Peach Air และ Vanilla Air เตรียมควบรวมกิจการภายในปี 2020

การประกาศควบรวมกิจการครั้งนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นประกาศการควบรวมกิจการล่วงหน้าก็ตาม แต่เป็นที่น่าสนใจว่าต่อไปในอนาคตอาจมีสายการบินราคาประหยัดเริ่มควบรวมกิจการอีกก็เป็นได้

ภาพจาก Shutterstock

แผนการควบรวมกิจการสายการบินราคาประหยัดดังกล่าวระหว่าง Peach Air กับ Vanilla Air เกิดจากทาง All Nippon Airways หรือ ANA ซึ่งเป็นสายการบินแม่ของทั้งสอง ซึ่งแน่นอนว่าการควบรวมกิจการนี้จะทำให้เกิดความแข็งแกร่งของสายการบินราคาประหยัดซึ่งในทวีปเอเชียมีการแข่งขันกันสูงมาก

ปัจจุบันทาง ANA ถือหุ้นใน Peach Air 67% และ Vanilla Air 100% และมีการคาดการณ์ว่าอาจมีการใช้ชื่อของ Peach Air ต่อไปหลังจากการควบรวมกิจการแล้ว เนื่องจากส่วนแบ่งทางการตลาดของ Peach Air ที่มีมากกว่า

สายการบินราคาประหยัดต่อไปต้องแข็งแกร่งมากขึ้น

ถ้าหากสายการบิน 2 สายการบินนี้ได้ควบรวมกิจการแล้วในปี 2020 คาดว่าจะมีรายได้จากสายการบินอยู่ประมาณ 76,000 ล้านเยน โดยคำณวนจากรายได้ของปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้รายได้ทิ้งห่างสายการบินคู่แข่งอย่าง Jetstar ทันที ซึ่งธุรกิจสายการบินในเอเชียเติบโตปีละ 5% แต่เนื่องด้วยคู่แข่งที่มากมายไม่ว่าจะเป็นทั้ง AirAsia ที่กลับมาโฟกัสธุรกิจการบินมากกว่าเดิม หรือไม่ก็เป็นสายการบินราคาประหยัดเจ้าอื่นๆ

ฉะนั้นการควบรวมกิจการเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่ทำให้สายการบินทั้งสองมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ไม่นับถึงเรื่องการประหยัดต่อขนาดเวลาสั่งเครื่องบินล็อตใหญ่ๆ จะได้ราคาที่ถูกกว่าด้วย เพราะว่าทั้งสองสายการบินใช้เครื่องบิน Airbus A320 และรวมไปถึงการใช้นักบินร่วมกัน

กลยุทธ์สายการบินจะคล้ายๆ กับ Scoot + Singapore Airlines

หลังจากการควบรวมกิจการเสร็จแล้วกลยุทธ์ของสายการบินคือถ้าหากเป็นเส้นทางบินใกล้ๆ จะให้ทางสายการบินใหม่ที่ควบรวมกิจการนั้นบิน ส่วนถ้าเป็นเส้นทางบินที่เริ่มไกลขึ้นตั้งแต่ 7-9 ชม. จะให้ทาง ANA เป็นสายการบินหลัก ซึ่งจะทำให้ ANA ได้ลูกค้าใหม่ๆ เช่นในประเทศอินเดีย เป็นต้น

ซึ่งแผนการบินข้างต้นนั้นจะเหมือนคล้ายๆ สมัยการควบรวมกิจการระหว่าง Scoot กับทาง Tiger Air ส่วนถ้าหากการบินที่ไกลๆ มากก็จะเน้นให้ Singapore Airlines บินมากกว่า ถึงแม้ว่าจะมีบางเส้นทางไกลที่ Scoot บินอยู่ก็ตาม แต่มักจะเป็นเมืองใหม่ๆ มากกว่า

สรุป

ถ้าหากเป็นกรณีนี้แล้ว ในอนาคตเราอาจได้เห็นสายการบินราคาประหยัดนั้นเริ่มมีการควบรวมกิจการกันอย่างแน่นอน เพราะว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายนั้นลดลง แต่สามารถให้บริการกับลูกค้าได้มากขึ้นนั่นเอง ซึ่งการแข่งขันระหว่างสายการบินราคาประหยัดจะเห็นได้ว่าดุเดือดมาก

ที่มาNikkei Asian Review

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ