SCB เปิดตัว Easy E-KYC ธนาคารแรกที่สามารถเปิดบัญชีใหม่โดยไม่ต้องไปที่สาขา

SCB เดินหน้าพัฒนาระบบดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่ไม่ต้องไปเปิดบัญชีที่สาขา ประหยัดเวลาสำหรับลูกค้าใหม่ที่สนใจในผลิตภัณฑ์ของธนาคาร

SCB ได้พัฒนาไปอีกขั้นด้วยการเปิดฟีเจอร์ใหม่ของ SCB EASY ที่มีชื่อว่า EASY E-KYC ซึ่งจะทำให้เราสามารถเปิดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์โดยไม่ต้องไปที่สาขา เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยเพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ Android ที่ลง Application SCB EASY บัตรประชาชน และพาสปอร์ต (3 อย่าง) เพียงแค่นี้ก็สามารถเปิดบัญชีใหม่โดยไม่ต้องไปธนาคาร

11 เดือนผู้ใช้งาน SCB EASY โฉมใหม่กว่า 7 ล้านราย

ธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าหลังจากที่ SCB EASY ได้ยกเครื่อง Platform ใหม่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 7 ล้านราย โดยมาจากปัจจัยหลักๆ เช่น เรื่องของฟรีค่าธรรมเนียม “โอน-จ่าย-เติม-กด” ซึ่ง SCB เป็นธนาคารแรกของไทยที่ลุกขึ้นมาประกาศในเรื่องนี้ หรือแม้แต่ Cardless ATM ที่มียอดการใช้งานกว่า 18 ล้านรายการ คิดเป็น 15% ของธุรกรรมถอนเงินทั้งหมด

ขณะที่ฟีเจอร์อื่นๆ ของ SCB EASY นั้นกำลังมีธุรกรรมเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่น SCB EASY Bonus หรือแม้แต่ SCB EASY Digital Lending บริการสินเชื่อผ่าน Mobile Banking ที่พึ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี มีผู้ขอใช้สินเชื่อไปแล้วกว่า 165,000 รายการ

เปิดฟีเจอร์ใหม่ EASY E-KYC เปิดบัญชีใหม่ไม่ต้องไปแบงค์

SCB เตรียมที่จะเจาะลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ของธนาคารมาก่อน (New to Bank) ประชากรไทยกว่า 60 ล้านคน แต่ SCB มีบัญชีธนาคาร 14 ล้านบัญชีเท่านั้น แสดงว่ายังมีผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เคยใช้บริการ SCB

ด้วยฟีเจอร์ EASY E-KYC บริการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ด้วยตัวเองผ่าน SCB EASY ซึ่งมีความสะดวก ปลอดภัย ทำได้ด้วยตัวเอง โดยในขั้นต้นตัวโทรศัพท์มือถือจะต้องรองรับระบบ NFC และเป็นระบบปฏิบัติการ Android 5.1 ขึ้น ส่วน iOS ยังไม่สามารถใช้งานได้

ธนา คาดว่าฟีเจอร์ใหม่ของ SCB EASY นี้จะผลักดันทำให้ SCB EASY มีผู้ใช้งาน 9-10 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ และส่วนเรื่องของค่าธรรมเนียมในการเปิดบัญชีผ่านระบบ EASY E-KYC นี้ ไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น โดยหวังว่าลูกค้าจะใช้บริการอื่นๆ ของธนาคารไปด้วยในอนาคต

ธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์

เปิดบัญชีแสนง่ายดาย

สำหรับลูกค้าใหม่มีขั้นตอนการเปิดบัญชีผ่าน SCB EASY นั้นมีเพียงไม่กี่ขั้นตอน

  1. ดาวน์โหลด Application SCB EASY ใน Google Play Store
  2. เข้าที่ Application แล้วกดเปิดบัญชีใหม่กับ SCB
  3. ลงทะเบียนโดยการกรอกเลขบัตรประชาชน เสร็จแล้วจะมีการให้ถ่ายรูปบัตรประชาชน
  4. ถ่ายรูปพาสปอร์ตของเรา และนำโทรศัพท์มือถือแนบกับ Passport เพื่อยืนยัน
  5. Application จะขอถ่ายรูปเราเพื่อยืนยันว่าเป็นเจ้าของจริงๆ โดยมีการ Selfie หน้าตรง และทำตามคำสั่งเช่น หันหน้าไปทางขวา หรือหลับตาข้างหนึ่ง เพื่อยืนยันตัวตน
  6. เลือกประเภทบัญชีและกรอกข้อมูลส่วนที่เหลือ และยืนยันการเปิดบัญชีผ่าน OTP อีกรอบ

ประมาณการเปิดบัญชีด้วยวิธีนี้ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที สามารถเปิดบัญชีได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 07.30-22.30 และยังมีข้อจำกัดคือบัญชีมีเงินได้ไม่เกิน 1 แสนบาท เนื่องจากฟีเจอร์นี้ยังอยู่ในการพัฒนาภายใต้ความควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ (Sandbox) ดังนั้นจะเปิดได้เฉพาะบัญชีออมทรัพย์ โดยเริ่มต้นวันที่ 21 ก.ค. เป็นต้นไป

สำหรับผู้ที่ใช้ iOS ก็อาจต้องทำใจรอไปก่อน จนกว่ามือถือจะระบบ NFC จึงจะสามารถทำ Easy E-KYC ได้

3 สิ่งที่ต้องมีเพื่อทำ Easy E-KYC เปิดบัญชีผ่านมือถือ คือ บัตรประชาชน, พาสปอร์ต และ มือถือแอนดรอยด์
3 สิ่งที่ต้องมีเพื่อทำ Easy E-KYC เปิดบัญชีผ่านมือถือ คือ บัตรประชาชน, พาสปอร์ต และ มือถือแอนดรอยด์

พนักงานสาขาได้ประโยชน์ด้วย

ธนา กล่าวว่าระบบใหม่ของ SCB EASY นอกจากจะทำให้ผู้ใช้มีความสะดวกมากขึ้นแล้ว ถ้าหากระบบใหม่นี้เชื่อมโยงกับระบบที่สาขาเสร็จสิ้นแล้วยังสามารถช่วยให้ลดภาระของพนักงานสาขาในการตรวจสอบลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพราะว่าระบบมีความแม่นยำสูงมากๆ โอกาสผิดพลาดในการระบุหน้าเจ้าของนั้นมีเพียงแค่ 0.01% ยกเว้นกรณีที่ลูกค้ามีใบหน้าที่ไม่เหมือนเดิมมากๆ อาจต้องไปเปิดบัญชีที่สาขา

นอกจากนั้นการลดภาระในเรื่องการเปิดบัญชีใหม่ให้กับพนักงานสาขาแล้ว ยังสามารถทำให้พนักงานยังไปโฟกัสกับเรื่องการให้บริการลูกค้าในเรื่องอื่นๆ เช่น บริการ Wealth Management เช่น การแนะนำการลงทุน หรือแม้แต่เรื่องการขอสินเชื่อ ซึ่งพนักงานได้ประโยชน์มากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ