อย่าเพิ่งตาย ฉันเพิ่งเริ่มของจริง เพราะปีนี้ วงการ ‘หนังสือ’ ในสหรัฐฯ ฟื้นคืนชีพแล้ว
‘Barnes & Noble’ ร้านหนังสือแบรนด์ดังของสหรัฐอเมริกา ประกาศขยายสาขาเพิ่มถึง 60 แห่งในปี 2025 มากกว่าปีที่แล้วประมาณ 3 สาขา นับเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศ
แม้ยุคนี้ใครๆ ต่างก็สบประมาทว่า หนังสือคงอยู่ไม่รอดหรอก เพราะคนหันไปอ่านอีบุ๊กกันหมดแล้ว แต่ Barnes & Noble เผยว่า ในปี 2024 บริษัทมีจำนวนสาขาเปิดใหม่ มากกว่ายอดสาขาที่เปิดเพิ่มในทศวรรษ 2009 ถึง 2019 อีก
อะไรเป็นปัจจัยให้คนกลับมาอ่านหนังสือเล่มมากขึ้นกัน?
BookTok และความเหงาเป็นเหตุ
จริงๆ แล้ว ที่คนบอกกันว่า หนังสือจะอยู่ยากขึ้นเพราะมีอีบุ๊ก ก็ไม่ผิดมากหรอก เพราะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา Barnes & Noble เผชิญมรสุมอย่างหนัก
อย่าว่าแต่เรื่องการขยับขยายธุรกิจเลย เพราะบริษัทต้องปิดสาขาไปราวๆ 150 แห่งด้วยซ้ำ
ความจริงคือ Barnes & Noble เพิ่งกลับมาเติบโตได้ในปี 2023 ซึ่งเปิดสาขาเพิ่มถึง 30 แห่ง และสำหรับปี 2025 บริษัทเชื่อว่าจะเป็นปีทอง โดยปัจจัยหลักๆ ที่เข้ามาเร่งการเติบโตนี้คือ
- ‘#BookTok’ มาแรงแซงทางโค้ง
‘BookTok’ คือแฮชแท็กสำหรับคอนเทนต์แนะนำหนังสือบนแพลตฟอร์ม TikTok ที่กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของนักอ่านตัวยง แถมยังช่วยสร้างยอดขายให้นักเขียนเป็นล้านๆ เล่ม
Barnes & Noble เล่าว่า BookTok เริ่มได้รับความนิยมเมื่อช่วงโควิด และนับตั้งแต่นั้นมา ร้านหนังสือก็กลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
- ความเหงาระบาดหนัก พร้อมปรากฏการณ์ ‘บ้านหลังที่ 3’
อีกหนึ่งสาเหตุคือปรากฏการณ์ ‘บ้านหลังที่ 3’ ซึ่งหมายถึงสถานที่ที่คนจะมาพบปะกัน นอกเหนือจากบ้านและที่ทำงาน อย่างเช่น ยิม บาร์ หรือร้านกาแฟ
ยิ่งในช่วงแบบนี้ ที่ความเหงากำลังระบาดหนัก ผู้คนเลยหันมาหาที่พึ่งทางใจอย่างบ้านหลังที่ 3 กันมากขึ้น โดยร้านหนังสือก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิต เพราะไม่ต้องเสียค่าเข้าสักบาท บรรยากาศเป็นมิตร แถมยังเต็มไปด้วยหนังสือให้อ่าน และเครื่องดื่มมากมายให้เลือกอีก
เทรนด์ร้านหนังสือเฉพาะทางกำลังมา

นอกจากนี้ ร้านหนังสือยังขึ้นชื่อในเรื่องของการเป็นศูนย์รวมคนที่มีความคิดความอ่านเหมือนๆ กัน ดังนั้น ในสหรัฐฯ พวกร้านหนังสือที่เจาะจงหมวดใดหมวดหนึ่งโดยเฉพาะ จึงกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
ยิ่งถ้าเจาะไปที่ร้านหนังสือโรแมนติก ขอบอกเลยว่าฮอตฮิตสุดๆ เพราะจากในปี 2020 ที่เคยมีแค่ 2 แห่ง 5 ปีถัดมา ร้านประเภทนี้ก็เพิ่มขึ้นกว่า 20 เจ้าแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น ‘Lovestruck Books’ ร้านหนังสือที่รวมเรื่องราวโรแมนติกกว่า 12,000 เล่ม พร้อมกับคาเฟ่นั่งชิลล์ บาร์ไวน์ โซนเทียนหอม เครื่องเขียน และอีเวนต์ให้ทุกคนได้มาเฉลิมฉลองกับความรัก เป็นต้น
สถานการณ์ร้านหนังสือไทยยังไม่สู้ดี แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง
สำหรับประเทศไทย ความนิยมของหนังสือยังคงมีอยู่เรื่อยๆ แต่จะเรียกว่า ‘ฟื้นคืนชีพ’ เหมือนฝั่งอเมริกาไหม ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำเท่าไรนัก
ถ้ามาย้อนดูจากรายได้ของร้านหนังสือเจ้าใหญ่ๆ ที่มีสาขาจำนวนมากดูเหมือนจะแนวโน้มของรายได้จะดีขึ้น เช่น
ร้านนายอินทร์ : บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด
- ปี 2564 รายได้ 848 ล้าน กำไร 40 ล้าน
- ปี 2565 รายได้ 1,718 ล้าน กำไร 4.5 ล้าน
- ปี 2566 รายได้ 1,945 ล้าน กำไร 17 ล้าน
ร้าน SE-ED : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
- ปี 2564 รายได้ 1,606 ล้าน ขาดทุน 61 ล้าน
- ปี 2565 รายได้ 1,795 ล้าน กำไร 2.4 ล้าน
- ปี 2566 รายได้ 1,885 ล้าน กำไร 25 ล้าน
ร้าน B2S : บริษัท บีทูเอส จำกัด
- ปี 2564 รายได้ 2,814 ล้าน ขาดทุน 17 ล้าน
- ปี 2565 รายได้ 4,176 ล้าน กำไร 488 ล้าน
- ปี 2566 รายได้ 2,737 ล้าน กำไร 17 ล้าน
นอกจากนั้น ‘มหกรรมหนังสือฯ’ ที่ผ่านมาก็ยังเติบโตอยู่ โดยครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2024 มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.4 ล้านคน สร้างรายได้มากถึง 438 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นราวๆ 15% เลย
ทาง ‘นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย’ อธิบายว่า ความสำเร็จนี้ มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ
- ธีมงานน่าสนใจ แปลกใหม่ และดึงดูดคนได้
- ผลตอบรับดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ช่วยกันแชร์ผ่านโซเชียล จนสร้างกระแสในวงกว้าง
- สำนักพิมพ์และผู้ผลิตหนังสือปรับตัวให้ตอบสนองความต้องการนักอ่านมากขึ้น
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ร้านหนังสืออิสระหลายๆ เจ้ายังทยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีที่ผ่านมา อย่างเช่น กลิ่นหนังสือ ที่ปิดกิจการเมื่อเดือนสิงหาคม 2024 หรือ Lunaspace ซึ่งปิดกิจการไปในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
ทำให้น่ามาย้อนคิดว่า จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมหนังสือในไทยสามารถกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งในเหมือนกับในสหรัฐอเมริกา รวมถึงเป็นการเติบโตแบบกระจายไปถึงร้านหนังสืออิสระต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการอ่านหนังสือที่หลากหลายให้กับคนไทยด้วย
ที่มา: Fast Company, Lovestruck Books, X (1) (2), Corpus X
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา