นเป้าในเรื่องนี้
นอกจากนี้ John Bolton ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐ ได้แสดงความกังวลในเรื่องความพยายามของจีนที่พยายามคุกคามระบบไซเบอร์ของสหรัฐ แต่เขาเองไม่สามารถที่จะตอบเรื่องรายละเอียดอื่นๆ ได้ เนื่องจากมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับข่าวกรองของสหรัฐ
ในช่วงรัฐบาลของทรัมป์เองได้มีการพบว่ามีความพยายามจากจีนที่จะแฮ็กเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของเอกชนในสหรัฐเพื่อที่จะขโมยข้อมูลต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย
เกี่ยวกับสงครามการค้าได้ยังไง
สำหรับบทความที่ Bloomberg ได้เผยแพร่ออกมานั้นค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับประธานาธิบดีทรัมป์เองได้พูดถึงเรื่องที่จีนพยายามที่จะขโมยเทคโนโลยีจากเอกชนสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องสงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมาที่สหรัฐพยายามที่จะทำให้จีนเจรจาเรื่องสงครามการค้า
ประเด็นสำคัญที่สหรัฐพยายามบีบจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิบัตร การขโมยเทคโนโลยี รวมไปถึงการที่ทางการจีนบังคับให้บริษัทเอกชนต่างๆ ที่ไปลงทุนในประเทศจีนต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบไม่เป็นธรรม ทำให้สหรัฐต้องเล่นเกมโดยการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเพื่อบีบจีนทางอ้อม
นอกจากนี้บทความดังกล่าวนี้ยังสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อสินค้าไอทีที่ผลิตในจีน ซึ่งรัฐบาลจีนพยายามที่จะผลักดันประเทศจีนเป็นหนึ่งในด้านการผลิตสินค้าไฮเทคอีกด้วย
บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับสงครามการค้า
- บทวิเคราะห์ สงครามการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และ จีน เกมนี้จะจบอย่างไร
- ผอ. IMF คาดสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกชะงัก เตรียมประชุมในอาทิตย์หน้า
- จีนตั้งกำแพงภาษีโต้กลับสหรัฐฯ อีกแล้ว!! หลังจากนี้ทั้ง 2 ประเทศจะเจรจาการค้ากันได้ไหม?
ความเป็นไปได้ที่อาจย้ายฐานการผลิต?
เรื่องนี้อาจเพิ่มแรงกดดันให้กับบริษัทที่ผลิตสินค้าไฮเทคในจีนอาจย้ายฐานการผลิตสินค้าออกมา เนื่องจากความกังวลในเรื่องความปลอดภัย โดยก่อนหน้านี้ก็มีความกังวลจากสินค้าไอทีจากจีนว่าอาจไม่ปลอดภัย โดยจีนนั้นเป็นฐานการผลิตและรวมถึงการประกอบสินค้าไอทีต่างๆ ขนาดใหญ่ของโลก
คาดว่าประเทศในกลุ่ม ASEAN อาจได้รับผลประโยชน์ หากมีการย้ายฐานการผลิตและประกอบสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทจากจีนที่ผลิตสินค้าอื่นๆ เองก็สนใจ ASEAN เนื่องจากค่าแรงที่ถูก แรงงานค่อนข้างมีฝีมือ และไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอีกด้วย
อย่างไรก็ดีการย้ายฐานการผลิตสินค้าไอทีต่างๆ อาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี แต่เรื่องนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมถึงความไม่ไว้ใจในห่วงโซ่การผลิตในจีนเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้เราอาจต้องรอดูท่าทีตอบโต้จากทางการจีน รวมไปถึงในสภาสหรัฐว่าจะผลักดันประเด็นนี้ต่อเนื่องหรือไม่
ที่มา – Bloomberg [1], [2], [3]
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา