ถือเป็นประเทศเกิดใหม่ที่น่าติดตาม หลังการเปิดประเทศของเมียนมาร์ สถิติระบุว่า 5 ปีก่อนมีคนใช้สมาร์ทโฟนเพียง 3% ปัจจุบันใช้มากถึง 89% ตอนนี้ค่ายเทเลคอมหน้าเก่าก็แย่งตลาดกันหนัก ส่วนหน้าใหม่ก็เตรียมบุกปีหน้า สนุกแน่
ค่ายเทเลคอมแข่งหนักในเมียนมาร์ ประเทศเกิดใหม่ ยอดใช้พุ่ง
ทุกวันนี้ในเมียนมาร์มียอดการใช้งานสมาร์ทโฟนสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ 5 ปีที่แล้วอัตราการใช้สมาร์ทโฟนในเมียนมาร์อยู่ที่ประมาณ 3% แต่ในปี 2016 พุ่งมาอยู่ที่ 89% นอกจากนั้น ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตก็สูงขึ้นมาก เพิ่มสูงชนิดที่ว่า มีหมู่บ้านหนึ่งในเมืองหลวง ถ้านับระยะทางก็ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ประมาณ 2 ชั่วโมง ไม่มีไฟฟ้าจากทางการให้ใช้ แต่ตอนนี้ก็มีเครื่องปั่นไฟในบ้าน หรือบางบ้านได้ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เรียบร้อยแล้ว
ถ้าดูการเปลี่ยนแปลงในเมียนมาร์จะพบว่า นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ที่บริษัท Tenor ของนอร์เวย์ และ Ooredoo ของกาตาร์ เข้ามาให้บริการด้านโทรคมนาคมในประเทศ โดยการแพร่หลายในวงกว้างของบริการมาพร้อมกับการส่งโปรโมชั่นซื้อซิมการ์ด 1 ใบในราคาไม่เกิน 35 บาท
ไม่พอแค่นั้น หลายบริการก็ส่งเข้ามาในเมียนมาร์อย่างต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศ ความต้องการใช้ 4G หรือกระทั่งการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ ก็เติบโตอย่างรวดเร็วมาก ผู้เล่นหลายรายจากหลากหลายวงการเข้าไปให้บริการกันมากมาย เช่น Grab เป็นต้น
แต่สองบริษัทข้างต้นที่เข้าไปทำตลาดในเมียนมาร์ก็ใช่ว่าจะไม่มีคู่แข่ง เพราะอย่าง MPT ที่เป็นพาร์ทเนอร์ของผู้ให้บริการจากญี่ปุ่น KDDI แถมยังร่วมกับ Sumitomo ก็ได้ส่งบริการโทรคมนาคมมาลงไปในตลาดเมียนมาร์ แถมยังครองเบอร์ 1 อีกด้วย
ถ้าไปดูส่วนแบ่งการตลาดเทเลคอมในเมียนมาร์ MPT นำโด่งมาที่ 47% ตามมาด้วย Telenor ที่ 37% และ Ooredoo มีอยู่เพียง 16%
ไม่จบแค่นี้ เตรียมพบกับ “ผู้เล่นหน้าใหม่” มาลงในเมียนมาร์เพิ่มอีก
จากข้อมูลระบุว่า ค่ายเทเลคอมสามรายใหญ่ที่ครองตลาดเมียนมาร์ในขณะนี้ อาจจะมีคู่แข่งเพิ่มในปี 2018 เพราะ Viettel ของเวียดนามที่ร่วมมือกับ Axiata จากมาเลเซียกำลังวางแผนเข้าสู่ตลาดเมียนมาร์ในต้นปีหน้า ที่สำคัญคือสองค่ายนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากนอกจากในบ้านเกิดตัวเองแล้ว ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาก็ประสบความสำเร็จไม่น้อย ดังนั้น การจะบุกเมียนมาร์จึงถือเป็นผู้เล่นที่สำคัญ
มากกว่านั้น ถ้าย้อนดูประวัติ ในปี 2013 Viettel ได้บุกไปในติมอร์ตะวันออกภายใต้แบรนด์ Telemor และประสบความสำเร็จมาก เพราะครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 47%
ในขณะที่ Axiata ก็ได้บุกในในศรีลังกา และประสบความสำเร็จด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดที่ 40% นอกจากนั้นยังได้บุกไปในบังคลาเทศ ครองส่วนแบ่งเป็นที่สองของตลาดที่ 29% รองมาจาก Telenor Grameenphone ที่ครองไว้ 45%
หลังจากนี้ ต้องจับตาดูตลาดเทเลคอมเมียนมาร์ให้ดี เพราะพอมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ มาเพิ่มในตลาด การแข่งขันจะดุเดือดขึ้น ผู้เล่นหน้าเก่าก็ต้องปรับตัว ส่วนผู้ใช้งานคือชาวเมียนมาร์ก็จะมีโอกาสในการเลือกใช้บริการที่หลากหลายมากขึ้น
น่าติดตามจริงๆ ปีหน้าน่าจะสนุกมากขึ้น รอติดตามกันได้
ที่มา – Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา