ตลาดเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นในสิงคโปร์สนุกสนานขึ้น เมื่อ Grab ที่จับมือกับ SMRT ครองตลาดอยู่เกินครึ่ง ปะทะคู่แข่งบริษัทแท็กซี่รายใหญ่ในสิงคโปร์ที่เข้าถือหุ้น UBER ถึง 51% โปรดติดตามให้ดี เพราะเขาเปิดหน้าออกมาสู้กันแล้ว
ความแกร่งของ Grab ในสิงคโปร์ ครองสัดส่วนตลาดเกินครึ่ง
บริการเรียกรถร่วมโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นที่ครองตลาดในสิงคโปร์จะแข่งขันกันดุเดือดขึ้น ระหว่าง Grab เจ้าถิ่นที่ครองสัดส่วนตลาดถึง 53% ส่วน UBER ตัวเลขไม่ชัดเจน เวลานับสถิติจึงกองรวมอยู่กับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ในตลาดที่มีอยู่เพียง 24% เท่านั้น
ความเก๋าของเจ้าบ้านอย่าง Grab คือการเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยและการชำระเงินที่ออกแบบมาให้เหมาะกับคนในพื้นที่มากกว่า UBER มากกว่านั้น ถ้าเทียบกันแล้วในเชิงสถิติ หากเดินทางต่ำกว่า 30 กิโลเมตรในสิงคโปร์ การเรียกใช้ Grab จะมีราคาที่ถูกกว่า UBER อยู่เสมอ ดูการเปรียบได้เทียบได้ที่นี่
เมื่อดูในแง่พาร์ทเนอร์ Grab มีพาร์ทเนอร์รายใหญ่อย่าง SMRT ที่เป็นขนส่งมวลชนรายใหญ่ของสิงคโปร์ และยังมีข่าวว่า Grab อาจจะซื้อกิจการในส่วนแท็กซี่ของ SMRT ที่มีรถอยู่ในระบบกว่า 3,400 คัน
ก้าวต่อไปของ UBER ในสิงคโปร์ ให้บริษัทแท็กซี่รายใหญ่ถือหุ้นเกินครึ่ง
ฝ่ายตามอย่าง UBER ก็พยายามดิ้นสู้ในตลาดสิงคโปร์ด้วยการขายหุ้นให้กับ ComfortDelGro บริษัทรถแท็กซี่รายใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ เพื่อร่วมทุนเป็นจำนวน 218 ล้านเหรียญ (7,100 ล้านบาท) หรือคิดเป็นจำนวนหุ้นคือ 51% นั่นหมายความว่า UBER ถือหุ้นของตัวเองในสิงคโปร์เพียง 49% เท่านั้น
ภายใต้ข้อตกลงนี้ ComfortDelGro จะเข้ามาบริหารรถภายใต้ UBER ในสิงคโปร์กว่า 14,000 คัน ส่วนรถแท็กซี่ที่มีอยู่ทั้งหมดจะสามารถเรียกผ่าน UBER ได้โดยตรง
ความน่าสนใจคือดีลนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ComfortDelGro มีผลประกอบการเดินรถแท็กซี่ต่ำลง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นตกลงไปกว่า 11% เพราะนักลงทุนไม่มีความมั่นใจในแผนธุรกิจ ส่วน UBER ก็ไม่ทำได้ดีนักในตลาดสิงคโปร์ การร่วมหุ้นลงทุนกันครั้งนี้เพื่อสู้ Grab จึงมีความน่าสนใจ เพราะเป็นการสู้ระหว่างเจ้าถิ่นหน้าใหม่สายดิจิทัลผู้แข็งแกร่ง กับ เจ้าถิ่นหน้าเก่าที่ดึงเอาดิจิทัลหน้าใหม่จากต่างชาติมาปะทะกัน
บทสรุป : เปิดหน้าสู้ในสิงคโปร์ ตลาดที่พลาดไม่ได้ หมุดหมายสำคัญในภูมิภาค
ตลาดเรียกรถร่วมโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นในสิงคโปร์จะดุเดือดขึ้น เพราะแม้ว่าสิงคโปร์จะมีประชากรเพียง 5.6 ล้านคน แต่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางในหลายด้าน เช่น ในแต่ละปีมีคนอินโดเซียเดินทางมาไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน คนไทยและคนเวียดนามไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าสิงคโปร์จะเชื่อมต่อกับมาเลเซียด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง เรียกได้ว่า สิงคโปร์จะยิ่งเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อในหลายด้านมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การชนะในตลาดสิงโปร์จึงเป็น “สัญญะ” สำคัญที่จะสะท้อนไปยังตลาดประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ความได้เปรียบของ UBER หลังจากนี้ในตลาดสิงคโปร์คือการได้ร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีบริการรถแท็กซี่อย่างกว้างขวาง แต่ต้องไม่ลืมว่า Grab ที่ครองตลาดในภูมิภาคนี้ในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่สิงคโปร์ แต่ยังมีอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม พร้อมกันนั้นยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก SoftBank และ Didi จากจีน และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เพิ่งระดมทุนจากนักลงทุน 2 รายนี้ได้ไปถึง 2,000 ล้านเหรียญ (65,000 ล้านบาท)
จากนี้ เมื่อเปิดหน้าคู่แข่งออกมาชัดเจนขนาดนี้ ต้องดูต่อว่าจะสู้กันอย่างไร เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม แต่ที่แน่ๆ มูลค่าตลาดเรียกรถร่วมโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นในสิงคโปร์และภูมิภาคนี้จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน
อ้างอิง – Bloomberg, TheFinance SG, Bloomberg 2, techcrunch
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา