ครัวเรือนไทย 99% มีหนี้ เฉลี่ยบ้านละ 6 แสนบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

เคยได้ยินไหมว่า “เมื่อประชาชนมั่งคั่ง ประเทศชาติก็มั่นคง” แล้วถ้าประชาชนล้วนมี ‘หนี้สิน’ ล้นพ้นตัว โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ล่ะ ประเทศชาติจะกลายเป็นอย่างไร?

ผลสำรวจ ’สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย’ จากหอการค้าไทยที่ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,300 ตัวอย่างทั่วประเทศระหว่างวันที่ 1 – 7 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา กำลังบอกเราว่า ประชาชนคนไทยกำลังตกอยู่ในภาวะหนี้สินมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

คนไทยเกือบครึ่ง ไม่เคยเก็บออม

หนึ่งในประเด็นที่หอการค้าได้ทำการสำรวจ คือ การเก็บออมสำหรับไว้ใช้ยามฉุกเฉิน โดยผลสำรวจพบว่า “คนไทยกว่า 48.1% ไม่เคยเก็บออมเลย” ขณะฝั่งที่เคยเก็บออมแบ่งออกเป็น

  • 13.3% มี แต่น้อยกว่าค่าใช้จ่าย 3 เดือน
  • 16% มี เพียงพอค่าใช้จ่าย 6 เดือน
  • 22.6% มี เพียงพอค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป

นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่างยังบอกว่า “เทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้เก็บออมน้อยลง” โดยแบ่งเป็น

  • 46.8% บอกว่าเก็บเงินลดลง
  • 32.1% เก็บออมเท่าเดิม
  • 12.4% ไม่มีเก็บออม
  • 8.7% เก็บออมเพิ่มขึ้น

ครอบครัวไทยเกือบครึ่ง รายได้ไม่พอรายจ่าย

ประเด็นด้าน ‘รายได้’ และ ‘รายจ่าย’ ผลสำรวจพบว่า ครัวเรือนไทยเกือบครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย แบ่งเป็น

  • 46.3% รายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย 
  • 35.0% รายได้ของครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย
  • 18.7% รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย

ส่วนในคำถาม ปัจจุบันท่านมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ คำตอบส่วนใหญ่บอกว่า

  • 48.5% มีเพียงพอและเหลือเก็บ
  • 28.2% ไม่เพียงพอ ต้องกู้ยืมบ้างเป็นครั้งคราว
  • 20.4% เพียงพอ แต่ไม่เหลือเก็บ
  • 2.9% ไม่เพียงพออย่างมาก ต้องกู้ยืมเป็นประจำ

โดยวิธีที่ผู้ตอบแบบสำรวจเลือกใช้เวลา ‘รายได้ไม่พอ’ มากที่สุด คือ

  • กู้ยืมจากแหล่งต่างๆ 55% (อันดับ 1 กดเงินสด, 2 กู้ธนาคาร, 3 กู้ธนาคารเฉพาะกิจ)
  • ประหยัด-ลดค่าใช้จ่าย 25%
  • ดึงเงินออมมาใช้ 10%
  • หารายได้เพิ่ม 9%

ขณะเดียวกัน ความคิดเห็นส่วนใหญ่กลับมองว่า ค่าครองชีพแย่ลงมาก 46.7% ตามด้วยแย่ลงปานกลาง 33.8% และแย่ลงน้อย 15.8% สุดท้ายจึงเป็นไม่กระทบเลย 3.8%

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่า ตัวเองใช้จ่ายอย่างพอเพียงแล้ว (86%) และมีการวางแผนใช้จ่าย (68%) แต่ก็ยังไม่สามารถใช้จ่ายตามที่วางแผนไว้ (64%) และต้องกู้เงินในระบบมาใช้จ่าย (55%)

คนไทยหนี้เพิ่ม 2 ปีติด อันดับหนึ่งบัตรเครดิตนำโด่ง

ที่สำคัญผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กว่า 46.4% ยังบอกว่าปีนี้ตัวเองมีหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ปี 2566 ผลสำรวจก็บอกว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่า มีหนี้เพิ่มขึ้นเหมือนกัน แปลว่าคนไทยมองว่าตัวเองมีหนี้เพิ่มขึ้นมาสองปีติดแล้ว แถมกว่า 99% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังบอกว่า “ครอบครัวมีหนี้” ซึ่งตัวเลขเป็นแบบนี้มา 3 ปีติดกัน

หนี้ไหนที่คนไทยมีมากที่สุด

  1. หนี้บัตรเครดิต
  2. หนี้รถยนต์
  3. หนี้ส่วนบุคคล

โดย ‘หนี้บัตรเครดิต’ มาเป็นอันดับ 1 ในทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ รับจ้าง เจ้าของกิจการ พนักงานเอกชน และเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่า หนี้บัตรเครดิตถูกใช้ไปในการอุปโภคบริโภค ซื้อสินค้าคงทน ซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แถมกลุ่มตัวอย่างกว่า 39% เป็นมีภาระทั้ง ’หนี้ในระบบ’ และ ‘หนี้นอกระบบ’

หนี้ทะลุ 6 แสนบาทต่อครอบครัว ผ่อนเดือนละหมื่นแปด

รายงานของหอการค้ายังบอกอีกว่า หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงถึง 606,378 บาท เติบโต 8.4% และมีภาระการผ่อนชำระสูงถึง 18,787 บาทต่อเดือน เติบโต 12.22% แบ่งสัดส่วนเป็นหนี้ในระบบ 69.9% และหนี้นอกระบบ 30.1%

โดยกว่า 58% มีหนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และ สาเหตุของการมีหนี้เพิ่มขึ้น คือ รายได้ไม่เพียงพอกับรายได้จ่าย (14%) มีเหตุต้องใช้เงินฉุกเฉินไม่คาดคิด (12.4%) ค่าครองชีพสูงขึ้น (12%) และภาระการเงินสูงขึ้น (11%)

นอกจากนี้ผลสำรวจยังบอกว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 71.6% เคยผิดนัดชำระหนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยระบุสาเหตุว่ามาจากเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลดลง และมียอดชำระเพิ่มขึ้น และผู้ตอบแบบสำรวจก 34% ยังบอกว่าในอีก 6-12 เดือนข้างหน้ามีโอกาสผิดชำระหนี้มาก ปัจจัยหลักๆ ที่อาจจะทำให้ผิดชำระหนี้ คือ เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลดลง สภาพคล่องทางธุรกิจ และราคาพืชผลต่ำ

สรุป คือ ผลสำรวจล่าสุดจากหอการค้าดูเหมือนจะสะท้อนปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบัน ว่ากำลังอยู่ในภาวะต้องจับตาและน่าห่วงกังวล เพราะบ่งชี้ว่าครัวเรือนไทยมีหนี้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ส่วนใหญ่มีหนี้บัตรเครดิต และกว่าครึ่งถึงขนาดไม่เคยเก็บออมเลย

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา