[วิเคราะห์] สุกี้ MK จะยื้อเป็นเบอร์ 1 ในตลาดได้นานแค่ไหน เมื่อคู่แข่งตัวใหญ่ขึ้นทุกวัน

สุกี้ MK ขยับตัวครั้งใหญ่ ทำแคมเปญการตลาดช่วงเทศกาล เล่นใหญ่เปลี่ยนชื่อร้าน ขายหมี่ยืนยาว ต่อด้วยลุยโปรโมชันทำราคาหมูมาราธอน ออกสินค้าจานเดี่ยวให้ DIY สะท้อนภาพการแข่งขันรุนแรงของตลาดสุกี้ในประเทศไทยที่ทำให้สุกี้เบอร์ 1 อย่าง MK เริ่มหวั่นไหวและต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลง

Brand Inside ชวนสำรวจสถานการณ์รายได้-กำไรของสุกี้ MK ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวปรับตัวครั้งนี้

MK เบอร์ 1 สุกี้ไทย เคยมีมูลค่าบริษัทถึง 7 หมื่นล้าน

หากพูดถึง สุกี้ MK หรือ บริษัท เอ็มเค เรสโตรอง กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก แบรนด์สุกี้เบอร์ 1 ที่อยู่คู่กับคนไทยมาเกือบ 40 ปี และเป็นหนึ่งในร้านสุกี้สำหรับครอบครัวที่ใครต่างนึกถึง ด้วยแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และอยู่มาอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ทำให้รายได้และกำไรเติบโตขึ้นมาต่อเนื่อง จนเหมือนจะไม่มีใครสามารถมาแย่งความเป็นเจ้าตลาดสุกี้ไปจาก MK ได้

กลุ่มบริษัท MK เคยทำรายได้สูงสุดถึง 17,000 ล้านบาทในช่วงปี 2562 และเคยมีมูลค่าบริษัทสูงสุดมากกว่า 70,000 ล้านบาท

ก่อนที่ภาพการแข่งขันดังกล่าวจะเริ่มเปลี่ยนไปในช่วงปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด และมีแบรนด์สุกี้น้องใหม่เกิดขึ้นและเติบโตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุฟเฟ่ต์สุดแมสอย่างสุกี้ตี๋น้อยและลัคกี้สุกี้ กลุ่มหม้อไฟหมาล่าอย่างไหตี่เหลาและสุกี้จินดา รวมถึงกลุ่มชาบูพรีเมี่ยมที่รวมถึง Hitori shabu ด้วย

อย่าง สุกี้ตี๋น้อย ที่หลายๆ มองว่าเป็นหนึ่งในดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการชาบูสุกี้ไทย พึ่งก่อตั้งแบรนด์ขึ้นในปี 2562 เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับจุดสูงสุดของสุกี้ MK เลยก็ว่าได้

โดยนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา รายได้ MK ก็ไม่เคยกลับขึ้นไปแตะจุดสูงสุดอีกเลย ในขณะที่แบรนด์น้องใหม่อย่าง สุกี้ตี๋น้อย ก็ไม่มีปีไหนที่รายได้ไม่ทำจุดสูงสุดใหม่ (All time high) เลย

ตอนนี้รายได้-กำไร MK ยังไม่กลับไปแตะจุดสูงสุดที่เคยทำได้

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกร เผยว่า มูลค่าทางการตลาดรวมของร้านสุกี้-ชาบู ในประเทศไทย ปี 2566-2567 อยู่ที่ราว 23,000 ถึง 25,000 ล้านบาท และยังคงเติบโตอย่างขึ้นต่อเนื่อง 

ในขณะที่ สุกี้ MK ที่มีรายได้ต่อปีอยู่ที่ราว 15,000 ถึง 16,000 ล้านบาท ถือว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 60% และครองเบอร์ 1 มาต่อเนื่องหลายสิบปี

ทีนี้ลองมาสำรวจรายได้ย้อนหลังของ ‘บริษัท เอ็มเค เรสโตรอง กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’ กัน

  • ปี 2562 รายได้ 17,408 ล้าน กำไร 2,604 ล้าน
  • ปี 2563 รายได้ 13,655 ล้าน กำไร 907 ล้าน
  • ปี 2564 รายได้ 11,368 ล้าน กำไร 131 ล้าน
  • ปี 2565 รายได้ 15,938 ล้าน กำไร 1,439 ล้าน
  • ปี 2566 รายได้ 16,973 ล้าน กำไร 1,682 ล้าน
  • ปี 2567 รายได้ 15,418 ล้าน กำไร 1,442 ล้าน

จะเห็นได้ว่า แม้รายได้ของ MK ในช่วงปี 2563 ถึงปี 2564 จะลดลงไปเพราะการแพร่ระบาดของโควิด แต่หลังพ้นโควิดแล้วในช่วงปี 2565 ถึงปี 2566 รายได้ของ MK ก็ยังไม่สามารถกลับไปที่จุดสูงสุดเดิมในช่วงปี 2562 (17,408 ล้านบาท) ได้ พร้อมกับมูลค่าบริษัทที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนลงไปแตะ 16,100 ล้านบาทในปัจจุบัน (7 กุมภาพันธ์ 2568) 

ในส่วนของกำไรเองก็สอดคล้องกัน คือ แม้รายได้ของ MK จะเริ่มปรับตัวขึ้นมาหลังโควิด แต่ในปี 2565 ถึงปัจจุบัน แต่ MK ก็ยังไม่สามารถทำไรได้เท่าช่วงจุดสูงสุดในช่วงปี 2562 ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น สถานการณ์การแข่งขันก็ยังคงรุนแรง จากร้านชาบูสุกี้เกิดใหม่ต่างๆ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวโน้มเลือกกินตามร้านอาหารตามรีวิวในโซเชียลมีเดีย อย่าง Tiktok หรือ Lemon8 และหากมีร้านใหม่ก็พร้อมจะไปทดลองและเปลี่ยนความนิยมกันได้อย่างรวดเร็ว 

ในขณะที่ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ซึ่งเห็นช่องว่างในตลาด เลือกทำราคาถูกกว่า MK เน้นความคุ้มค่า และเน้นการขายในช่วงเวลาที่ครอบคลุมมากขึ้น (เที่ยงจนถึงตี 5) ทำให้สามารถจับกลุ่มแมสได้กว้างมาก ครอบคลุมไปจนถึงกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา และเหล่า First Jobber ได้เป็นอย่างดี จนรายได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตและทำกำไรอย่างต่อเนื่อง 

  • ปี 2562 รายได้ 499 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 1,223 ล้านบาท (+145%)
  • ปี 2564 รายได้ 1,572 ล้านบาท (+28%)
  • ปี 2565 รายได้ 3,976 ล้านบาท (+152%)
  • ปี 2566 รายได้ 5,262 ล้านบาท (+32%)

โดยจะเห็นว่า นับตั้งแต่เปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน สุกี้ตี๋น้อย มีรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่อง และในปี 2567 ที่ผ่านมายังสามารถทำกำไรทะลุหนึ่งพันล้านบาท (1,169 ล้านบาท) ได้แล้วด้วย เรียกว่าใช้เวลาแค่ 6 ปีเท่านั้น และหากยังสามารถเติบโตในอัตรานี้ต่อไปได้เรื่อยๆ อีกไม่นาน สุกี้ตี๋น้อย ก็จะมีรายได้ทะลุหมื่นล้านแล้ว

สุกี้ MK ปรับตัวช้า แถมคู่แข่งผุดทุกเซกเมนต์

ไม่เพียงเท่านั้นด้วยความที่ร้านชาบูสุกี้ในยุคใหม่ก็เริ่มจับช่องว่างทางการตลาดที่เคยเปิดอยู่ในตลาดชาบู-สุกี้ได้ว่า เดิมจะมีแต่ร้านสุกี้ระดับกลางถึงกลางบนไม่กี่เจ้า (ราคาต่อหัวราวๆ 400-700 บาท) และและร้านสุกี้ที่จับกลุ่มเซกเมนต์แบบกลุ่มแมสในราคาประมาณ 199 ถึง 300 บาท ก็เลยเริ่มเกิดร้านที่ไปจับช่องว่างของร้านสุกี้-ชาบูที่เป็นเซกเมนต์บน และมีคู่แข่งไม่เยอะ เลยเกิดเป็น Hitori shabu ภายใต้เครือ Maguro ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ช่วง 5 ปี สุกี้ MK ต้องเผชิญกับปัญหาด้านการปรับตัวที่ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับแบรนด์เกิดใหม่เหล่านี้ ทั้งในด้านความหลากหลายและด้านแคมเปญการตลาดที่ไม่ทันเจ้าใหม่ๆ รวมถึงการไปสู้ในด้านราคาก็ทำได้ยาก ด้วยเซกเมนต์ที่ตัวเองอยู่ ทำให้ต้องขายราคาที่สูง เมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ ที่ลูกค้ามี ทำให้ MK สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดมาเรื่อยๆ

ปรับตัวครั้งใหญ่ ทำการตลาดไวรัล หวังดึงลูกค้าเดิมคืน

ในปีนี้จึงได้เห็นแนวทางการปรับตัวของ MK ครั้งใหญ่ ตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Mongkol Restaurant’ ใน 4 สาขาช่วงตรุษจีนที่เรียกกระแสฮือฮาทั้งในแง่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย

ก่อนจะตามมาด้วยการออกแคมเปญ ‘หมี่ยืนยาว’ ในช่วงเดียวกัน รวมถึงคอนเทนต์กราฟิกน้ำจิ้มท้าทายเหล่ากราฟิกดีไซเนอร์สุดไวรัล และขยับมาสู่การออกโปรโมชัน ‘หมูมาราธอน’ ที่ปกติจะไม่เคยลงมาแข่งขันในราคานี้ ก็สะท้อนว่า MK ต้องการจะกลับมายึดกลุ่มลูกค้าเดิมที่เคยเป็นของตนเองกลับไป

ด้านทายาทของ MK Restaurant เองก็ออกมายอมรับว่า ปัจจุบันตลาดสุกี้แข่งขันกันดุเดือด เป็นโจทย์ใหญ่ของ MK ที่จะต้องสู่ศึกนี้แบบ ‘เต็มกำลัง’ ด้วยกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ที่ทำให้แบรนด์สนุกยิ่งขึ้นและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

มุมมองความเห็นของผู้บริโภคต่อการปรับตัวของ MK มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่หนึ่งในความคิดเห็นที่มีคนเห็นด้วยจำนวนมากคือ ประเด็นด้าน ‘ราคา’ ว่า ครั้งหนึ่ง MK เคยเป็นร้านกลุ่มแมส และสามารถกินได้ทุกวัน แต่ ณ ปัจจุบันด้วยการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เทียบกับตัวเลือกในตลาดแล้ว MK อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก

แน่นอนว่าการแข่งขันในตลาดชาบูสุกี้คงไม่จบลงง่ายๆ เพียงเท่านี้ เพราะยังคงมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา มีแบรนด์ดาวรุ่งมากมายที่โตขึ้นและได้ฐานลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ รวมยังมีกระแสกินตามโซเชียล ที่ทำให้ผู้บริโภคไทยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว จึงบอกไม่ได้ว่าสุดท้ายจะจบลงอย่างไร

อ่านมาจนถึงตอนนี้แล้ว คุณคิดว่าในอนาคต MK Restaurant จะยังสามารถรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ในตลาดชาบูสุกี้ไทยเอาไว้ได้หรือไม่ หรือจะเสียตำแหน่งให้กับคู่แข่งทางธุรกิจไป

อ้างอิง SET, Creden Data

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา