ซีอีโอ LINE MAN Wongnai บอก ตลาด Food Delivery ยังโต หวังได้เข้าร่วมดิจิทัลวอลเล็ตในอนาคต

LINE MAN Wongnai ลงนามความร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในงานนี้ ยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอ ได้เล่าให้ฟังถึงธุรกิจของบริษัทและแผนในอนาคต

Food Delivery โตดี ครึ่งปีแรกทำได้ดีกว่าคาด

ยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอของ LINE MAN Wongnai บอกว่า ธุรกิจออนดีมานด์ด้าน Food Delivery ยังเติบโตต่อเนื่องแม้ว่าโควิดจะหายไปแล้ว ทำให้ตอนนี้บนแพลตฟอร์ม Wongnai มีร้านค้าประมาณ 500,000 ร้าน ส่วน LINE MAN มี 300,000 ร้าน 

การเติบโตมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เมื่อได้ลองใช้บริการ Food Delivery ก็มีตัวเลือกเรื่องความสะดวก ส่วนฝั่งร้านค้าก็ปรับตัวทำให้มีสัดส่วนยอดขายออนไลน์แตะ 20% และคิดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยลดต้นทุนร้านอาหารด้านสถานที่และการลดพนักงานเสิร์ฟลง

ในแต่ละปี รายได้จาก Food Delivery ยังโตเกิน 10% มูลค่าตลาดอยู่ที่กว่า 100,000 ล้านบาท มั่นใจว่าส่วนแบ่งการตลาดของ LINE MAN Wongnai ยังแข็งแรงและทำได้ดี 

ส่วนครึ่งปีแรกนี้ ทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ จำนวนยอดขายต่อร้านเพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ร้านอาหารทำธุรกิจได้ต่อหรือไม่มีทั้งจากเศรษฐกิจภาพรวม การช่วยเหลือของรัฐบาล และตัวผู้ประกอบการเอง แต่ไม่ได้คิดว่าปีนี้ธุรกิจจะแย่กว่าปีก่อน ๆ เพราะอาหารเป็นสิ่งจำเป็น ยุคนี้ผู้บริโภคทำกินเองอาจจะไม่ได้ถูกกว่าสั่งจากแอปมาก

ทั้งนี้ มองว่า ยุคนี้ร้านอาหารตัวจริงถึงจะอยู่รอด เพราะร้านปิดเยอะในแต่ละปี ตัวเลขร้านอาหารเปิดใหม่ปิดตัวลงในปีแรกที่เริ่มต้นทำธุรกิจประมาณ 30% ในเวลา 3 ปี อาจจะเหลือสัก 10-20% เท่านั้นเอง เท่ากับว่าร้านปิดตัวไป 20-30% ต่อปี คิดเป็นราว 50,000-100,000 ราย

กลุ่มที่เปิดช่วงโควิด-19 อย่างเช่นใช้พื้นที่บ้านตัวเองทำอาหาร ร้านที่ขายเฉพาะช่องทาง Delivery ร้านที่เปิดเป็นอาชีพเสริมปิดตัวไปเยอะ เพราะผู้บริโภคนิยมออกมากินข้าวนอกบ้านหลังจากช่วงโควิด แต่ก็มีร้านเปิดใหม่ ทำให้จำนวนร้านในระบบยังเท่าเดิม

ส่วนใหญ่ร้านที่ปิดกิจการมักเป็นร้านขนาดเล็ก ส่วนมากถ้าเป็นร้านอาหารไทย กลุ่มที่เกิดขึ้นเยอะ และปิดตัวไปเร็วที่สุด คือ อาหารตามสั่ง เพราะเริ่มต้นทำได้ง่าย

ส่วนค่าขนส่งที่มีประเด็นเรื่องน้ำมันดีเซลจะปรับขึ้นราคาก็อาจจะกระทบกับการปรับราคาค่าขนส่งเพิ่ม แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนเพราะปกติค่าส่งขึ้นลงตามความต้องการของผู้ใช้ว่ามีผู้สั่งอาหารมากหรือน้อยแบบเรียลไทม์อยู่แล้ว

ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ ส่งอาหาร-การเงิน กับโครงการใหญ่อย่างดิจิทัลวอลเล็ต

LINE MAN Wongnai คาดหวังว่าจะได้เข้าร่วมในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อย่างแรก เพราะอาหารยังถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย

สอง คือ ธุรกิจ Food Delivery ป้องกันการปลอมแปลงและหลอกลวงได้ดี สามารถตรวจสอบสถานที่ได้ มีบุคคลที่สามอย่างไรเดอร์มาช่วยตรวจสอบว่าสินค้าที่ส่งเป็นอาหารจริง รวมทั้งเวลาส่งอาหาร ไรเดอร์ก็ต้องถ่ายรูปเป็นหลักฐานอยู่แล้วด้วย

ตอนนี้บริษัทกำลังหารือกับกระทรวงการคลังอยู่ว่าจะสามารถเข้าร่วมได้หรือไม่ ถ้าได้เข้าร่วม คิดว่าผู้บริโภคจะเข้ามาใช้บริการมากเหมือนตอนที่มีโครงการคนละครึ่งเพราะเรื่องความสะดวก ทำให้ยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์

ส่วนเรื่องการใช้งานที่อาจจะกำหนดว่าต้องเป็นการใช้แบบเห็นหน้ากัน (Face-to-face) อาจจะต้องมาดูจุดประสงค์อีกทีว่าทำไมต้องเป็น Face-to-face เพราะต้องการป้องกันการหลอกลวงหรือไม่ ถ้าใช่ ทางบริษัทก็มีขั้นตอนการป้องกันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังคิดว่าจะนำบริการชำระเงิน LINE Pay ไปเชื่อมกับแอปทางรัฐของรัฐบาลได้ ถ้าเข้าได้ก็จะช่วยร้านขนาดเล็ก เพราะธุรกิจออนดีมานด์มีครบทุกจังหวัด ครอบคลุมประมาณ 290 อำเภอ ส่วนอำเภอที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แม้จะไม่มี Food Delivery แต่ก็มีฐานข้อมูลร้านค้าของวงในอยู่

ส่วนเป้าหมายถ้าได้เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หวังเรื่องจำนวนผู้ใช้และจำนวนร้านค้าที่เข้ามามากกว่า เรื่องรายได้เป็นเรื่องรอง 

ยิ่งกว่านั้น อาจจะต้องเตรียมขาดทุนด้วยเพราะต้องสนับสนุนให้ร้านอาหารและสนับสนุนคนเข้ามาใช้ เช่น แคมเปญส่งฟรี รวมทั้งเวลาคนเข้ามาใช้จริง ไรเดอร์อาจจะไม่เพียงพอ ทำให้อาจจะต้องรับสมัครไรเดอร์เป็นหลักหมื่นคน จากตอนนี้ที่มีไรเดอร์หลักแสนคน 

ตอนนี้เข้าใจว่าต้องรอความชัดเจนในเดือนพฤศจิกายนนี้

ร่วมมือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เซ็น MOU

ล่าสุด LINE MAN Wongnai ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรื่องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารนำเทคโนโลยีมาใช้ 

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศไทยมีมากกว่า 300,000 ราย และเป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME กว่า 90% ซึ่งต้องปรับตัวตลอดเวลาในยุคเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป

ความร่วมมือกันในครั้งนี้ ทั้งบริษัทและภาครัฐจะช่วยกันผลักดันใน 3 เรื่องหลัก คือ

  • การให้ความรู้กับธุรกิจร้านอาหาร ทั้งจากฝั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและบริษัทเองที่จะมีการจัดอบรมให้ความรู้
  • การทำแพ็คเกจเครื่องมือกับร้านค้า ลดราคาระบบ Wongnai Merchant และ Wongnai POS ให้เข้าถึงง่ายขึ้น
  • การโปรโมทร้าน Thai SELECT ที่เป็นร้านที่กระทรวงพาณิชย์ให้การรับรอง ซึ่งตอนนี้เกือบทุกร้านอยู่บนแพลตฟอร์มของ LINE MAN Wongnai

อนาคตของธุรกิจอื่นของ LINE MAN Wongnai นอกเหนือจากร้านอาหาร

ยอด มองว่า ธุรกิจ Food Delivery ยังเป็นธุรกิจหลัก เปรียบเปรยว่าเป็น ‘ต้นไม้’ แต่จะมีการแตกกิ่งและผลักดันธุรกิจอื่นๆ อีก เช่น LINE MAN Ride, Wongnai POS และ LINE Pay ที่เป็นธุรกิจที่ยังอยากให้โตขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเวลา 

ทั้งลำต้นและกิ่งไม้สำคัญเหมือนกัน กิ่งไม้อาจจะโตเร็วกว่าแต่มีขนาดธุรกิจเล็กกว่า 

อย่างไรก็ตาม สำหรับ LINE MAN Wongnai ตอนนี้มี 3 ธุรกิจหลัก 

  • ธุรกิจออนดีมานด์ เช่น Food Delivery, LINE MAN Ride, LINE MAN Mart 
  • โซลูชันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับร้านค้า เป็นส่วนที่ทำงานร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ได้เซ็น MOU ร่วมกัน เช่น Wongnai POS, CRM และเครื่องมือการตลาดอื่น ๆ 
  • LINE Pay และบริการทางการเงิน ส่วนนี้มีความสำคัญกับธุรกิจออนดีมานด์กับ Wongnai Merchant ผลิตภัณฑ์ใหม่จะเป็นแนวโซลูชันสำหรับ SME มีการปล่อยกู้มีหลายโมเดลจากการพาร์ทเนอร์กับ LINE BK และ Easy Lending 

LINE MAN Wongnai กำลังวางแผนเรื่องการซื้อกิจการ คาดหวังว่าจะมีดีลที่ประกาศได้ 1-2 ดีลในช่วงครึ่งปีหลังนี้

*Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือของ LINE MAN Wongnai

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา