ศึกษาโอกาสลงทุนในบริษัทที่ใส่ใจสังคม และสิ่งแวดล้อม กับ Lombard Odier

ปัจจุบันทุกองค์กรเริ่มใส่ใจกับ ESG มากขึ้น หรือการดำเนินธุรกิจโดยรักสิ่งแวดล้อม, ใส่ใจสังคม และบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล เช่นเดียวกับในโลกของการลงทุนที่เริ่มมีกองทุน รวมถึงนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสจากการลงทุนในองค์กรที่เดินหน้าเรื่องนี้

ในมุมคนนอกอาจมองไม่เห็นถึงโอกาสของผลตอบแทนจากการลงทุนในองค์กรที่ใส่ใจเรื่อง ESG เพราะองค์กรที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ต้องมีการลงทุนจำนวนหนึ่ง และดูเป็นการสร้างภาพให้ผู้บริโภค กับผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าองค์กรนี้บริหารโดยใส่ใจทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นลองมาฟังเหตุผลว่าทำไมการลงทุนในองค์กรที่ใส่ใจเรื่อง ESG จะช่วยสร้างผลตอบแทนในอนาคตได้จริงผ่านมุมมองของ อูแบร์ เคลเลอร์ Senior Managing Partner ของ Lombard Odier หนึ่งในสถาบันการเงินชั้นนำของโลกดังนี้

Lombard Odier

องค์กรที่ใส่ใจ ESG มีโอกาสเติบโตก้าวกระโดด

อูแบร์ เคลเลอร์ Senior Managing Partner ของ Lombard Odier เล่าให้ฟังว่า ในทุก ๆ การเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจมักจะเริ่มขึ้นอย่างช้า และเมื่อถึง Tipping Point หรือจุดพลิกผัน การเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และความรวดเร็วนั้นคือหนึ่งในโอกาสสำคัญของการลงทุน

“ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิตที่ลดลง ความสามารถของนวัตกรรมใหม่ และเรื่องอื่น ๆ ล้วนทำให้เกิด Tipping Point ซึ่งปัจจุบันกำลังจะเกิด Tipping Point ใหม่ นั่นคือเรื่อง Green Economy หรือการทำธุรกิจโดยใส่ใจสิ่งรอบข้าง ผ่านการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง”

Lombard Odier
อูแบร์ เคลเลอร์ Senior Managing Partner ของ Lombard Odier

Lombard Odier

ตัวอย่างการไปถึงของ Green Economy มีตั้งแต่กลุ่มพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมที่จะมีส่วนขับเคลื่อนโลกกว่า 70% ภายในปี 2050 หรือการลดการใช้งานวัสดุต่าง ๆ ในการทำสินค้าลง 1 ใน 3 ภายในปี 2030 รวมถึงการคืนผืนดิน รวมถึงแหล่งน้ำที่องค์กรต่าง ๆ ใช้กลับคืนธรรมชาติเช่นกัน

ถ้าไม่มีใครใส่ใจ ก็คงไม่เกิดการนับคาร์บอนเครดิต

อีกจุดชี้วัดเกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนคือ การที่อยู่ ๆ มีการนับเรื่องการปล่อยมลพิษ หรือคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าจากที่มลพิษไม่เคยมีค่า เมื่อมีการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษกลับมีค่าขึ้นทันที ที่สำคัญการทำธุรกิจอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมยังมีผลในการขับเคลื่อน GDP ของประเทศต่าง ๆ ให้เติบโตเช่นกัน

“การเปลี่ยนผ่านการรักสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ต้นทุนลดลงเรื่อย ๆ รวมถึงที่ชัดเจนที่สุดคือรถยนต์ไฟฟ้า เพราะทั้งต้นทุนแบตเตอรี่ที่ลดลง, สมรรถนะจะดีกว่ารถยนต์ดั้งเดิม และมีสถานีชาร์จรองรับมากขึ้น ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้านั้นลดการปล่อยมลพิษได้ และรถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้”

Lombard Odier Lombard Odier

ไม่ใช่แค่ฝั่งองค์กรต่าง ๆ ที่เริ่มปรับเปลี่ยน แต่หน่วยงานรัฐของหลายประเทศเริ่มเข้ามาให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ด้วย เช่น กลุ่มยุโรป ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ, สหรัฐอเมริกา ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.90 แสนล้านดอลลาร์ และ จีน ที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.91 แสนล้านดอลลาร์

เจาะลึกอุตสาหกรรมที่จะเติบโตจากการเปลี่ยนผ่าน

จากปัจจัยข้างต้น ธุรกิจดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจเกี่ยวกับเชื้อเพลิง และถ่านหิน รวมถึงธุรกิจขนส่ง และธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดั้งเดิม ต่างมีโอกาสที่จะไม่เติบโตภายใต้การเปลี่ยนผ่านนี้ ในทางกลับกัน กลุ่มที่พัฒนาเกี่ยวกับเรื่องพลังงานสะอาด ทั้งยานยนต์, อสังหาริมทรัพย์ และการขนส่ง ต่างมีโอกาสเติบโตกว่าธุรกิจดั้งเดิม

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้นักลงทุนต้องจับจังหวะการลงทุนก่อนที่จะถึงจุด Tipping Point เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตได้ในอนาคต และเป็นจุดชี้วัดสำคัญในเรื่อง Green Economy หรือเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และสังคม ช่วยสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนได้

Lombard Odier

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่เริ่มให้ความสำคัญเรื่องนี้ เช่น ฝั่งภาครัฐมีการให้การสนับสนุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาด ส่วนฝั่งการลงทุนมีทำ SETESG หรือดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นต้น

กสิกรไทย ให้ความสำคัญเรื่องนี้เพื่อเติบโต

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เสริมว่า สำหรับธนาคารกสิกรไทย ปัจจุบันมีการเดินหน้าแนวคิด Bank of Sustainability ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ Green Loan หรือสินเชื่อที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาด และมีการเปลี่ยนรถผู้บริหาร 200 คัน เป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน

“ด้านลูกค้าเรามีการให้การสนับสนุนการรักษ์โลกเช่นกัน เพราะลูกค้าระดับกลางที่มีรายได้ 500-1,000 ล้านบาท มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศยุโรป และพวกเขาต่างต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ความยั่งยืน ดังนั้นเราก็ต้องปรับตัวเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเรื่องนี้ด้วย”

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ กลยุทธ์การเป็นมากกว่าธนาคารของธนาคารกสิกรไทย เพราะปัจจุบันทางธนาคารยังมีสาขาตามท้องถนนในจังหวัดต่าง ๆ และสาขาเหล่านั้นมีพื้นที่ว่างอยู่ จึงเริ่มมีการติดตั้งสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ของจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเช่นกัน

อ้างอิง // Lombard Odier

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา