กลับมาอีกครั้งกับ ‘งานหนังสือ’ ที่ปลุกเหล่าหนอนหนังสือให้ออกมาล่ากองดองกองใหม่ โดยครั้งนี้ผู้จัดตั้งเป้าว่าจะมีผู้มาเที่ยวงานกว่า 1.6 ล้านคนในช่วงระยะเวลา 10 วัน แต่ถ้าไม่ใช่แค่ ‘งานหนังสือ’ แต่เป็น ‘อุตสาหกรรมหนังสือไทย’ ล่ะเป็นยังไงบ้าง?
‘สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์’ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เล่าว่า อุตสาหกรรมหนังสือในปัจจุบันไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ขณะเดียวกันทุกคนอาจจะบอกว่าเศรษฐกิจตกต่ำ แต่หนังสือไม่ตกต่ำ โดยอุตสาหกรรมมีมูลค่าราว 1,600 ล้านในปีที่แล้ว ส่วนช่วง 9 เดือนแรกของปีคาดเติบโตประมาณ 5-10% จากปีก่อน
ตลอดปีมีทั้ง ‘สำนักพิมพ์’ ปิดตัวและเปิดใหม่ โดยมีสำนักพิมพ์เปิดใหม่เดือนละ 3-4 ราย สถานการณ์ธุรกิจของสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่ได้หวือหวามาก เรียกว่าพออยู่พอกิน และจะมาบูมกันในช่วงงานหนังสือปีละ 2 ครั้งเป็นหลัก
ร้านหนังสือหันขายใน Shopee-Lazada
นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยฯ อธิบายต่อว่า ปัจจุบัน ร้านหนังสือใหญ่ๆ อย่าง SE-ED, อมรินทร์ หรือมติชนไม่ได้จำหน่ายแค่หน้าร้านหรือในเพจอย่างเดียว แต่ไปเติบโตในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee หรือ Lazada ด้วย
เพราะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีคูปองส่วนลดจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงแคมเปญดับเบิลเดย์ (ตัวอย่างเช่น 9.9 หรือ 10.10) ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อหนังสือในแพลตฟอร์ม ทำให้แบรนด์หรือร้านหนังสือใหญ่ๆ สามารถเติบโตแบบคู่ขนานได้
คนไทยกลุ้ม ‘หนังสือฮีลใจ’ ความนิยมพุ่ง?
ในประเด็น ‘หมวดหนังสือ’ พบว่า หนังสือหมวด ‘นิยาย’ มีสัดส่วนประมาณ 45% ของตลาด ตามด้วยหมวดมังงะ-ไลท์โนเวลที่มีสัดส่วนราว 27% ก่อนจะเป็นหมวดหนังสือฮีลใจ-เยียวยาตัวเอง 17% และหนังสือกลุ่มเตรียมสอบ 9% ส่วนหนังสือ How to ต่างๆ หล่นไปอยู่ในหมวดทั่วไปที่มีสัดส่วน 2%
โดยการขยายตัวของ ‘หมวดฮีลใจ’ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้อยู่ TOP3 ของหมวดหนังสือยอดฮิตมาจากความต้องการฮีลใจจากเรื่องกลุ้มใจที่เพิ่มขึ้นในยุคนี้ ขณะที่หนังสือ How to หรือคู่มือที่เคยเติบโตมากในช่วงโควิด-19 กลับไปสู่ช่วงเวลาปกติแล้ว
ส่วน ราคาหนังสือนิยายหมวดบอยเลิฟ ที่หลายคนบ่นว่าแพงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากยอดพิมพ์ต่อเล่มค่อนข้างน้อย เพราะแม้ตลาดนิยายบอยเลิฟจะใหญ่ แต่ก็มีจำนวนสำนักพิมพ์มาก แต่นอกจากนั้นก็มีปัจจัยอย่างต้นทุนอื่นๆ และการตั้งราคาของสำนักพิมพ์ด้วย
อย่างเดียวที่อยากได้จากรัฐ คือ ปรับปรุงห้องสมุดทั่วไทย
เมื่อถามถึงสาเหตุที่หนังสือไม่เคยติดท็อปลิสต์ของสิ่งที่คนอยากซื้อเมื่อได้รับ ‘เงินหมื่น’ เลย ‘สุวิช’ ตอบว่า หนังสือไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นต่อปัจจัย ถ้าพูดถึงเมืองไทยเรื่องที่คิดถึงคือกินและเที่ยวที่มีการจัดงานทั่วประเทศตลอดทั้งปี เรื่องหนังสือได้งบประมาณจากซอฟต์เพาเวอร์น้อยที่สุด โดยปีนี้ได้งบประมาณมา 5.5 ล้านจากงบประมาณ 69 ล้านบาท
โดย ‘สุวิช’ บอกว่า อย่างเดียวที่อยากได้จากรัฐเลย คือ “ปรับปรุงห้องสมุดให้ทันสมัย” ให้ห้องสมุดที่มีแต่หนังสือเก่าๆ ล้าสมัยมีหนังสือใหม่ๆ เพราะเมื่อมีการปรับปรุงห้องสมุดก็จะนำมาสู่การสั่งซื้อหนังสือ ยอดขายหนังสือก็จะบูมเอง
เพราะในประเทศไทยห้องสมุดเป็น ผู้ขอ รายใหญ่ที่มาขอบริจาคหนังสือจากสำนักพิมพ์ แตกต่างกับในต่างประเทศมีห้องสมุดเป็น ผู้ซื้อ รายใหญ่ สาเหตุเพราะในต่างประเทศรัฐมีงบให้ซื้อหนังสือ แต่ในไทยไม่มี ทั้งที่หนังสือเป็นพื้นฐานความรู้และพื้นฐานของการศึกษา
สำหรับอนาคตในอีก 3 ปีข้างหน้า ‘สุวิช’ มองว่า ทุกสำนักพิมพ์ตั้งใจทำงานหมด ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสนับสนุนได้ขนาดไหน โดยวงการหนังสือก็มีการพัฒนาปรับตัวเรื่อยๆ อย่างในงานหนังสือครั้งนี้เราก็มองว่าเราชวนคนมาเดินได้ 2 ล้านคน เราจะดึงเงินจากเค้ายังไงได้บ้าง ส่วนหนึ่งคือเราเลือกกระตุ้นวงการหนังสือ ผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการประกวดหนังสือปกสวยที่เป็นหนึ่งในปัจจัยการเลือกซื้อหนังสือด้วย
ส่วนในงาน ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29’ ที่จัดในเดือนตุลาคมนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 480 ล้านบาท จากผู้เข้าชมราว 1.6-1.7 ล้านคน เพิ่มจากปีก่อนที่มีเม็ดเงินสะพัด 400 ล้านบาทจากผู้เข้าชมกว่า 1.3 ล้านคน
ทั้งนี้ ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 20 ตุลาคม 2567 ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้ธีม ‘อ่านกันยันโลกหน้า’ มีหนังสือเข้าร่วมงานกว่า 2 ล้านเล่ม จาก 286 สำนักพิมพ์รวม 855 บูธ บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร
ข่าวเกี่ยวข้อง
- ผลวิจัยพบ การอ่านหนังสือจากสื่อสิ่งพิมพ์ดีกว่าสื่อดิจิทัล สร้างทักษะในการทำความเข้าใจได้มากกว่า
- เมื่อเด็กรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือการ์ตูน ร้านขายหนังสือการ์ตูนจะอยู่รอดได้อย่างไร
- หนังสือเล่มขายยาก ใช้แรงงานเยอะ Cotsco ห้างดังเมกา ประกาศเลิกขายหนังสือ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา