เดอะแบก ยุคนี้รวยลำบาก เป็นทาสการตลาด ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ หาเงินยาก ไม่มีเงินสำหรับเกษียณ มีเงินเก็บก็ไม่ถึง 2 แสนบาท
รายงานจาก KKP กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า “เดอะแบก” ยุคนี้ รวยยาก แตกต่างจากคนยุคก่อน เพราะต้องแบกภาระหลายอย่าง ไม่เหมือนยุคพ่อแม่อีกต่อไป เดอะแบกยุคนี้ถูกเรียกว่าเป็นยุค Sandwich Generation แบกรับภาระสองทาง คล้ายกับแซนวิช
งานศึกษาหนึ่งของไทยพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โอกาสที่คนไทยจะสามารถเลื่อนขั้นรายได้หรือขยับสถานะทางสังคมเป็นไปได้ยากขึ้น สถานะทางการเงินของคนรุ่นปัจจุบันขึ้นอยู่กับฐานะทางครอบครัวค่อนข้างมาก ถึงจะได้ยินเรื่องราวคนอายุน้อยรวยขึ้น รวยเร็ว แต่ก็เป็นแค่บางกลุ่ม ที่เป็นแค่เพียงกลุ่มเล็กๆ ในสังคม
ไม่ใช่แค่รวยยากเพราะฐานะครอบครัวส่วนบุคคล แต่ยังเป็นเพราะเศรษฐกิจ และยังรวมถึงการเป็นทาสการตลาดยุคใหม่ ที่เน้นใช้ก่อน จ่ายทีหลัง ทำให้กระตุ้นความรู้สึกอยากมีสิ่งของที่ไม่จำเป็นจนมีหนี้สินเกินตัว ไม่มีเงินเก็บออม ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ควบคุมได้ก็คือ การสร้างวินัยในการเก็บออม การหาความรู้ทางการเงินสม่ำเสมอ
Sandwich Generation คนตรงกลางที่แบกทั้งที่บ้านและเศรษฐกิจ
เป็นคนตรงกลางระหว่างการดูแลผู้ใหญ่และลูกหลาน เมื่อคนมีลูกช้าลง เมื่อลูกเติบโตในวัยที่กำลังเจริญก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน พ่อแม่ก็แก่ลงไปด้วย ทำให้ต้องใช้เงินทองและเวลาดูแลเพิ่มขึ้น
ดร. ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research มองว่า ปัญหาของไทยนอกจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ ทำให้การหาเงินไม่ง่ายเหมือนอดีต โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงเร็ว เข้าสู่ สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ไทยมีผู้สูงวัยมากที่สุดในอาเซียน รัฐมีภาระที่ต้องใช้จ่ายในการดูแลสวัสดิการสูงขึ้น ฐานคนเสียภาษีมีน้อยลง คนในระบบต้องแบกภาระมากขึ้น คนไทย 70 ล้านคน มีคนในระบบ 40 ล้านคน แต่อยู่ในระบบภาษี 10 ล้านคน เหลือคนจ่ายภาษีจริงๆ แค่เพียง 4 ล้านคนเท่านั้น
ถ้าคนไทยขาดความรู้ทางการเงิน ภาระเดอะแบกจะยิ่งหนักขึ้น เพราะพวกเขาช่วยแบกเศรษฐกิจในช่วงที่มีเรี่ยวแรงในการทำงาน และรัฐต้องใช้เงินดูแลพวกเขายามเกษียณ
ผลสำรวจจากนิด้าโพลพบว่า คนไทย 44% ไม่อยากมีลูกด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องการมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ผู้คนครองตัวเป็นโสดและใช้ชีวิตคู่แบบไม่มีลูกเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีลูกแล้วจะจับจ่ายใช้สอยได้ตามใจ ไม่ต้องคิดถึงอนาคต แต่ยังเตรียมความพร้อมเพื่อจะดูแลตัวเองไปตลอดชีวิตด้วย เพราะปัจจุบันสวัสดิการของรัฐก็ไม่ได้สามารถดูแลได้ดีนัก
ดร. ณชา ยังระบุว่า คนไทยยังขาดความรู้ด้านการเงิน มีความรู้น้อย อย่างหนี้ครัวเรือน เมื่อก่อนอยู่ที่ 40-50% ของจีดีพี ตอนนี้กลายเป็น 90% ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับโควิดทั้งหมด แต่ก่อนโควิดก็สูงถึง 80% แล้ว หนี้คนของคนไทยจากการสำรวจโดยธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า คนเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้เกินตัวโดยไม่ประเมินว่าแบกรับไหวหรือไม่ก่อนตัดสินใจสร้างหนี้ เป็นหนี้นาน หลายคนเกษียณก็ยังเป็นหนี้ เฉลี่ยหนี้อยู่ที่ 400,000 บาทต่อคน
ผลสำรวจจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังพบว่า คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท ไม่ว่าจะวางแผนว่าจะมีลูกหรือไม่ก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้ ความรู้เรื่องการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีพื้นฐานความรู้ทั้งเรื่องการเงินส่วนบุคคล ทั้งเรื่องดอกเบี้ย การวางแผนภาษี ความรู้ด้านการลงทุนที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินเฉยๆ การบริหารจัดการหนี้ การบริหารความเสี่ยง การลงทุน ไปจนถึงบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เป็นภาระคนข้างหลัง และป้องกันตัวเองจากภัยทางการเงินด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา