กลยุทธ์ไปรษณีย์ไทย 2024: บุกตลาดขนส่งต่างประเทศ-เจาะตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้น หลังรายได้ครึ่งปีแรกทะลุ 10,000 ล้านบาท

ไปรษณีย์ไทยเดินหน้าทำกลยุทธ์ผลักดันเป็น ‘ไลฟ์สไตล์แบรนด์’ มากขึ้น รุกตลาดขนส่งระหว่างประเทศ พร้อมเปิดเผยรายได้ครึ่งปีแรก

รายได้ครึ่งแรกปี 2024

ดร. ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ซีอีโอไปรษณีย์ไทย เล่าให้ฟังถึงตัวเลขรายได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ว่า ทำรายได้รวมอยู่ที่ 10,602.30 ล้านบาท มีกำไร 136.60 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการบริหารต้นทุน และรายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 45% จากรายได้ทั้งหมด

จากรายได้ทั้งหมด กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศทำรายได้ไป 1,293.31 ล้านบาท คิดเป็น 12.20% ของรายได้รวม

ปลายทางยอดนิยมจากผู้ใช้บริการ 5 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ส่วนสินค้าที่นิยมส่ง คือ เสื้อผ้า ขนมและอาหารแห้ง สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม เอกสาร และของสะสม

ภาพรวมครึ่งปีหลัง

สำหรับครึ่งปีหลัง ยังมีความท้าทายอยู่ที่ว่าจะทำยังไงให้เป็นไปตามเป้าหมายและไทม์ไลน์ของแผนธุรกิจ โดยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดการณ์ว่ากลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศจะทำรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท

ส่วนรายได้รวมของทั้งปี ตั้งเป้าไว้ที่ราว 21,800 ล้านบาท

ธุรกิจสำคัญที่กำลังพัฒนาและจะเริ่มให้บริการปีนี้ คือ การขนส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่่เริ่มเห็นมีคนใช้บ้างแล้วในปัจจุบัน เช่น การวางบิลแบบอิเล็กทรอนิกส์

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังอยู่ในความสนใจ คือ การเพิ่มช่องทางการให้บริการที่ขยายอย่างต่อเนื่อง อาจจะไม่ได้มาในรูปแบบของการขยายสาขาทั้งหมด แต่เป็นการเพิ่มจุดให้บริการมากกว่า หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องมีสาขาใหญ่ แต่ต้องมีจุดบริการมากขึ้นเพื่อความสะดวก

ตอนนี้ไปรษณีย์ไทยมีจุดบริการเกือบจะแตะ 50,000 แห่งแล้ว

ความท้าทายในตลาดโลจิสติกส์และกลยุทธ์ของไปรษณีย์ไทย

นอกจากเรื่องรายได้ ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าว่าจะเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนภายใน 3 ปี

การทำธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศของไปรษณีย์ไทยยังมีความท้าทายหลัก ๆ อยู่ 2-3 เรื่องด้วยกัน ทำให้ต้องมองหาพาร์ทเนอร์และใช้กลยุทธ์ใหม่หลายอย่าง

เรื่องแรก คือ กรมศุลากรในแต่ละประเทศมีการเปลี่ยนกฎหมายอยู่เรื่อยๆ ทำให้บางช่วง สินค้าบางอย่างที่เคยขนส่งได้กลายเป็นไม่สามารถขนส่งได้เพราะขัดกับกฎหมาย ทำให้ของถูกตีกลับมายังประเทศต้นทาง เกิดเป็นต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มอีก

ความท้าทายในเรื่องนี้ทำให้ไปรษณีย์ไทยเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วยการจับมือกับพันธมิตรต่างประเทศและสายการบินเพื่อสร้างเครือข่ายการขนส่งอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทยขนส่งครอบคลุม 205 ปลายทาง ใน 193 ประเทศ สามารถเข้าถึงพื้นที่ เกาะ ภูเขา และพื้นที่ห่างไกล เช่น อียิปต์ เอสโตเนีย อาร์เจนตินาและประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ

เรื่องที่ 2 คือ ความท้าทายในการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

ดร. ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ เปรียบเทียบตัวอย่างแบรนด์ขนส่งในต่างประเทศ เช่น FedEx ที่คนนึกถึงก่อนเพราะคุณภาพดี สามารถควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

กลับกันถ้าเป็นผู้ให้บริการภายในประเทศ (Domestic Operator) ซึ่งรวมถึงไปรษณีย์ไทย จำเป็นต้องหาพาร์เนอร์เพื่อส่งจากประเทศต้นทางไปประเทศปลายทาง ทำให้มีผู้ให้บริการอย่างน้อย 3 เจ้าในการขนส่ง คือ ไปรษณีย์ไทย สายการบิน และผู้ให้บริการในประเทศปลายทาง ที่ต้องควบคุมคุณภาพ

นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการยังต้องการติดตามการขนส่ง (Tracking) ทำให้ต้องมีการสแกนรับจดหมายและพัสดุ มีระบบที่เชื่อมต่อกัน ทำให้ไปรษณีย์ไทยจับมือกับไปรษณีย์ทั่วโลกเพื่อสร้างมาตรฐานให้แข่งขันกับเจ้าอื่นได้

เรื่องที่ 3 คือ การหากลยุทธ์ที่ทำให้ปริมาณการใช้บริการ (Volume) เพิ่มในธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ จากปริมาณที่ลดลงไปเพราะอุปสรรคหลายอย่าง

ไปรษณีย์ไทยได้ข้อสรุปว่า การจะเพิ่ม Volume ต้องหาของที่มาในสร้าง Traffic การใช้บริการ ซึ่งคีย์หลักที่ตอบโจทย์ความท้าทายนี้ คือ การหาตลาดในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโต

เริ่มจากการจับจุดว่าในแต่ละประเทศมีสินค้าที่คนไทยนิยมอยู่ตรงไหนบ้าง และคนต่างประเทศนิยมสินค้าไหนจากไทยบ้าง อย่างเช่น จีนต้องการทุเรียนจากไทย

ไปรษณีย์ได้ยังร่วมมือกับไปรษณีย์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union-UPU) สมาชิก ASEANPOST และ ASEANPOST++ (จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอินเดีย) และไปรษณีย์กลุ่ม KPG (Kahala Posts Group)

กลยุทธ์หลักที่ไปรษณีย์ริเริ่มทำแล้ว คือ การจับมือกับไปรษณีย์เวียดนามและไปรษณีย์อินโดนีเซียเพื่อช่วยกันหาสินค้าที่เป็นจุดขายของแต่ละประเทศ ทำให้ในอนาคต สินค้าไทยก็จะสามารถไปขายในช่องทางของไปรษณีย์เวียดนามและอินโดนีเซีย ช่วยผู้ประกอบการไทยเปิดตลาดไปยังต่างประเทศ

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ อย่าง eBay ที่ร่วมกันส่งของไปขายบนแพลตฟอร์มและ Amazon FBA (Fulfillment by Amazon) ที่กำลังพัฒนาบริการให้ผู้ขายสินค้าบนเว็บไซต์ที่ต้องการขนส่งข้ามพรมแดนเพื่อนำสินค้าส่งเข้าคลังในต่างประเทศ โดยจะเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

เรื่องสุดท้าย ไปรษณีย์ไทยยังมุ่งที่จะเป็น ‘ไลฟ์สไตล์แบรนด์’ ให้มากขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายและสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภค ผ่านการขายสินค้าของไปรษณีย์ไทยและการเริ่มเปิด POST Café ซึ่งเป็นร้านกาแฟของไปรษณีย์ไทยเอง เพื่อเพิ่มการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา