กระแสอีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่อง เพราะผู้คนนิยมซื้อของออนไลน์แล้วให้มาส่งแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น แต่สงสัยไหมว่าทำไมบริการซื้อของสดออนไลน์ถึงยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
ผู้เล่นทยอยลงตลาด online grocery (ที่น่าจะโต)
ถ้าพูดถึงบริการสั่งซื้อของสดออนไลน์ หรือ online grocery รายใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาตอนนี้เป็นของ Amazon, Walmart หรือ Target รวมถึงรายที่เคยทำซุปเปอร์มาก่อนอย่าง Safeway ก็เข้ามาเล่นในตลาดนี้ และนอกจากนั้นยังมีสตาร์ทอัพจากซานฟรานซิสโก Instacart ที่ลงมาเล่นในตลาดนี้ ด้วยการระดมทุนใหม่ไปกว่า 700 ล้านเหรียญ ทำให้ตอนนี้มีมูลค่าธุรกิจประมาณ 3.4 พันล้านเหรียญแล้ว ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
นั่นเป็นเพราะ มีรายงานการประเมินที่ระบุไว้ว่า ในปี 2025 ตลาดนี้ในสหรัฐอเมริกาจะมีการใช้จ่ายจากผู้บริโภคถึงระดับ 1 แสนล้านเหรียญ แต่ต้องไม่ลืมว่า ตัวเลขจำนวนนี้คือการคาดการณ์ เพราะถ้าดูจากภาพรวมตลาดในปัจจุบันจริงๆ ต้องนับว่าตลาดสั่งซื้อของสดออนไลน์ยังเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้มากเท่าที่ควร
ข้อมูลตัวเลขเท่าที่หาได้ HappyFresh เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าตลาด online grocery ในสหรัฐอเมริกายังคิดเป็นเพียง 10% ของภาพรวมตลาดทั้งหมด ส่วน honestbee ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ถึงภาพรวมของตลาด online grocery ในไทยทั้งหมดอยู่ที่ 3% เท่านั้นเอง
เปิดผลสำรวจ ทำไมคนไม่ชอบสั่งของสดออนไลน์?
ผลสำรวจจาก Morgan Stanley ในปี 2017 เปิดเผยว่า ผู้คนกว่า 84% ยังไม่ชื่นชอบการซื้อของสดออนไลน์ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ถ้าจะต้องซื้อของสดเช่นผักผลไม้ ขอเป็นคนไปเลือกเองจะดีกว่า ที่น่าสนใจคือตัวเลขจากผลสำรวจนี้เท่ากับปี 2016 ตัวเลขไม่เปลี่ยน หมายความว่า คนส่วนใหญ่ยังคงไม่นิยมชมชอบการสั่งซื้อของสดออนไลน์ แล้วต้องรอรับที่บ้านอย่างเดียว เหตุผลก็เพราะผู้บริโภค “ไม่ได้เลือก” นั่นเอง
อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มีคนที่ได้ลองสั่งซื้อของสดออนไลน์แล้ว พบว่า ไม่ประทับใจเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนที่ 17% เป็น 27% ในปีนี้
แก้ปัญหา “ความอยากเลือก” ด้วยการให้ความรู้ จะเพียงพอไหม?
หนึ่งในทางออกที่เห็นคือ online grocery เหล่านี้พยายามให้ความรู้ (educate) กับลูกค้า ก็ชัดเจนว่าบริการเหล่านี้ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า แต่จะเพียงพอจนมาทดแทนความรู้สึกที่ได้สัมผัสและได้เลือกสินค้าได้หรือไม่?
ลองดูตัวอย่าง สตาร์ทอัพ Instacart ส่งวิดีโอสอนนักช้อปปิ้ง (คนที่จะไปเลือกซื้อสินค้าให้) ในวิดีโอจะมีการสอนว่าการเลือกซื้อผลไม้แต่ละชนิดให้ดูที่ไหน ดูอย่างไร เช่น ถ้าจะซื้อกล้วย ทั้งลูกต้องเหลืองอร่าม แต่ปลายขั้วต้องมีสีเขียว เข้าใจว่าการอบรมพนักงานของตัวเองทำหลังบ้านก็ได้ แต่การนำมาเผยแพร่ก็เพราะต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้ลูกค้านั่นเอง
สรุป
ตลาดซื้อของสดออนไลน์หรือ online grocery เป็นตลาดที่ผู้ให้บริการต้องควบคุมปัจจัยหลายอย่าง แม้ว่าจะมีผู้เล่นหน้าเก่าและหน้าใหม่เข้ามา แต่ตลาดนี้ไม่ง่ายจริงๆ เพราะการบริการสินค้าที่เป็นของมีอายุขัยสั้น และอายุขัยนั้นส่งผลต่อสินค้าโดยตรง เป็นต้นว่า เวลาเพียง 1 วัน ก็ส่งผลต่อผักและผลไม้โดยตรง
นอกจากนั้น ยังมีความรู้สึกเชิงจิตวิทยา (แต่ก็ต้องยอมรับว่า คือความจำเป็นในบางครั้ง) เช่น ความต้องการสัมผัสสินค้าโดยตรง ทำให้มีความมั่นใจได้มากกว่า หรือเลยไปจนกระทั่งการหยิบสินค้าข้างในแถวที่จัดไว้ เพราะผู้บริโภคทราบว่าสินค้าที่จัดไว้หน้าแถวคือสินค้าที่จะหมดอายุก่อน จึงหยิบชิ้นถัดไป สิ่งสำคัญคือผู้ให้บริการ online grocery เข้าใจผู้บริโภคในระดับใด แต่ถึงที่สุด การจะอบรมให้พนักงานเลือกหยิบสินค้าที่ไม่เป็นไปตามลำดับที่ร้านจัดไว้ก็คงจะสร้างความวุ่นวายและไม่พอใจของร้านคู่ค้าอยู่ไม่น้อย
อ้างอิง – QUARTZ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา