เศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีกำลังซื้อ MK Group ปรับราคา ปรับเมนู ทำโปรเน้นคุ้ม บางสาขาเป็นบุฟเฟ่ต์

รายได้ก็ลด กำไรก็ลด สำหรับไตรมาสแรกของปีของ MK Group หรือ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านสุกี้ MK Restaurant ที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายสิบปี แต่กำลังเจอกับความท้าทายหลังรายได้และกำไรยังไม่กลับไปแตะจุดสูงสุดที่เคยทำได้ในอดีต

เปิดปีมาก็รายได้ลด กำไรหดแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นในไตรมาส 1 ปีนี้ยังรายงานผลการดำเนินงานว่ามีรายได้รวม 3,626 ล้านบาท ลดลง 10% และกำไร 234 ล้านบาท ลดลง 32.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ซึ่งทาง MK Group อธิบายว่า มาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ประกอบกับธุรกิจร้านอาหารการแข่งขันสูง ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวขึ้น พร้อมระบุว่า สร้างผลกระทบต่อตลาดธุรกิจร้านอาหารในไทยเป็นวงกว้าง ตั้งแต่เชนร้านอาหารขนาดใหญ่ ขนาดกลาง จนถึงร้านอาหารขนาดเล็ก

ปรับเมนู ปรับราคา บางสาขาเป็นบุฟเฟ่ต์แทน

โดย MK Group บอกว่า บริษัทได้เตรียมแผนรับมือและปรับโมเดลธุรกิจใหม่ใน 2 แบรนด์หลัก คือ

  • MK Restaurants เพิ่มเมนู-ปรับราคาให้เข้าถึงง่ายขึ้น ปรับบางสาขาให้เป็นบุฟเฟต์แทน (MK Buffet)
  • แหลมเจริญซีฟู้ด ปรับโมเดลให้ทันสมัย ปรับเมนูให้เข้าถึงง่าย ปรับการสื่อสารให้สนุก กระตุ้นด้วยโปรเน้นคุ้มค่า

รวมถึงจะขยายสาขาเพิ่มทั้งสองแบรนด์ MK Restaurants จะขยายเพิ่มอีก 5 สาขา และแหลมเจริญ 7 สาขา (ในประเทศ 5 สาขาและต่างประเทศ 2 สาขา) เพิ่มเติมคือแบรนด์ Yayoi จะขยายเพิ่มอีก 3 สาขา

ส่วนแบรนด์ใหม่อย่าง HIKINIKU TO COME (ฮิคินิคุ โตะ โคเมะ) ร้านแฮมเบิร์กเจ้าดังจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก ทำให้ยอดขายเติบโตไว แบรนด์นี้จะขยายสาขาต่อเนื่องปีนี้ 2 สาขา

โดยปัจจุบัน MK GROUP มีร้านอาหารในเครือทั้งหมด 13 แบรนด์ ได้แก่ MK Restaurants, MK Live, MK Gold, YAYOI, แหลมเจริญ ซีฟู้ด, HIKINIKU TO COME, HAKATA Ramen, MIYAZAKI, เลอ สยาม, ณ สยาม, BIZZY BOX (Grab&go), LE PETIT, Multi Brand

รวม 723 สาขา แบ่งเป็น

  • ในประเทศ 688 สาขา
  • ต่างประเทศ 35 สาขา

โดยแบรนด์ที่มีสาขาในต่างประเทศ คือ MK Restaurants ในประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม และลาว แบรนด์แหลมเจริญ ซีฟู้ด ที่มีสาขาแฟรนไชส์ในมาเลเซีย และ MIYAZAKI ที่มีสาขาในประเทศลาว

มองหานักลงทุน มาช่วยขยายร้านในอาเซียน

นอกจากการปรับปรุงร้านและเมนูแล้ว MK GROUP ยังประกาศเดินหน้าอีกหลายแผนในปีนี้

  • Group Member รวมทุกแบรนด์ในเครือไว้ในที่เดียว เปิดตัวภายในไตรมาส 3 ปีนี้
  • ระบบจัดการหลังบ้าน ดึง AI มาช่วยบริหาร ลดขยะอาหาร เลี่ยงสต็อกเกินจำเป็น ช่วยคุมต้นทุน
  • ธุรกิจค้าปลีก พัฒนาสินค้า ขยายช่องทางจำหน่ายจากร้านสะดวกซื้อไปซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต
  • ธุรกิจโลจิสติกส์ M-SENKO (บริการคลังสินค้าและขนส่งสินค้าแช่เย็น) เพิ่มศูนย์กระจายสินค้าตามหัวเมืองหลัก ประหยัดเวลาส่ง-แข่งต้นทุนคู่แข่งได้ เพิ่มบริการนำเข้าวัตถุดิบและรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

อีกหนึ่งกลยุทธ์ของ MK GROUP คือ การมองหาผู้ลงทุนรายใหม่ (Master Franchise) มาช่วยขยายธุรกิจร้านอาหารในตลาดอาเซียนด้วย

เมื่อบัลลังก์สุกี้เบอร์ 1 กำลังสั่นคลอน?

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า MK GROUP ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากกระแสสังคม โดยเฉพาะบนพื้นที่โซเชียลมีเดียที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ‘ราคา’ ในยุคที่ผู้บริโภคต่างต้องการความคุ้มค่ามากกว่าอะไรอื่น

ยิ่งในยุคที่มีคู่แข่งหน้าใหม่หลายราย เข้ามาจับจองตำแหน่ง ‘สุกี้’ ที่เน้นความคุ้มค่ามาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตลาดบุฟเฟ่ต์สุกี้คนปัจจุบันอย่าง ‘สุกี้ตี๋น้อย’ หรือ ‘ลัคกี้สุกี้’

ล่าสุด เมื่อเปิดงบไตรมาส 1 ของปีนี้ออกมาแล้ว พบว่า กำไรของ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ พุ่งแตะ 271 ล้านบาท (จากคำอธิบายงบฯ ของ JMART ที่ถือหุ้นในสุกี้ตี๋น้อยอยู่ 30%) แซงหน้ากำไรของ MK GROUP ที่มีสุกี้ MK และแบรนด์ลูกอีกหลายแบรนด์ที่มีกำไร 234 ล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว

สิ่งนี้จะเรียกได้ว่า สั่นคลอนบัลลังก์ของสุกี้เบอร์ 1 ของไทย หรือไม่?

แม้รายได้ในปี 2567 ของ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ จะอยู่ที่ราว 7 พันล้านบาท ยังห่างกับรายได้ของ MK GROUP ที่มีรายได้มากถึง 1.5 หมื่นล้านบาทเท่าตัว แต่ด้วยอัตราเร่งของการเติบโตของสุกี้ตี๋น้อย รวมถึงอัตราทำกำไรที่โดดเด่นก็จัดว่าน่ากลัว เพราะสุกี้ตี๋น้อยสามารถทำกำไรไปได้ทะลุ 1 พันล้านบาท เทียบกับ MK GROUP ที่ทำรายได้ 1.4 พันล้านบาท

ตอนนี้ก็มารอดูอีกทีว่า จบปีนี้ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ที่ใกล้จะเป็นสุกี้หมื่นล้านจะเติบโตอีกมากน้อยแค่ไหน หรือสุกี้ MK ที่กำลังเร่งปรับตัวเต็มที่จะสปีดรักษาอันดับ 1 เอาไว้ได้ในที่สุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา