โรงงานในไทยที่กำลังปิดตัว สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมกำลังอ่อนแอ

KKP Research เผย อุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีการผลิตหดตัวติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี

Thai factory

รายงานจาก KKP Research สะท้อนภาพทางเศรษฐกิจให้เห็นถึงด้านการผลิต ที่มีโรงงานขนาดใหญ่ปิดตัว โรงงานเปิดใหม่ก็ลดลง ที่มีเปิดขึ้นมาบ้างก็เป็นเพียงโรงงานขนาดเล็ก

ดัชนีการผลิตติดลบติดต่อกันกว่า 1 ปี

เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณไม่ค่อยดีมาหลายเดือนแล้ว การผลิตภาคอุตสาหกรรมวัดจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้จากการสำรวจผู้ผลิตในอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเผย มีการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ธันวาคม 2022 ถึงเดือนมีนาคม 2024 หรือต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี 3 เดือนเป็นการโตติดลบติดต่อกันยาวนานมากที่สุดครั้งหนึ่ง แม้วัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2023 ก็ตาม

ดัชนีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ สัญญาณที่เห็นได้ชัดก็คือ ข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครั้งหลังของปี 2023

ค่าเฉลี่ยของการปิดโรงงานของไทย แบ่งได้ ดังนี้

  • ปิดโรงงาน 57 แห่งต่อเดือน ในปี 2021
  • ปิดโรงงาน 83 แห่งต่อเดือนในปี 2022
  • ปิดโรงงาน 159 แห่งต่อเดือน ช่วงครึ่งหลังปี 2023

ส่งผลให้ นับตั้งแต่ต้นปี 2023 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

จำนวนการปิดโรงงานสะสม

โรงงานเก่าก็ปิด โรงงานใหม่ก็เปิดน้อยลง

นอกจากโรงงานที่มีอยู่เดิมจะทยอยปิดตัว โรงงานใหม่ก็เปิดตัวน้อยลงกว่าในอดีต ทำให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยไม่ค่อยดีนัก เพราะการเปิดโรงงานใหม่มีทิศทางชะลอตัวลง จากภาพรวมเดิมค่าเฉลี่ยอยู่ที่เปิดตัว 150 โรงงานต่อเดือน ปัจจุบันลดลงเหลือ 50 โรงงานต่อเดือน

จำนวนโรงงานเปิด-ปิด

การผลิตอุตสาหกรรมหดตัว กดดันโรงงานปิดตัว

สถานการณ์เปิดและปิดตัวของโรงงงานอุตสาหกรรมยังมีความแตกต่างกันมากในแต่ละกลุ่ม สอดคล้องกับการเติบโตของดัชนีผลผลิตที่มีความแตกต่างกัน โดยอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวโรงงานเร่งขึ้นช่วงที่ผ่านมาเป็นกลุ่มเดียวกันกับอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลง

สะท้อนว่า ภาคการผลิตในภาพรวมอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ของธุรกิจบางกลุ่มที่ย่ำแย่กว่าค่าเฉลี่ย อุตสาหกรรมที่มีทิศทางน่ากังวลเนื่องจากมีการหดตัวของการผลิตและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร

การเติบโตของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเทียบกับจำนวนโรงงานปิดในแต่ละอุตสาหกรรม

สัดส่วนโรงงานปิดต่อโรงงานเปิดใหม่

จำนวนโรงงานเปิดและปิดสะสม 2023-2024

โรงงานขนาดใหญ่ปิดตัว โรงงานขนาดเล็กเปิดแทน

ที่ผ่านมา พบว่า มีการปิดตัวของโรงงานขนาดใหญ่แบบกระจุกตัว ส่วนโรงงานที่เปิดใหม่มักเป็นโรงงานขนาดเล็ก หมายความว่า ปัญหาการผลิตที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากปัจจัยเฉพาะของกิจการเองเนื่องจากโรงงานขนาดเล็กมีแนวโน้มเปราะบางกว่าโรงงานขนาดใหญ่ สถานะทางการเงินก็อ่อนแอกว่าบริษัทใหญ่

การปิดตัวเกิดขึ้นกับโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลัก สะท้อนให้เห็นว่า การปิดตัวโรงงานเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กระทบกับทั้งอุตสาหกรรม

 

สัดส่วนโรงงานปิดตัว

สัดส่วนโรงงานเปิดใหม่

หนี้เสียในอุตสาหกรรมที่กำลังเพิ่มขึ้นแบบเร่งตัวขึ้นชัดเจน

การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคการผลิตมีสัญญาณเร่งตัวขึ้นชัดเจน และสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในอุตสาหกรรมไทยมากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องปิดโรงงานและกระทบความสามารถในการรชำระหนี้

มีการปิดตัวของโรงงานสูง หนี้เสียก็ปรับตัวสูงขึ้น โรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมมีการปิดตัวมากกว่า มีแนวโน้มที่การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียสูงกว่าด้วย

ยอดหนี้เสียใหม่ต่อหนี้ทั้งหมด

การหดตัวของหมวดการผลิตสินค้าในไทยไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราวด้านอุปสงค์หรือตามวัฏจักรเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยด้วย ในอดีตการผลิตของไทยและโลกจะเคลื่อนไหวในทิศทางสอดคล้องกัน แต่ช่วงที่ผ่านมา การผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มไม่สอดคล้องกับการผลิตของประเทศ

แม้อุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคและการผลิตของโลกภาวะการค้าโลกที่ฟื้นตัวในระยะต่อไปจึงไม่ได้หมายความว่าภาคการผลิตไทยจะฟื้นตัวได้ดีเสมอไป โดยหมวดสินค้าในภาคการผลิตไทยเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1) การผลิตที่ยังเคลื่อนไหวตามวัฏจักรปกติ คือกลุ่มสินค้าที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นได้ หากอุปสงค์กลับมาเติบโตขึ้นคิดเป็น 47% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมด

2) การผลิตที่ปรับตัวลดลงตามสินค้าคงคลังที่สูง กลุ่มอุตสาหกรรมช่วงที่ผ่านมามีระดับสินค้าคงคลังสูงกว่าปกติมาก และอาจกลับมาปรับตัวดีขึ้นได้บ้างเมื่อสินค้าคงคลังเริ่มปรับตัวลดลง

3) การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การผลิต Hard Disk Drive ที่ถูกทดแทนด้วย Solid State Drive ส่งผลกระทบให้การผลิต HDD หดตัวต่อนื่องนาน

หรือการผลิตเหล็กที่ถูกทดแทนด้วยการแข่งขันจากสินค้าจีน KKP ประเมินว่าสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นกว่า 35% ของมูลค่าของการผลิตทั้งหมด

การเปิด-ปิดโรงงานของอุตสาหกรรมไทยนับเป็นภาพสะท้อนและผลลัพธ์ของการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่พึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมกว่า 35% ของมูลค่าเศรษฐกิจ

ตั้งแต่หลังช่วงโควิดมา กลายเป็นว่า ภาคบริการที่ขยายได้ดี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงต่อเนื่อง แม้ข้อมูลล่าสุดการผลิตกลับมาเป็นบวกในรอบกว่า 1 ปี และหลายฝ่ายยังหวังว่าภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกปรับตัวดีขึ้นจะกลับมาช่วยภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาขยายตัวได้ แต่ KKP Research กลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทย ด้วยเหตุผลดังนี้

GDP รายภาค

1) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลัก เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สัดาปภายในเป็นรถยนต์ EV ช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกรถยนต์ EV ราคาถูกจากจีนมาไทยและส่งผลกระทบอย่างมากทั้งยอดขายและราคารถยนต์ ICE ในไทย

การเปลี่ยนจากการใช้ HDD เป็น SSD ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อราคา EV และ SSD มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีเก่าได้เร็วและกว้างขึ้น

2) การแข่งขันรุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน ไทยขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ได้มีแค่สินค้ายานยนต์เท่านั้นที่ไหลเข้าไทย แต่ไทยยังนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากในหลายกลุ่มสินค้า รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย

3) มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้น การใช้มาตรการกีดกันทางการค้านับตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มีแนวโน้มจะมีเพิ่มขึ้นจากจีนและโลก จะเพิ่มความเสี่ยงให้การค้าโลกในภาพรวมชะลอตัวลงและมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักมายัง ASEAN รวมทั้งเพื่อเป็นการระบายสินค้าจากจีนไปตลาดส่งออกอื่น

ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และเริ่มลุกลามไปอุตสาหกรรมที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มมีค่ายรถยนต์ Suzuki ยุติการเผลิตในไทยตามยอดขายที่ลดต่ำลงเหมือนที่เคยประเมินไว้

ที่มา – KKP Research

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา