เมื่อเด็กรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือการ์ตูน ร้านขายหนังสือการ์ตูนจะอยู่รอดได้อย่างไร

เมื่อเด็กรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือการ์ตูน ร้านขายหนังสือการ์ตูน จะอยู่รอดได้อย่างไรในยุคสื่ออินเทอร์เน็ต

 

หากย้อนเวลากลับไปราว ๆ 20-30 ปี ภาพบรรยากาศหลังเลิกเรียนของใครหลายคน ที่คอยยืนเลือกสรรหา หรือ นั่งล้อมวงอ่านหนังสือการ์ตูน อยู่ในร้านขายหนังสือการ์ตูนท่ามกลางกลิ่นอันเป็นของกระดาษและหมึกพิมพ์อันเอกลักษณ์ในสมัยนั้น 

และความคลาสสิกของลวดลายการวาดและฝีมือการเขียนภาษาที่บ่งบอกว่าการ์ตูนเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นมาจากสำนักพิมพ์อะไร ต้นฉบับมาจากประเทศไหน ทำให้ใครหลายคนหลงใหลจนกลายเป็นแฟนคลับตัวยงคอยตามหาหนังสือการ์ตูนเล่มต่อไป เผลอ ๆ ถึงขั้นเป็นนักสะสมหนังสือการ์ตูน เป็นความสุขอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต

วันเวลาล่วงเลยผ่านไป ชีวิตเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามวัย “ร้านขายหนังสือการ์ตูน” ที่มีอยู่ประจำหน้าโรงเรียนหรือตามห้างสรรพสินค้า ก็ล้มหายตายจากไปยุคสมัยและการใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ของคน

ท่ามกลางเมืองหลวงใจกลางกรุงเทพฯ ย่าน “สยามสแควร์” ยังคงมี “ร้านขายหนังสือการ์ตูน” ตั้งตระหง่านบนพื้นที่ราว 1 คูหา ณ ตึก “ลิโด้” ที่ยังคงต่อสู้และเปิดมาได้ยาวนานกว่า 30 ปี ท่ามกลางอิทธิพลของเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง 

ผู้ชายร่างเล็ก ขาวตี๋ ตรงเอวขาดด้วยกระเป๋าใส่ของสีดำ คือ เจ้าของร้านการ์ตูนลิโด้ ที่ชื่อว่า หนึ่ง ชาญชัย  เหล่าฤทธิไกร ที่กำลังยืนสนทนากับลูกค้าที่ถามหาหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่ง เขาพูดคุยและตอบคำถามลูกค้า ด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน ใช้ความชำนาญและประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับหนังสือการ์ตูนมาทั้งชีวิต พูดคุยกับลูกค้าอย่างออกรสออกชาติ

หนึ่ง ชาญชัย เจ้าของร้านการ์ตูนลิโด้ เล่าว่า เดิมที่ที่บ้านขายนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หนังสือการ์ตูน มาก่อนแล้ว บวกกับตัวเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือการ์ตูน จึงสืบทอดการค้าขายหนังสือมาจากที่บ้าน สุดท้ายจึงมาลงเอยที่ขายหนังสือการ์ตูน

“ขายหนังสือการ์ตูนที่ลิโด้มานานกว่า 30 ปี บรรยากาศแต่ก่อนต่างจากสมัยนี้มาก สมัยก่อนเวลาหลังเลิกเรียนจะมีนักเรียนมายืนมุงเต็มหน้าร้าน เพื่อหาหนังสือการ์ตูนเล่มที่ตัวเองต้องการ แต่ปัจจุบันภาพบรรยากาศเหล่านั้นเปลี่ยนไปมาก ตั้งแต่มีสื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามา เด็กรุ่นใหม่หันไปอ่านหนังสือ อ่านการ์ตูนบนเว็บไซต์มากกว่าการอ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ”

เด็กวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจอ่านหนังสือการ์ตูนผ่านเว็บไซต์มากขึ้น ด้วยความสะดวกสบาย เข้าถึงง่าย และรวดเร็ว ไม่ต้องขับรถหรือเดินทางออกมาหาซื้อหนังสือให้เสียเวลา ซึ่ง หนึ่ง ชาญชัย เล่าว่า นั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ “ร้านขายหนังสือการ์ตูน” ล้มหายตายจากไปจำนวนมาก ที่เหลือหน้าร้านขายกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะมีลูกค้าขาประจำ และคนที่คลั่งไคล้อ่านหนังสือการ์ตูนเป็นเล่ม ๆ รวมไปถึงคนที่ชอบสะสมหนังสือการ์ตูนเป็นคอลเลคชั่น ซึ่งเสน่ห์ของการอ่านหนังสือการ์ตูนเป็นเล่ม ๆ กับ อ่านหนังสือการ์ตูนบนเว็บไซต์ ก็มีความต่างกัน 

“เสน่ห์ของการอ่านหนังสือการ์ตูนเป็นเล่ม ๆ คือ มือของเราจะได้สัมผัสกับเนื้อกระดาษ เวลาอ่านหรือหยิบมาดูจะได้จับรูปเล่มพลิกไปพลิกมา จมูกของเราจะได้กลิ่นกระดาษอันเป็นเอกลักษณ์ที่หาไม่ได้บนสื่ออินเทอร์เน็ต บางคนซื้อเก็บสะสมเป็นคอลเลคชั่นเรียงใส่ตู้ไว้เลยก็มี” 

หนังสือการ์ตูนจะอยู่ไปทุกยุคทุกสมัย แต่หน้าร้านจะตาย หากไม่ปรับตัวไปขายออนไลน์ เพราะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตต่าง ๆ ของคนง่ายขึ้น การซื้อหนังสือการ์ตูนสักเล่มก็เช่นกัน เมื่อขายหน้าร้านรายได้ลดลง ก็ต้องปรับตัวไปขายบนสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพหนังสือ ตามความต้องการของนักอ่าน

“อย่างบางคนเขาต้องการหนังสือการ์ตูนเล่มไหน เขาจะทักมาถามทางร้านก่อนว่าที่ร้านมีเล่มนี้ไหม ถ้ามีเราก็จัดส่งให้ลูกค้าทันที หรือ บางคนเขาจะสั่งจองไว้ล่วงหน้า พอหนังสือมาถึงที่ร้านเราก็ประกาศลงหน้าเฟซบุ๊กเพื่อเป็นการแจ้งให้ลูกค้าทราบ จากนั้นเราก็จัดส่งพัสดุให้ลูกค้า ซึ่ง หนึ่ง ชาญชัย ยอมรับ เรายังคงหน้าร้านไว้แบบนี้เรื่อยไป ส่วนการขายออนไลน์เราก็ต้องทำ เพื่อความอยู่รอด ไม่อย่างนั้น ร้านก็ต้องปิดตัวเหมือนร้านขายหนังสือร้านอื่น ๆ ”

หนึ่ง ชาญชัย ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่ารูปแบบการอ่านหนังสือการ์ตูนจะเปลี่ยนไปตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม “การอ่าน” ก็คือ ลักษณะนิสัยที่ดีอย่างหนึ่งซึ่งจะสามารถต่อยอดไปอ่านหนังสือเรียน หนังสือวิชาการได้อีกมากมาย จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากนักอ่านการ์ตูน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา