ยังลำบากกับการเช่าที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตประจำวัน แต่ดันมีรายได้มากกว่าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า “ALICE” ปัญหาคนตกหล่นจากช่องโหว่สวัสดิการของรัฐ
คำว่า ALICE เย่อมาจาก Asset Limited, Income Constrained, Employed หมายถึงกลุ่มที่งานทำ แต่มีทรัพย์สินจำกัดและมีรายได้ตึงตัว เป็นคำนิยามจากแคมเปญ United For ALICE ของ United Way ซึ่งเป็นองค์กรการระดมทุนเพื่อหาเงินบริจาคให้องค์กรไม่แสวงผลกำไร หมายรวมถึงชาวอเมริกันที่มีรายได้มากกว่า 31,200 เหรียญสหรัฐต่อปีต่อครัวเรือนที่มีสมาชิก 4 คน หรือราว 1.15 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15,060 เหรียญหรือราว 5.6 แสนบาทต่อคน ซึ่งเป็นระดับเส้นแบ่งความยากจนที่เรียกว่า Federal Poverty Level แต่แม้ว่าจะมีรายได้มากกว่าเส้นแบ่งความยากจน ALICE ก็ยังเป็นกลุ่มที่ประสบความยากลำบากในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
กลุ่ม ALICE จำนวนมากเป็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้างไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมรายจ่ายทำให้ต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือน บางคนจำเป็นต้องค้างชำระค่าเช่าที่อยู่อาศัยแลกกับการซื้ออาหารในชีวิตประจำวัน หรือต้องเก็บเงินเพื่อไปใช้บริการทางการแพทย์แลกกับการเข้าถึงบริการดูแลลูก
ราว 29% ของครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาอยู่ในกลุ่ม ALICE ขณะที่ 13% อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่ง Federal Poverty Level จากการคำนวณของ United For ALICE โดยใช้ข้อมูลจากผลสำรวจจากสำนักงานสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกาและการคาดการณ์ของ United Way
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการหลายนโยบายเพื่อช่วยเหลือและยกระดับฐานะของผู้ที่มีฐานะยากจน ขณะที่ Stephanie Hoopes ผู้อำนวยการของ United For ALICE ให้ความเห็นว่า เส้นแบ่งของ Federal Poverty Level ล้าสมัยไปแล้วในหลายด้าน เพราะไม่ได้นำความแตกต่างระหว่างภูมิภาคและสัดส่วนรายจ่ายที่คนใช้ไปกับการซื้ออาหารที่ไม่เหมือนในอดีตมาคิดร่วมด้วย รวมทั้งไม่ได้ใส่ใจกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินดีในปัจจุบันแต่ยังไม่สามารถลงทุนต่อยอดเพื่ออนาคตได้
ข่าวดีของสหรัฐอเมริกาคือการที่กลุ่มคนยากไร้มีน้อยลง สะท้อนมาตราการที่ได้ผลของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สัดส่วนกลุ่ม ALICE กลับมีมากขึ้นทั่วประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในบางรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงโควิด-19 เพราะแม้ว่ารายได้ของชาวอเมริกันจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่สามารถสู้กับเงินเฟ้อและราคาที่อยู่อาศัยที่สูงลิบลิ่วได้
Stephanie Hoopes ยังมองว่า ข้อมูลที่เก็บได้ยากที่จะสะท้อนความกังวลใจและความเครียดของคนที่จำเป็นต้องเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างใดอย่างหนึ่งในทุกวันเพราะไม่มีกำลังมากพอที่จะซื้อทุกอย่าง อย่างเช่น การต้องตัดสินใจว่าจะพาลูกไปหาหมอดีหรือจะเก็บเงินไว้ซื้ออาหารดี จะจ่ายค่าไฟฟ้าก่อนดีไหม หรือเก็บเงินไปทำอย่างอื่นที่สำคัญมากกว่าก่อน
นอกจากนี้ United For ALICE ยังพบว่าเงินเฟ้อกระทบต่อกลุ่ม ALICE มากกว่าชาวอเมริกันโดยทั่วไป
ดัชนี Consumer Price Index ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อหลักในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีสินค้าและบริการหลายประเภทที่กลุ่ม ALICE ไม่สามารถซื้อได้บ่อย ๆ เช่น การออกไปกินอาหารนอกบ้าน อุปกรณ์กีฬา หรือบัตรคอนเสิร์ต
United For ALICE ได้ติดตามข้อมูลรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของกลุ่มที่มีรายได้ต่ำออกมาเป็น ALICE Essentials Index พบว่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา รายได้ของกลุ่ม ALICE ไม่ได้เพิ่มขึ้นทันกับการเพิ่มค่าแรงด้วย
ชาวอเมริกันอาจจะไม่ได้กำลังถอยหลังเข้าสู่ความยากจนเสมอไป แต่กลับกำลังเข้าใกล้สถานะการเป็น ALICE กันมากขึ้นซึ่งหลายคนไม่สามารถหาคำอธิบายด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้กับตัวเองได้ กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาวอเมริกันไม่ได้รู้สึกดีเมื่อเห็นข้อมูลตัวเลขทางเศรฐกิจในเชิงบวกและทำให้เกิดช่องโหว่กับคำถามที่ว่าใครกันแน่ที่กำลังเผชิญความยากลำบากในสหรัฐอเมริกาท่ามกลางข้อถกเถียงว่าคนกลุ่มนั้นยากลำบากเพราะความเกียจคร้านและการมีความพยายามที่ไม่มากพอหรือไม่
ที่มา – Business Insider
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา