ผ่าคอร์ด I V vi IV หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ “คุกกี้เสี่ยงทาย” ติดหูจนแกะไม่ออก

ต้องยอมรับว่าเพลง Koisuru Fortune Cookie หรือ “คุกกี้เสี่ยงทาย” ของวง BNK48 ติดหูจนแกะไม่ออก และมีส่วนทำให้ตัววงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่เชื่อหรือไม่ว่าหนึ่งในปัจจัยที่เพลงติดหูนั้นมาจากการวางคอร์ดที่ถูกต้อง

นอกจากเสียงร้อง การเรียบเรียงก็สำคัญ

เมื่อมองในแง่การเรียบเรียงเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ก็คงคล้ายกับเพลงในตลาดทั่วไป นั่นคือมีท่อน Verse, Pre-Chorus และ Chorus แต่แตกต่างด้วยท่อนแยกก่อน Chorus สุดท้ายที่ช่วยส่งให้การร้องก่อนจบเพลงมีความหนักแน่นทางความคิด ซึ่งการเรียบเรียงทั้งหมดก็แทบจะนำมาจากต้นฉบับของญี่ปุ่น ต่างเพียงเสียงร้องที่ให้อารมณ์คนละแบบ

และหากเจาะลงไปจริงๆ แล้ว การที่มันติดหูของผู้ฟังจริงๆ อาจไม่ใส่แค่เสียงร้องน่ารักๆ ของศิลปินในวง หรือจังหวะเพลงที่สนุกสนาน เพราะการเดินคอร์ดของเพลงนี้ใช้ทางคอร์ด I V vi IV โดยสลับกันเรียงเป็น D Major, B Minor, G Major และ A Major ซึ่งทางคอร์ดนี้มักได้ยินในเพลงดังๆ ที่ติดหูของคนไทย และทั่วโลกมากมาย

สำหรับเพลงที่ใช้ทางเดินคอร์ดดังกล่าวหากเป็นเพลงไทยที่โด่งดังในตอนนี้ก็เช่น “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ของก้อง-ห้วยไร่ และ “ตราบธุรีดิน” ของปู่จ๋าน ลองไมค์ ส่วนถ้าเก่าไปกว่านั้นหน่อยก็คงเป็นเพลง “ซมซาน” ของวงโลโซ รวมถึง “ความลับในใจ” ของวงสิบล้อ

คอร์ด Pop เป็นท่าไม้ตายของหลายวง

ยิ่งในต่างประเทศการใช้ทางคอร์ด I V vi IV หรือคอร์ด Pop ก็สร้างความสำเร็จให้กับหลายๆ เพลงเช่นกัน ทั้งแนว Rock อย่าง “Zombie” ของ The Cranberries, แนว Pop จาก “Bad Blood” ของ Taylor Swift หรือกระทั่ง “Despacito” ของ Luis Fonsi จาก Dance Hall ที่ฮิตกันทั่วโลก

โดยการใช้ทางคอร์ดดังกล่าวเริ่มแพร่หลายมาราว 20 ปี โดยเฉพาะในยุค Pop Punk ที่หลายวงเลือกใช้ทางคอร์ดนี้ และทางผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีมองว่าทางคอร์ด I V vi IV คงอยู่ไปได้อีกนาน รวมถึงเหตุที่คอร์ดดังกล่าวสามารถติดหูหลายๆ คนได้ อาจเพราะทำนองที่ถูกตีกรอบมาให้ฟังง่าย และไม่ได้ซับซ้อนในการลงโน้ตเข้าไปในเนื้อเพลง

อย่างไรก็ตามถึงจะใช้แนวทางคอร์ดดังกล่าวในการนำมาแต่งเพลง ก็ใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไป เพราะนอกจากการเรียบเรียงทำนอง เรื่องเนื้อร้อง และวิธีดึงดูดในด้านอื่นๆ ก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นนักแต่งเพลงรุ่นใหม่สามารถนำทางคอร์ด I V vi IV ไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างเพลงในเบื้องต้นออกมา ก่อนจะฝึกฝนจนเก่งกาจ และประยุกต์ไปสู่คอร์ดที่ยากขึ้น

สรุป

หากเพลงไม่ติดหู การจะโด่งดังในวงกว้างก็คงไม่ใช่ง่ายๆ และเมื่อไม่โด่งดัง โอกาสสร้างรายได้ก็น้อยตาม จึงไม่แปลกที่เพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” เมื่อได้รับความนิยมในวงกว้าง ก็สามารถต่อยอดไปได้มากกว่าการทำตลาดกับกลุ่มแฟนคลับ และสามารถสร้างฐานแฟนเพลงใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าเดิม และสุดท้ายคือรายได้ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา