พวกเราไม่ใช่ม้าแข่ง เราคือคนเห็นแก่ตัว และคนเห็นแก่ตัวคือ…
สังเกตไหมว่า โลกแห่งการทำงานหลังๆ มานี้ ขณะที่บริษัทเอาแต่เลย์ออฟ หรือขอให้บุคลากรทำงานมากขึ้น ฝั่งพนักงานกลับภักดีต่อองค์กรน้อยลงเรื่อยๆ
หากคุณยังมัวแต่รอโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานแบบเดิมๆ โดยไม่ทำอะไร มันอาจไม่ได้ผลเท่าไร เพราะดูบรรยากาศรอบๆ ตัวสิ ตลาดแรงงานใจดีกับเราขนาดนั้นเลยหรือ?
ความจริงแล้ว ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในการงาน คุณต้องกล้าพูด กล้าทำ พร้อมหัดเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ซึ่งมันอาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คน เพราะพวกเราโตมากับการถูกพร่ำสอนให้อยู่ในกรอบ เชื่อฟังผู้ใหญ่ และไม่ต้องรีบโต
ขณะเดียวกัน หันไปดูเด็กๆ สมัยนี้สิ พวกเขากล้าเปิดบริษัทเป็นของตนเอง หางานเสริมทำตลอด ขีดเส้นแบ่งเรื่องงานอย่างชัดเจน แถมยังสามารถสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์เป็นกันทั้งนั้น
แต่ถ้าให้รีบไต่บันไดความสำเร็จแบบคนรุ่นใหม่ ก็กลัวหมดไฟไปเสียก่อน งั้นจะทำอย่างไรล่ะ?
‘Cat O’Shaughnessy Coffrin’ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Captivating Consulting บริษัทให้คำปรึกษาด้าน Personal Branding บอกว่า การรู้จักตัวเองและรู้ว่าตนอยากได้อะไร คือวิธีสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เฮลตี้ แต่ปัญหาคือบางคนกลับไม่กล้าทำอะไรเพื่อตนเองนี่สิ
Coffrin เผยว่า สาเหตุที่หลายๆ คนมองการทำอะไรสักอย่างเพื่อตนเองเป็นเรื่องยากนั้นเป็นเพราะ พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้วอยากได้อะไร และบางส่วนมองว่า มันเป็นการกระทำที่ ‘เห็นแก่ตัว’ จนสุดท้ายก็สูญเสียตัวตนไป
ดังนั้น วันนี้ Brand Inside จะพาทุกคนไปเรียนรู้ 4 วิธีในการเป็นคนเห็นแก่ตัวในที่ทำงานกัน
1. อะไรกันนะที่เราอยากได้มากๆ เลยเมื่อก่อน?

ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกที่พอทำงานไปถึงจุดหนึ่ง แล้วจะเริ่มหลงลืมเป้าหมาย เพราะฉะนั้น ลองกลับไปย้อนนึกดูสิว่าจริงๆ แล้ว ที่เรามาทำงานนี้ เพราะอยากได้อะไรกันนะ
Coffrin ยกตัวอย่างคำถามที่อาจช่วยได้มา คือ
- คุณเป็นคนยังไงตอนอายุ 10 ขวบ? ตอนนั้นอยากทำอาชีพอะไร? ทำไมล่ะ?
- คุณจบจากมหาวิทยาลัยอะไร? คุณเรียนเกี่ยวกับอะไร และทำไมถึงเลือกเรียนด้านนั้น?
- มีมหาวิทยาลัยหรือคณะอะไรที่คุณเกือบจะได้ไปเรียนแล้วไหม? ทำไมถึงเปลี่ยนใจล่ะ?
คำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราหาคำตอบว่า จริงๆ เราชอบด้านไหนมาตั้งแต่เริ่ม และค่อยๆ วิเคราะห์ไปว่าเราสนใจแง่มุมไหนมากที่สุด
Coffrin บอกว่า เวลาถาม เธออยากรู้ว่า เรื่องราวไหนที่แสดงถึงตัวตนของลูกค้า และอะไรคือความเชื่อหรือแรงผลักดันให้พวกเขาเลือกสิ่งนี้แทนสิ่งนั้น
การกลับไปย้อนดูแพสชันเก่าๆ รวมถึงการตัดสินใจครั้งใหญ่ในอดีต จะช่วยรำลึกว่า ที่ผ่านมา เราใช้อะไรเป็นแรงผลักดัน มีอะไรบ้างที่เปลี่ยนไปแล้ว และอะไรบ้างที่ยังคงเหมือนเดิม
คุณอาจไม่ต้องถามเองตอบเองคนเดียวหรอกนะ เพราะ Coffrin บอกว่า คำถามเหล่านี้สามารถเอาไปลองเขียนตอบเองเล่นๆ คุยกับเพื่อนๆ หรือเอาไปพูดกับนักจิตบำบัดก็ได้ ขอแค่อย่าลืมจดแพทเทิร์นต่างๆ ที่เจอก็พอ
2.วันในฝันของคุณเป็นยังไง?
Coffrin ชอบถามลูกค้าถึงวันหรือโมเมนต์ที่ชอบมากๆ ในการทำงานและชีวิตทั่วไป โดยจริงๆ ไม่ได้อยากรู้หรอกว่าพวกเขาทำอะไรไปบ้าง แต่อยากรู้ว่าเพราะอะไรกิจกรรมเหล่านั้นถึงทำให้รู้สึกดีต่างหาก
คำถามที่ Coffrin ใช้ในพาร์ทนี้ประกอบไปด้วย
- ลองอธิบายวันทำงานที่คุณชอบหน่อยสิ เอาวันที่แบบทำให้คุณรู้สึกดีมากๆ
- ในวันนั้น คุณทำอะไรหรอ? อยู่คนเดียว อยู่เป็นกลุ่ม หรือก็ปนๆ สลับกัน?
- สัปดาห์ในฝันของคุณคืออะไร? เป็นการได้พูดคุยกับคนตัวเป็นๆ ปนๆ กับโลกออนไลน์หรือเปล่า? แล้วชอบทำงานที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงสูงหรือต่ำล่ะ?
- ถ้าให้จินตนาการถึงวันหยุดสุดเพอร์เฟกต์ที่คุณได้อยู่คนเดียว วันนั้นคุณจะทำอะไร? เพราะอะไร? แล้วเมื่อก่อนจะตอบอย่างนี้ไหม?
Coffrin ก็ชอบถามแบบนี้กับตนเองเวลารู้สึกว่าหน้าที่การงานไม่ก้าวหน้าไปไหน จนพบว่า จริงๆ แล้วเธอชอบผู้คนนะ แต่ไม่ชอบจัดการพวกเขา ซึ่งเป็นสองเรื่องที่เธอมักเอามาสับสนปนกันเป็นเวลานาน
Coffrin ยังพบอีกว่า ตนชอบทำงานคนเดียว แต่ชอบใช้เวลาส่วนตัวกับผู้คนมากกว่า ซึ่งการทำความรู้จักตนเองนี้ ช่วยให้เธอปลดล็อกแง่มุมใหม่ๆ ของเป้าหมายและความต้องการด้วย
3. ตามหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ
Coffrin บอกว่า ข้อจำกัดที่ใหญ่ที่สุดในการดีไซน์เส้นทางอาชีพ (Career Path) ของตนเองคือ การขาดแรงบันดาลใจและจินตนาการ
ยิ่งถ้าทำงานในอุตสาหกรรมหรือบริษัทเดิมๆ มานานเท่าไร เราก็จะยิ่งตกอยู่ในหล่มของการทำงานแบบเดิมๆ เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ Coffrin จึงแนะนำว่า ให้ลองไปเข้าสังคม ตามหาคอนเนคชัน เพื่อหาคำตอบดูว่าคนอื่นๆ เขากำลังทำอะไรกัน เพราะคุณอาจได้แนวคิดหรือวิธีการทำงานแบบใหม่ที่จะช่วยตอบข้อสงสัยในใจ โดยเธอบอกแนวทางมา 2 วิธีคือ
- ตามหาคนที่ใช่
ลองนึกถึงคนที่เขาใช้ชีวิตและมีหน้าที่การงานในแบบที่คุณปรารถนาสิ อาจเป็นผู้ประกอบการที่สร้างทุกด้วยตนเอง เพื่อนสมัยเด็กที่ทำอาชีพในฝัน หรือใครสักคนที่แค่สามารถบาลานซ์ชีวิตการทำงานกับชีวิตประจำวันได้ง่ายๆ
เมื่อมีรายชื่อคนที่น่าสนใจแล้ว ก็ทักหาพวกเขาเลย ถามไปตรงๆ ว่า อะไรทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ และคิดอย่างไรกับสิ่งที่คุณกำลังกังวลอยู่ เช่น เงิน ค่าจ้าง รายได้ หรือการเปลี่ยนแปลง
มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเราจะมองว่าชีวิตนี้มีอุปสรรคคอยขวางอยู่ตลอดเวลา แต่คุณต้องตามหามารผจญเหล่านั้นให้ได้ ลิสต์มันออกมา แล้วเอาไปปรึกษาคนอื่นๆ ว่าพวกเขาก้าวข้ามมันอย่างไร
- ใช้ LinkedIn ให้เป็นประโยชน์
ไม่ว่าคุณจะมีบัญชี LinkedIn อยู่แล้วหรือไม่ก็ตาม คำถามคือ เคยใช้ประโยชน์ของแพลตฟอร์มนี้แบบจริงจังหรือยัง?
ลองดูหน้าฟีดของคุณสิ มีใครสักคนที่น่ายกย่องหรือน่าติดตามไหม แล้วค่อยๆ สร้างจักรวาลการทำงานของตนเองให้มีทั้งคนในอุตสาหกรรมเดียวกันและต่างกันปนๆ กันไป รวมถึงอย่าลืมพูดคุยกับพวกเขาผ่านคอมเมนต์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ด้วยนะ
นอกจากนั้น ลองขอคำแนะนำจากพวกเขาดู เพราะ Coffrin การันตีเลยว่า จะได้เปิดมุมมองใหม่ๆ แน่นอน
4. กล้าพูดในสิ่งที่ตนเองต้องการ
มาถึงตรงนี้ เป้าหมายของคุณคงชัดเจนมากขึ้นแล้วล่ะ ดังนั้น ลองมาคิดดูว่า มันมีขั้นตอนอะไรบ้างในการพิชิตความฝัน รวมถึงรวบรวมความกล้าในการไปบอกที่ทำงานถึงความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณอยากให้เกิดขึ้น
คุณอาจต้องการย้ายสาขาที่ทำงานหรือเปล่า หรือคุณอยากเปลี่ยนตารางเวลาทำงาน? บางทีการขอ Work From Home บ่อยขึ้นก็อาจช่วย หรือคุณอยากริเริ่มโปรเจกต์ใหม่ๆ เองบ้างไหมนะ?
ไม่ว่าความต้องการของคุณคืออะไร ขอแค่กล้าถาม คุณก็จะกล้าทำเพื่อตนเองมากขึ้น แถมยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในตนเองด้วย
ลองฟังความต้องการลึกๆ ในใจดู สำรวจความชอบในอดีต เอาตนเองไปอยู่ท่ามกลางคนเก่งๆ ที่เชื่อมั่นในตัวคุณ และกล้าที่จะเห็นแก่ตัวมากขึ้นในที่ทำงาน เพราะสุดท้าย ถ้าทำตามนี้ได้ ความสำเร็จก็คงรออยู่ไม่ไกล
ที่มา: Fast Company
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา