สื่อสารยาก ขี้เกียจ ไม่อดทน หวังแต่เงินเดือนสูงๆ ทำไม Gen Z ถึงเป็นสนามอารมณ์ รับจบทุกสถานการณ์

“เด็กสมัยนี้นะ ความอดทนน้อย ทักษะการสื่อสารต่ำ ให้ทำอะไรก็ทำไม่เป็น แล้วยังมาหวังเงินเดือนเยอะๆ อีก” ประโยคนี้จริงแค่ไหน?

gen z

จากผลสำรวจ 74% ของหัวหน้างานมองว่า Gen Z ทำงานด้วยยาก เนื่องจาก

  • ขาดทักษะเทคโนโลยี 39%
  • ขาดแรงจูงใจในการทำงาน 37%
  • ขาดความพยายาม 37%
  • ขาดทักษะการสื่อสาร 36%
  • ขี้หงุดหงิด ไม่พอใจง่าย 35%

นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยอีกมากที่ออกมาชี้ว่า Gen Z แย่แค่ไหน จนหลายบริษัทไม่ค่อยอยากรับคนรุ่นนี้เข้าทำงาน และ Gen Z เองก็กลายเป็นเจนเนอเรชันที่มีความเครียดมากที่สุด

ถ้าคุณคาดหวังให้บทความนี้เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่แสดงข้อบกพร่องของ Gen Z คุณคงคิดผิด เพราะเราอยากชวนตั้งคำถามว่า จริงๆ ปัญหาทั้งหมดเป็นเพราะ Gen Z หรือเพราะใครกันแน่?

ผิดที่งานวิจัย

Gen Z ไม่ใช่เด็กรุ่นแรกที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนเอาแต่ใจ เพราะก่อนหน้านี้ Gen Y ก็โดนเรียกว่า Generation Me มาแล้ว

ในปี 2006 ‘Jean Twenge’ ศาสตราจารย์ภาคจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้เขียนงานวิจัยเกี่ยวกับ Gen Y เรื่อง ‘Generation Me: เปิดสาเหตุทำไมคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ มีความมั่นใจมากขึ้น กล้าแสดงออก มั่นหน้า และน่าเวทนามากกว่าใครๆ’

10 ปีผ่านไป Twenge ก็ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นใหม่ เกี่ยวกับ Gen Z ในหัวข้อ ‘iGen: เปิดสาเหตุทำไม เด็กยุคดิจิทัลดื้อน้อยลง อดทนมากขึ้น แต่ไม่มีความสุข และไม่พร้อมรับมือกับการเป็นผู้ใหญ่เลย’

ไม่ใช่แค่ Twenge ที่ดูหมกมุ่นกับการวิเคราะห์นิสัยคนรุ่นใหม่ แต่ดูเหมือนว่าศาสตราจารย์หรือนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้

นักสังคมวิทยาท่านหนึ่งเล่าว่า สาเหตุของปรากฎการณ์ก็มาจากการที่ระบบการศึกษาไม่ได้เป็นแค่แหล่งเรียนรู้ แต่ยังเป็นแหล่งทำเงินขนาดใหญ่ โดยมีคณาจารย์เป็นตัวสร้างรายได้

ดังนั้น อาจารย์เลยต้องพากันหาหัวข้อวิจัยแล้วตีพิมพ์ผลงานออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อหาเงินเข้ามหาวิทยาลัย 

ส่วนนักจิตวิทยาสังคมทั้งหลายต่างก็ถูกกดดันให้เขียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพจิตต่างๆ นานาในยุคปัจจุบัน

เพราะบนโลกนี้ คงไม่มีหัวข้อไหนน่าอ่านไปกว่าสภาพจิตใจวัยรุ่นหรอกจริงไหม?

ผิดที่การสัมภาษณ์งาน

จากผลสำรวจมุมมองของผู้จัดการและผู้บริหารบริษัทต่างๆ พบว่าในบรรดาขั้นตอนการสมัครงานทั้งหมด Gen Z มักจะตกม้าตายเวลาสัมภาษณ์ แต่นายจ้างเคยลองนั่งอ่านคำถามตนเองบ้างหรือเปล่าว่ามันมีประโยชน์ตรงไหน?

พนักงานสาววัย 25 ปีคนหนึ่งเผยว่า สิ่งที่ยากที่สุดเวลาสัมภาษณ์งาน คือการตอบคำถามไร้สาระ เช่น

  • นิยามตนเองใน 3 คำ
  • ถ้าให้เลือกเป็นเครื่องครัว 1 ชนิด คุณจะเป็นอะไร

ในมุมมองของเธอ คำถามเหล่านี้เป็นเหมือนกับการให้นายจ้างมาตัดสินเราด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วเอาคำตอบไปตีความแบบเหมารวม ซึ่งเธอเชื่อว่า คนรุ่นใหม่ยินดีที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับเนื้องานโดยตรงมากกว่า

ด้านผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแห่งหนึ่งอธิบายว่า เด็กๆ Gen Z เขามองการสัมภาษณ์เป็นการหารือระหว่างคนสองฝ่าย

กล่าวคือเวลาสัมภาษณ์ Gen Z ไม่ได้คิดแค่ว่า พวกเขาต้องตอบอย่างไรถึงจะได้งาน แต่ทางบริษัทก็ควรตอบด้วยว่าทำไมเขาถึงต้องอยากทำงานที่นี่ 

ผิดที่โควิด

Bangkok People Face Masks COVID-19
ภาพจาก Shutterstock

อย่าลืมว่า Gen Z โตมากับการเรียนออนไลน์ และ Work From Home ซึ่งพวกเขาบางส่วนต้องนั่งเรียนที่บ้านจนจบมัธยม ในขณะที่บางส่วนก็เริ่มงานแรกแบบไม่เคยเจอหน้าพี่ๆ ในออฟฟิศเลย

จากบทความของ The Guardian เมื่อไม่นานมานี้ มี Gen Z คนหนึ่งได้เริ่มเข้าทำงานในออฟฟิศแบบจริงจังเป็นครั้งแรก หลังทำงานออนไลน์มาโดยตลอด

ในทีแรก เธอมั่นใจมากๆ ว่าสามารถปรับตัวได้ แต่พอเอาเข้าจริง เธอไม่รู้เลยว่าเวลาพูดคุยต่อหน้า จะต้องเอามือไม้ไปไว้ที่ไหน

ยิ่งไปกว่านั้น พอถึงเวลาทานข้าวกับเพื่อนร่วมงาน เธอก็ลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามารยาทพื้นฐานบนโต๊ะอาหารควรเป็นอย่างไร และหลังผ่านยุคการระบาดของโควิด เรายังต้องจับมือเพื่อทักทายกันอยู่ไหม?

นอกจากนี้  Gen Z ยังเป็นวัยที่เผชิญภาวะวิตกกังวลสูงมาก มันจึงไม่แปลกที่ Gen Z หลายคนจะมีปัญหาในการวางตัว รวมถึงการใช้ภาษากายเวลาคุยต่อหน้า

ผิดที่ผู้ใหญ่ทุกคน

หนึ่งใน HR วัย Gen X ผู้คร่ำหวอดในแวดวงบริหารทรัพยากรมนุษย์ เคยเขียนบทความในทำนองว่า ก่อนจะไปโทษ Gen Z เราลองมองพวกที่อาบน้ำร้อนมาก่อนดีกว่าไหม ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

  1. เด็ก Gen Z ไม่ดี หรือ Gen X และ Baby Boomer เป็นพ่อแม่ที่แย่?

จากการสำรวจผู้ว่างจ้างโดย Intelligent.com พบว่า

  • 20% เคยเจอ Gen Z พกผู้ปกครองมาสัมภาษณ์งานด้วย
  • 53% มองว่า Gen Z ชอบหลบสายตาเวลาสนทนา
  • 47% เจอ Gen Z แต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะ

และถ้าถามว่าใครเป็นคนเลี้ยงพวกเขาเหล่านี้มา คำตอบส่วนใหญ่ก็คงไม่พ้น Gen X หรือ Baby Boomer 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายจ้างเหล่านั้นเจอ ก็ไม่เหมาะสมจริงๆ แต่แทนที่จะถามว่า ทำไม Gen Z เป็นแบบนี้ อาจต้องลองเปลี่ยนเป็น ทำไม Gen X และ Baby Boomer เลี้ยงลูกให้โตมาแบบนี้ได้?

  1. ทำไมครูบาอาจารย์ต้องโอ๋เด็ก?

จากผลสำรวจ 91% ของผู้ประกอบการธุรกิจมองว่า สาเหตุที่เด็กรุ่นใหม่คาดหวังเงินเดือนสูงๆ อย่างไม่สมเหตุสมผล ก็เพราะมหาวิทยาลัยเป็นคนริเริ่มความคาดหวังแบบผิดๆ ไว้

ปัจจุบัน เด็กจบใหม่หลายๆ คนเข้าใจว่าตนเองควรจะได้รับเงินเดือนเทียบเท่ากับคนที่ทำงานมาแล้วหลายปี โดย 63% คาดการณ์ตัวเลขแบบผิดๆ และอีก 50% ไม่รู้ว่าการทำงานจริงๆ มันยากแค่ไหน

แม้การจบปริญญาตรีจะช่วยให้เราได้งานที่มั่นคงและรายได้สูงกว่า แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่มหาวิทยาลัยพากันอำนวยความสะดวกให้เด็ก จน Gen Z ไม่รู้ว่าโลกแห่งความเป็นจริงทำงานกันอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น Stanford University มหาวิทยาลัยที่มีบุคลากรมากกว่าจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ส่งผลให้เด็กเหล่านี้ใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยสบายมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เจอปัญหา พวกเขาสามารถวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้ทันที 

  1. จะรุ่นไหนก็โดนผู้ใหญ่ว่าทั้งนั้น

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Calgary เคยโพสต์บทความวิเคราะห์ในเชิงที่ว่า ต่อให้คุณจะเกิดชาติไหน คุณก็อาจโดนผู้ใหญ่ในสมัยนั้นตราหน้าว่าเป็น ‘เด็กสมัยนี้’ อยู่ดี

เมื่อ 300-600 ปีก่อนคริสตศักราช ผู้ใหญ่เคยบ่นกันว่า “เด็กๆ เดี๋ยวนี้นะ เอาแต่ใจตัวเองมากขึ้นทุกวัน อกตัญญู ไม่ค่อยรับใช้พ่อแม่ตนเอง”

ด้วยเหตุนี้ หากคุณเป็น Gen Z ก็ไม่ต้องน้อยใจหรอกว่าทำไมถึงโดนกล่าวหาตลอด เพราะความจริงคือ จะยุคไหนๆ ผู้ใหญ่ต่างโทษคนที่เด็กกว่าตนเองทั้งนั้น

ในทางกลับกัน หากคุณเป็นผู้ใหญ่ที่โตกว่า Gen Z ก็ต้องยอมรับด้วยว่าเด็กเหล่านี้อายุยังน้อย และพวกเขาต้องเรียนรู้อีกมากถึงจะมีประสบการณ์เท่ารุ่นอื่น 

ผิดขนาดที่ Pew Research เลิกแบ่งแยกเจนเนอเรชัน

Sandwich Generation

ล่าสุด ‘Pew Research’ องค์กรวิจัยเก่าแก่ในสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่า พวกเขาได้เลิกทำผลสำรวจที่ไปตีกรอบคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง และจะพูดถึงแต่ละเจนเนอเรชันก็ต่อเมื่อเนื้อหามีประโยชน์กับสังคมเท่านั้น

Pew Research มองว่างานวิจัยที่เอาคนแต่ละรุ่นมาเทียบกันดูไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ เพราะหากคุณเอา Gen Y อายุตั้งแต่ 27 ถึง 42 ปี มาเทียบกับ Gen Z วัย 11 ถึง 26 ปี คุณว่ามันยุติธรรมหรือเปล่า ในเมื่อทั้งสองรุ่นอยู่กันคนละช่วงชีวิต แถมยังมีช่องว่างระหว่างวัยมากถึง 31 ปีด้วย

นอกจากนี้ มันยังชี้โพรงให้คนเหมารวมลักษณะของแต่ละเจนเนอเรชันแบบผิดๆ 

เช่น เมื่อก่อน เคยมีผลสำรวจชิ้นหนึ่งที่ชี้ว่า Gen Y ย้ายงานบ่อยมาก จนถูกตราหน้าว่าเป็นเจนเนอเรชันที่ไม่มีความภักดีต่อองค์กร ทั้งๆ ที่ Gen X ก็เปลี่ยนงานถี่พอๆ กัน

หรือผิดที่เราด่วนตัดสิน Gen Z

Working

อ่านมาถึงตรงนี้ คนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า คนเขียนมันเป็น Gen Z หรือเปล่า ทำไมโทษทุกอย่างเลยยกเว้นตัวเอง

คำตอบไม่สำคัญ แต่สิ่งที่อยากชี้ให้เห็นคือ ในงานวิจัยหรือบทความส่วนใหญ่ เราจะได้เห็นแค่การวิเคราะห์ Gen Z ผ่านมุมมองของเจนเนอเรชันอื่นๆ โดยไม่มีใครเคยถามเลยว่า เด็กรุ่นใหม่คิดเห็นอย่างไรบ้าง

‘Jonathan Compo’ ผู้เขียนบทความ ‘Gen Z เจนเนอเรชันแห่งแพะรับบาป’ ได้แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้มันเลยเถิดไปมาก และคนก็พากันตัดสิน Gen Z ตั้งแต่ตอนที่พวกเขายังเด็กเกินกว่าจะรู้เรื่องด้วยซ้ำ

ในฐานะที่ Compo คือ Gen Z คนหนึ่ง เขาเลยอยากบอกว่า แม้ปัจจุบันคนจะเชื่อถืองานวิจัยของ Jean Twenge กัน แต่อีกไม่นาน เมื่อถึงเวลาของนักเขียนรุ่นใหม่ ทุกคนก็จะรู้แล้วว่า Gen Z ไม่ได้ไม่รู้จักโตไปเสียหมด และทางผู้ใหญ่เองพร้อมหรือยังกับการเติบโตของคนรุ่นนี้

ที่มา: The Pavlovic Today / Workable / The Guardian / Yahoo! Finance

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา