CVC คืออะไร? เป็นคำถามแรกที่ Brand Inside ถาม “พอล” พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการหน่วยงาน CVC ของ Digital Ventures
พอลเริ่มต้นตอบคำถามด้วยการเล่าให้ฟังว่า หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า VC หรือ Venture Capital ที่เป็นการร่วมลงทุนของนักลงทุนหลายรายในบริษัทหรือสตาร์ทอัพ ส่วน CVC ก็คือการเติมคำว่า Corporate หรือบริษัทเข้าไป ดังนั้น CVC หรือ Corporate Venture Capital จึงหมายถึงการลงทุนของบริษัทใหญ่ โดยไม่ต้องผ่านการร่วมลงทุนกับนักลงทุนรายอื่นนอกบริษัท แต่ทำผ่านหน่วยงานของบริษัทโดยตรง
อันที่จริงแล้ว การลงทุนผ่าน CVC ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลายบริษัทในโลกลงทุนแบบนี้มาหลายทศวรรษแล้ว โดยเชื่อกันว่าการลงทุนแบบ CVC น่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1914 มีบริษัทผู้ผลิตพลาสติกและเคมีภัณฑ์รายหนึ่งชื่อ DuPont ได้ไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพยานยนต์รายหนึ่ง จนท้ายที่สุดสามารถนำบริษัท IPO และเติบโตมาเป็นบริษัทยานยนต์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาชื่อว่า GM ได้อย่างในปัจจุบัน
การลงทุนแบบ CVC เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ถ้าไปดูการลงทุนทั่วโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนระหว่าง CVC กับ VC จะพบว่า VC มีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าโดยอยู่ที่ 32% ส่วน VC อยู่ที่ 20% เท่านั้น
“การลงทุนโดย VC แม้จะมีสัดส่วนมากกว่า แต่นับวันจะเริ่มอิ่มตัวแล้ว ในขณะที่กระแสของ CVC หรือการลงทุนจากบริษัทใหญ่กลับเป็นกระแสที่มาแรง เพราะตัวเลขสัดส่วน 20% ที่เห็นนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2009 มาถึง 5 เท่า”
พอล ระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ กระแสของ CVC กลับมาอีกครั้ง เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในโลกธุรกิจเกิดการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะใน Silicon Valley แหล่งเทคโนโลยีเบอร์ต้นๆ ของโลกที่มีผู้ประกอบการสตาร์ทอัพหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายรายประสบปัญหาจากการหาเงินทุนแบบ VC เพราะเงินทุนไม่พอ และเอาเข้าจริงสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่หาเงินทุนจาก VC รูปแบบธุรกิจมักจะเข้าถึงได้เพียงแค่ B2C (ธุรกิจต่อผู้บริโภค) เพราะข้อจำกัดเรื่องเงินทุน กลยุทธ์ และเครือข่าย ในขณะที่การลงทุนจากบริษัทใหญ่โดยตรงหรือ CVC จะก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ได้ทั้งหมด และที่สำคัญสตาร์ทอัพเหล่านั้นจะสามารถเข้าถึงรูปแบบธุรกิจแบบ B2B (ธุรกิจต่อธุรกิจ) ได้ง่ายมากขึ้น
เปรียบเทียบความเหมือน-ความต่างของ CVC กับ VC
“ในการลงทุน เป้าสูงสุดย่อมเป็นเรื่องของผลตอบแทนทางการเงินอยู่แล้ว แต่ถ้าให้เปรียบเทียบการลงทุนของ CVC กับ VC ถือว่ามีความแตกต่าง”
ความต่างอย่างแรกของการลงทุนแบบ CVC กับ VC คือเรื่องของผลตอบแทนทางการเงินที่ต่างกัน พอลย้ำไว้อย่างหนึ่งว่า แน่นอนว่าในท้ายที่สุดแล้ว ทุกการลงทุนย่อมต้องคิดถึงผลกำไรในทางธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนแบบ VC เกิดจากการลงทุนของนักลงทุนมากหน้าหลายตา เพราะฉะนั้น ความคาดหวังถึงผลตอบแทนทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ
ส่วน CVC ที่เป็นการลงทุนจากบริษัทโดยตรง มีข้อได้เปรียบ เพราะในระยะแรกยังไม่ต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทางการเงินมากนัก สิ่งสำคัญคือวางเป้าหมายระยะยาวของธุรกิจ
พอล ระบุว่า การลงทุนโดยบริษัทแบบ CVC สามารถแบกรับต้นทุนได้มากกว่า เพราะการลงทุนโดยบริษัทใหญ่ในลักษณะนี้เป็นการลงทุนโดยเอา “กลยุทธ์” เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ผลตอบแทนทางการเงิน ในแง่นี้จึงพูดได้ว่าการลงทุนแบบ CVC คือการลงทุนที่มากกว่าเรื่องทางการเงินเพียงอย่างเดียว
“การลงทุนแบบ CVC ในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นคือการลงทุนที่มากกว่าเรื่องทางการเงิน หากแต่เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ การเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายที่กว้างขวาง ลูกค้าที่มีศักยภาพในตลาด รวมไปถึงเรื่องของบุคลากร พูดได้ว่าการลงทุนแบบ CVC ช่วยสตาร์ทอัพในหลากหลายมิติ และตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่มากกว่าการลงทุนแบบ VC ทั่วๆ ไป”
“เงิน” เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเติบโตทางธุรกิจ
พอล ฝากถึงสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างประเทศว่า เอาเข้าจริงแล้ว “เงิน” เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเติบโตทางธุรกิจเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างที่หลายคนคิด
“ถ้าคุณเป็นเทคสตาร์ทอัพที่กำลังทำงานอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ คุณคิดว่าคุณจะเป็น Amazon หรือ Apple รายที่ 2 ของโลกได้ไหม เพราะว่าถ้าคุณมีแค่เงินทุน ผมคิดว่าทำไม่ได้ คุณต้องการเครือข่าย คุณต้องการผู้เชี่ยวชาญในวงการ และแน่นอนคุณต้องการเงินลงทุนในปริมาณที่สูงด้วยเช่นกัน”
ความท้าทายของ CVC คือความกล้าลงไปเสี่ยงในสนามการเปลี่ยนแปลงของบริษัทใหญ่
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่พอลพยายามเน้นในระหว่างการสัมภาษณ์ คือบอกว่าการขยับไปอีกก้าวของการลงทุนแบบ CVC ของบริษัทใหญ่คือความกล้าที่จะเสี่ยงกับโลกที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
“การลงทุนแบบ CVC คือความกล้าลงไปเสี่ยงในสนามแห่งการเปลี่ยนแปลง อย่าง Digital Ventures ที่เพิ่งประกาศเพิ่มเงินลงทุนใน CVC โดยทุ่มงบอีก 50 ล้านเหรียญ รวมกับเงินลงทุนก้อนเดิมตอนก่อตั้งอีก 50 ล้านเหรียญ เป็น 100 ล้านเหรียญ นี่คือการเปลี่ยนตัวเองก่อนที่จะถูกเปลี่ยนโดยเทคโนโลยีในอนาคต มันคือการปรับตัว อย่างในปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain กำลังมาแรง แต่ในอนาคตอีก 5 ปี ใครจะรู้ว่า Blockchain อาจเป็นเรื่องเก่าไปแล้วก็ได้ การกล้าเข้ามาเสี่ยงลงทุนแบบ CVC คือหนทางหนึ่งในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากเหล่าสตาร์ทอัพ”
พอล เสริมไว้ด้วยว่า สำหรับเขาในฐานะที่ดูแลด้านการลงทุนของ Digital Ventures และแม้ว่าจะเป็นบริษัทในเครือธนาคารอย่าง SCB แต่เทคโนโลยีที่สนใจลงทุน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงินเท่านั้น
“แน่นอนว่า ฟินเทคคือสิ่งใหม่ ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้คำว่าฟินเทคยังไม่มีอยู่ด้วยซ้ำ แต่สำหรับเราที่ทำธุรกิจธนาคาร ต้องบอกว่าเรามองหาศักยภาพและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องทางการเงิน แต่เรื่องของ AI, Big Data, Cyber Security ก็เป็นสิ่งที่เราสนใจลงทุนเช่นกัน เพราะบริษัทหรือสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องของเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถกลายมาเป็นคู่แข่งของเราได้ในอนาคต”
สรุป: CVC กับความท้าทายในอนาคตของการแข่งขัน
CVC คือรูปแบบหนึ่งของการลงทุนที่กระทำโดยตรงจากบริษัทใหญ่ ไม่ใช่ VC ที่เป็นการลงทุนร่วมกันของนักลงทุนหลายราย จุดแข็งคือเม็ดเงินลงทุนที่ใหญ่กว่า กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจนกว่า รวมถึงการมีผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายที่แข็งแกร่งกว่า
ทว่าภายใต้ความแข็งแกร่งเหล่านี้ ความท้าทายในการลงทุนด้วยตนเองของบริษัทใหญ่ก็นับเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ต้องคิดคำนวณไว้ แต่สำหรับเรื่องนี้ Digital Ventures ประกาศไว้ชัดว่า การขับเคลื่อนเรื่องการลงทุนในสตาร์ทอัพจะต้องคิดถึงเรื่องผลตอบแทนทางการเงินเป็นเป้าหมายลำดับรอง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีผ่านการลงทุนในเทคสตาร์ทอัพโดยตรง
ถึงที่สุดแล้ว อาจพูดได้ว่า การที่ Digital Ventures ก้าวออกมาประกาศเพิ่มเงินลงทุนใน CVC เพื่อลงทุนในเทคสตาร์ทอัพครั้งนี้ถือเป็นการขยับตัวครั้งสำคัญของ SCB เพื่อตอบรับกับโจทย์ Digital Disruption ที่กำลังหมุนอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อการแข่งขันที่กำลังจะมาถึงในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา