“รับเซ้งกิจการต่อ” โมเดลใหม่ ทางออกสำหรับเจ้าของธุรกิจที่ไร้ผู้สืบทอดกิจการ

เจ้าของธุรกิจอายุมากแล้ว แต่ไม่มีทายาทที่จะรับช่วงกิจการต่อ หรือมีแต่ดันไม่อยากทำต่อ ทายาทเทียม (Pseudo-Heir) อาจเป็นทางเลือกผ่าน Search Fund กองทุนที่รับไม้ต่อกิจการที่ไม่มีผู้สืบทอด

Giorgio Armani ผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชันสัญชาติอิตาเลียน

ในโลกของธุรกิจการส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นถัดไปเป็นคนดูแลกิจการเรียกได้ว่าเป็นเรื่องน่าจับตามอง ยิ่งถ้าเป็นบริษัทใหญ่และมีอิทธิพล การรับช่วงต่ออาจเต็มไปด้วยข้อสงสัยทั้งเรื่องเงินหรือแม้แต่ข่าวซุบซิบเป็นเรื่องเป็นราว

อย่างเช่นตอนที่ Bernard Arnault ส่งต่ออาณาจักรสินค้าหรู LVMH ทางฝั่งนาฬิกา ให้มาอยู่ในมือ Frédéric Arnault ผู้เป็นลูกชายคนที่ 4 วัย 29 ปี ก็เกิดข้อสงสัยมากมายเรื่องแผนการทางธุรกิจว่าจะยังคงเดิมหรือเปลี่ยนไปจากยุคพ่อ แต่ที่ยิ่งกว่านั้น คือ หลายบริษัทไม่มีแม้แต่ทายาทที่จะส่งต่อธุรกิจให้

นักธุรกิจในประเทศร่ำรวยที่เกิดในช่วง 20 ปีนับตั้งแต่ปี 1940 เป็นต้นมาเริ่มเข้าสู่วัยเกษียณอายุหรือไม่ก็หมดวัยของการทำงานไปเป็นที่เรียบร้อยแต่หลายคนกลับไม่มีผู้สืบทอดกิจการ อย่างเช่น Giorgio Armani ผู้ก่อตั้งธุรกิจแฟชั่นสัญชาติอิตาเลียนวัย 89 ปีที่ไม่มีลูก หรือหลายคนก็มีลูกหลานแต่กลับไม่มีใครอยากทำกิจการต่ออย่าง Dalian Wanda เครือบริษัทใหญ่สัญชาติฮ่องกงที่ลูกชายคนเดียวของ Wang Jianlin ผู้ก่อตั้ง ไม่ต้องการรับไม้ต่อ

ธุรกิจไร้ทายาทมีจำนวนมากในปัจจุบันแม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่หรือเป็นที่รู้จัก และเป็นสถานการณ์ร่วมกันของหลายประเทศ ในสหรัฐอเมริกา 23% ของบริษัทที่มีลูกจ้างอย่างน้อย 1 คน ยังดำเนินธุรกิจภายใต้การบริหารของเจ้าของบริษัทที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าในปี 2017 ที่มีอยู่ 20% 

ในเยอรมนี มีธุรกิจอยู่ 31% ที่เจ้าของอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากเมื่อ 20 ปีก่อน รวมทั้งมีเจ้าของธุรกิจเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่อายุน้อยกว่า 40 ปี สถานการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในญี่ปุ่นด้วย ภายในปี 2025 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของญี่ปุ่น 2.5 ล้านแห่งจะมีเจ้าของที่อายุ 70 ปีขึ้นไปตามการคาดการณ์ของรัฐบาล

ธุรกิจไร้ทายาททำให้เกิดความกังวลจากเจ้าของ เพราะเมื่อบริษัทที่ประสบความสำเร็จต้องถูกขายกิจการให้เจ้าของใหม่หรือการที่ผู้สืบทอดค่อย ๆ ขายกิจการ ธุรกิจจะต้องสูญเสียกลยุทธ์หรือ Know-How และทรัพย์สินที่มีคุณค่าไปด้วย ในภาพรวมก็อาจส่งผลต่อการสูญเสียประสิทธิภาพและ Productivity ของเศรษฐกิจในภาพกว้าง

ปัญหาของธุรกิจไร้ทายาททำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วคือการสร้างทายาทเทียมหรือ Pseudo-Heirs ขึ้นมา องค์กรที่มั่นคงที่สุดเกิดขึ้นมาช่วยในเรื่องนี้เรียกว่า Search Fund ที่แตกออกมาจากอุตสาหกรรม Private Equity ของสหรัฐอเมริกา 

Search Fund เป็นการระดมทุนจากนักลงทุนภายนอก จากนั้นก็เลือกบริษัทขนาดกลางหรือขนาดเล็กซึ่งโดยปกติจะมีมูลค่าน้อยกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 350 ล้านบาทแล้วซื้อต่อจากเจ้าของ ตามด้วยการขึ้นเป็นผู้บริหารเองแบบเต็มตัว การระดมทุนครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1984 จากศาสตราจารย์คณะบริหารธุรกิจที่ Standford University การระดมทุนหลายครั้งเกิดขึ้นจากผู้ที่จบการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจในวัย 30 กว่าปี

ในปัจจุบัน Search Fund เกิดขึ้นมากขึ้น ขณะที่สังคมผู้สูงอายุของยุโรปทำให้มีโอกาสเลือกบริษัทหลายแห่งในการระดมทุนเพื่อซื้อกิจการต่อ ตัวอย่างเช่น Arturo Alvarez ผู้ก่อตั้ง Search Fund ชาวสเปนกล่าวว่า เขาพิจารณาบริษัท 3,000 แห่งในสเปนและโปรตุเกสในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับบริษัท 400 แห่งที่สุดท้ายก็ได้เลือกบริษัทในจำนวนนี้เอง

Jürgen Rilling นักลงทุนในมิวนิคกล่าวว่า มีบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในเยอรมนีมากกว่า 500,000 แห่งที่มียอดขายต่อปีระหว่าง 78 ถึงเกือบ 2,000 ล้านบาทที่เจ้าของอยู่ในวัยที่อยากวางมือเต็มที่

กลุ่มเป้าหมายใหม่ของการทำธุรกิจรับซื้อกิจการต่ออาจจะเป็นญี่ปุ่น ในอดีตหากบริษัทไม่มีทายาทก็จะรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมผู้ชายให้ถูกต้องทางกฎหมายเพื่อสืบทอด โดยอาจเป็นลูกเขยหรือพนักงานที่ซื่อสัตย์เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ (Gift Tax) ในปัจจุบัน บุตรบุญธรรมผู้หญิงก็ได้รับการยอมรับ 

แต่ตอนนี้ปัญหาใหม่ของญี่ปุ่นก็คือสังคมผู้สูงอายุที่ทำให้การรับเลี้ยงยากขึ้นเพราะคนญี่ปุ่นที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากกว่าคนอายุวัย 20 ปีอยู่ในสัดส่วน 4 ต่อ 3

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นกลับไม่ค่อยดึงดูดธุรกิจ Search Fund เท่าไรนัก แต่ก็มีองค์กรหลายประเภทที่ได้ประโยชน์จากสังคมผู้สูงอายุ เช่น M&A Research Institute ที่เป็นโบรกเกอร์กลางในการซื้อ-ขายกิจการ ก่อตั้งในปี 2018 ลักษณะธุรกิจเป็นการใช้อัลกอริธึมเพื่อจับคู่บริษัทผู้ซื้อกิจการและบริษัทผู้ขายกิจการ

Sagami Shunsaku ผู้ก่อตั้ง M&A Research Institute กล่าวว่า 4 ใน 5 ของผู้ที่ต้องการขายกิจการต่อเพราะไม่มีแผนสำรองในการหาผู้สืบทอดกิจการ และหลายคนอายุ 60 ปีขึ้นไปด้วย

ปัจจุบัน ธุรกิจการหาทายาทเทียมยังมีขนาดเล็ก ระหว่างปี 1986-2021 Search Fund ยังสร้างดีลซื้อ-ขายกิจการเพียง 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 8 หมื่นล้านบาท แต่ตอนนี้กำลังได้รับความนิยม เพราะในปี 2020-2021 เพียง 2 ปีก็มีมูลค่าการลงทุนไป 1 ใน 3 ในจำนวนนี้แล้ว

M&A Research Institute เองก็ทำกำไรกว่า 2 เท่าในปีที่แล้ว อยู่ที่ 32 ล้านเหรียญหรือกว่า 1 พันล้านบาท รวมทั้งราคาหุ้นก็ขึ้นมา 450% นับจากการจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นจนทำให้เมื่อปลายปีที่แล้ว Sagami Shunsaku กลายเป็นเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุดในญี่ปุ่น บริษัทยังคงมุ่งเป้าไปที่ตลาดในเอเชียอย่างเช่นสิงคโปร์ด้วย

ที่มา – The Economist

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา